กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--โกลบ์เบิล ครีเอชั่น
หลังจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยค่อยๆฟื้นตัวตามไปด้วยอย่างมีเสถียรภาพนับจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้จัดเก็บข้อมูลเชิงลึกจากผู้ประกอบการทั่วประเทศกว่า 2,000 โรงงาน คลอบคลุมทุกสาขาอุตสาหกรรมที่ติดหล่มลึกตั้งแต่ต้นปีมีสัญญาณฟื้นเป็นบวกในไตรมาสสุดท้ายก่อนสิ้นปี ขยายตัว 11.5% (MPI ปี 2552 Q1(-22.0%),Q2(-10.7%),Q3 (-5.5%) และQ4 เริ่มขยายตัว 11.5%) ทำให้หลายฝ่ายมองเห็นถึงทิศทางการขยายตัวที่สดใส ของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นมาเป็นระลอก ยิ่งมั่นใจเข้าไปอีกชั้นหลังจากองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ประเมินออกมาว่าปี 2553 ไทยจะมีอัตราการขยายตัวสูงถึง 4.7% ถือเป็นข่าวดีต้อนรับปีเสือ
มองไปที่การฟื้นตัวของ MPI ยิ่งเห็นถึงศักยภาพและความแข็งแกร่งของประเทศไทยที่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็วกว่าเพื่อนบ้านย่านอาเซียนด้วยกัน เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิคส์ อาหาร สิ่งทอฯ เป็นต้น โดย MPI เดือนมีนาคม 2553 เดือนล่าสุด พบว่า มีการขยายตัวสูงถึง 32.57% กลับมาเป็นบวก 5 เดือนติดต่อกัน (พ.ย-มี.ค. 2553 เพิ่มขึ้น 7.5%,30.7%,29.1%31.1% ตามลำดับ) โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 67.9% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 24 เดือน
จากข่าวดีที่เป็นแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ที่สุดแล้วก็มีเหตุความขัดแย้งทางการเมือง หลังจากที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยฯ (นปช.) ออกมาเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลนับจากต้นเดือนมีนาคม จนต้องมีการออกประกาศพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดินในภาวะฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) จึงส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน จากข่าวดีต้อนรับต้นปี กลับมาเป็นข่าวที่กระทบต่อจิตวิทยาและความเชื่อมั่นอีกครั้ง และยังไม่มีหนทางออกที่แน่ชัดว่าเหตุการณ์จะดำเนินต่อไปในรูปแบบใด
สศอ. จึงได้ทำการประเมินผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจรวมของประเทศและโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม โดยสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างชัดเจนมีอยู่ 3 ด้าน ได้แก่ 1.การท่องเที่ยว 2.การเบิกจ่ายงบของภาครัฐตามโครงการต่างๆ ที่อาจจะมีความล่าช้าเกิดขึ้น และ 3.ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
สำหรับผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมนั้น หากการชุมนุมไม่มีเหตุรุนแรงมาก จนถึงขั้นปิดสนามบินและท่าเรือหรือสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดผลกระทบ หากเกิดในระยะสั้นก็จะส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมไม่มากนัก เพราะขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการส่งออกมากกว่าการจำหน่ายในประเทศ ประกอบกับในภาคการส่งออกกำลังฟื้นตัว
โดยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมเติบโตขึ้นมาก คำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) จากต่างประเทศมีเข้ามาเพิ่มขึ้น บางสินค้าคำสั่งซื้อยาวล่วงหน้าถึงช่วงสิ้นปี 2553 แล้ว ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มดีขึ้น ขณะที่ในระยะต่อไป แม้ว่าตัวเลขอัตราการขยายตัวของการส่งออกอาจชะลอลง เนื่องจากผลของฐานที่ค่อยๆ สูงขึ้นในเดือนถัดๆ ไป แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ทิศทางการส่งออกตลอดทั้งปี 2553 จะมีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยสูงเป็นตัวเลข 2 หลัก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอานิสงส์จากการเปิดตลาดการค้าเสรีที่ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกนี้ น่าจะยังช่วยประคับประคองการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทยในปีนี้ไว้ได้
อย่างไรก็ตามหากการชุมนุมยืดเยื้อและมีเหตุรุนแรงมาก ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ ความขัดแย้งและการชุมนุมไม่เกิน 3 เดือน และ เกินกว่า 3 เดือน
กรณีที่ 1 เหตุการณ์ชุมนุมไม่เกิน 3 เดือน ตั้งสมมติฐานว่าการบริโภคภาคเอกชนลดลง 0.5% หรือเทียบเท่ากับการบริโภคที่ลดลงของประชากรในกรุงเทพฯ จำนวน 6.8 ล้านคน วันละ 50 บาท เป็นเวลา 3 เดือน คิดเป็นมูลค่า 30,600 ล้านบาท จะทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมลดลง 0.4% คิดเป็นมูลค่า 15,000 ล้านบาท และอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก โดยส่งผลต่อยอดการผลิตรวมลดลงเท่ากัน คือ -6.4, และอุตสาหกรรมอาหาร ยอดการผลิตรวมจะลดลง -2.4%
กรณีที่ 2 เหตุการณ์ยืดเยื้อและรุนแรงมากกว่า 3 เดือน จนส่งผลต่อภาวะการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนลดลง 0.9% ส่งผลให้การลงทุนภายในประเทศลดลง 2.8% จะทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมลดลง 0.9 % คิดเป็นมูลค่า 35,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากได้แก่ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปูนซีเมนต์ เป็นต้น โดยส่งผลกระทบต่อยอดผลิตโดยรวม -2.7%, 2.6% และ -1.9% ตามลำดับ
และนี้คือภาพของภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใต้เงาแห่งความขัดแย้ง ซึ่งหลายฝ่ายต่างก็หวังว่าความขัดแย้งจะไม่ยืดเยื้อไปกว่านี้ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจอันเป็นหัวจักรขับเคลื่อนประเทศชาติให้สามารถเคลื่อนขับไปข้างหน้าได้อย่างเต็มที่ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป