กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี (ประเทศไทย) ผู้จำหน่ายสุราชั้นนำของโลก ร่วมให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แจงเห็นด้วยในหลักการและพร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ขอเสนอให้มีการปรับแก้ไขเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้จริงและลดปัญหาแอลกอฮอล์อย่างได้ผล
นายวรเทพ รางชัยกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์คุณภาพชั้นนำระดับมาตรฐานโลก อาทิ จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ เฮนเนสซี สเมอร์นอฟ เบนมอร์ เป็นต้น เปิดเผยว่า วันนี้ (27 เมษายน 2550) คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้เชิญให้บริษัทฯ ในฐานะตัวแทนจากภาคธุรกิจแอลกอฮอล์เข้าร่วมให้ความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. นี้
“บริษัทฯ ขอขอบคุณคณะกรรมาธิการฯ ที่เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจในฐานะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงได้เข้ามาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.นี้ ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ภาครัฐและ ภาคเอกชนจะมีส่วนร่วมกันในการแก้ไขปัญหาแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติ สำหรับบริษัทฯ เห็นด้วยในหลักการของ ร่าง พ.ร.บ. และพร้อมสนับสนุนตลอดจนให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดอันตรายจากการบริโภคแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. นี้ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ลดผลกระทบต่อ เศรษฐกิจและผู้เกี่ยวข้องในวงกว้าง และสามารถแก้ไขปัญหาแอลกอฮอล์ที่สังคมมีความเป็นห่วงได้จริง”
ทั้งนี้ ดิอาจิโอ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทฯ เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจแอลกอฮอล์และมีประสบการณ์ในการร่วมกำหนดนโยบายแอลกอฮอล์ รวมทั้งการดำเนินโครงการกับภาครัฐทั่วโลกเพื่อแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ เช่น ประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป ละตินอเมริกา สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น ปัจจุบัน ดิอาจิโอ มีการดำเนินธุรกิจใน 180 ประเทศใน 5 ทวีปทั่วโลกและมีพนักงานประมาณ 20,000 คน
สำหรับนโยบายแอลกอฮอล์ที่บริษัทฯ เสนอแก่คณะกรรมาธิการฯ นั้น นายวรเทพ กล่าวว่า เป็นนโยบายที่ประสบผลสำเร็จในนานาประเทศทั่วโลกจะต้องเน้น
1. มาตรการป้องกันมิให้เกิดการบริโภคแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชน
2. มาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและอันตรายจากการดื่มอย่างไม่รับผิดชอบ และ
3. มาตรการความร่วมมือจากผู้ประกอบการทุกภาคส่วน และสร้างจริยธรรมของผู้ประกอบการ
โดยมาตรการป้องกันการบริโภคของกลุ่มเยาวชน ประกอบด้วย 1. การกำหนดอายุของผู้ซื้อหรือผู้ดื่มให้ชัดเจน และมีกฎหมายควบคุมที่เข้มงวดในการตรวจสอบบัตรประชาชน 2. การจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามความแรงของดีกรี ซึ่งจะทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีราคาสูงขึ้นเกินกว่าเยาวชนส่วนใหญ่จะสามารถซื้อได้ 3. การควบคุมโฆษณา (เนื้อหา เวลา และสื่อโฆษณา) และ 4. การให้การศึกษาเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ (Alcohol Education)
มาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและอันตรายจากการดื่มอย่างไม่รับผิดชอบ ประกอบด้วย 1. การตรวจวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจของผู้ขับขี่ยานพาหนะ โดยการสุ่มตรวจในปริมาณไม่ต่ำกว่า 11% ของรถทั้งหมด ในช่วงเวลาเสี่ยง (เวลา 22.00 — 02.00 น.) ทุกวัน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ได้ผลในนานาประเทศ 2. การเพิ่มโทษให้ รุนแรงสำหรับผู้เมาแล้วขับ รวมทั้งมีบทลงโทษสำหรับผู้โดยสารในรถด้วย (เมาแล้วขับ จับทั้งคัน) 3. การให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากการดื่มอย่างไม่รับผิดชอบ (Alcohol Education) เช่น ดื่มเท่าไรไม่ควรขับ มีมาตรฐานการดื่ม (Standard Drink) และ 4. การสร้างค่านิยมการดื่มอย่างรับผิดชอบ
มาตรการความร่วมมือจากผู้ประกอบการทุกภาคส่วน และสร้างจริยธรรมของผู้ประกอบการ อาทิ ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ให้บริการ ประกอบด้วย 1. สร้างความรับผิดชอบและจริยธรรมของผู้ประกอบการ เช่น การประมวลจริยธรรม ตั้งคณะทำงานร่วม มีบทลงโทษและสนับสนุน และ 2.ให้ผู้ประกอบการได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลร่วมกับภาครัฐและชุมชน
“ปัญหาคือ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จับแต่เรื่องการตลาดเป็นธงนำ ทำให้ปัญหาเดิมยังอยู่ และเกิดปัญหาใหม่ตามมา ปัญหาเดิมคือคนจำนวนมากของประเทศยังดื่มเหล้าอยู่ ทำให้ปัญหาการดื่มของเยาวชนและการดื่มแล้วขับก็จะไม่ได้รับการแก้ไข ส่วนปัญหาใหม่ ก็มีทั้งสินค้าที่มีคุณภาพจะหายไปและถูกทดแทนด้วยสินค้าไม่มีแบรนด์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรม ภัตตาคาร ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจกระทบหนักทันที กีฬาและดนตรีของไทยขาดงบสนับสนุน กีฬาและดนตรีระดับโลกที่จัดโดยบริษัทแอลกอฮอล์หายไปจากประเทศไทย ธุรกิจ เอสเอ็มอี เช่น สิ่งพิมพ์ ป้าย ของพรีเมี่ยม ได้รับผลกระทบหนัก เม็ดเงินธุรกิจโฆษณาและสื่อหายไปอยู่ใน สื่อต่างประเทศ และที่สำคัญคือเกิดสงครามราคาทันทีส่งผลให้การบริโภคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน เพราะสามารถซื้อได้”
นายวรเทพ กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ ยังได้เสนอให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกบางมาตราในหมวดการควบคุม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ มาตรา 29 และมาตรา 32 เพราะเป็นการกีดกันการค้าเสรีและผิดหลักการ WTO จำกัดเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของผู้บริโภค และจะส่งผลในทางตรงกันข้าม คือทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้นจากการที่สินค้ามีราคาถูกลง เกิดสงครามราคาและการทำการตลาดแบบใต้ดิน เนื่องจากข้อจำกัดในการทำตลาดดังกล่าว
“นอกจากนี้ ในมาตรา 34 ที่กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาชื่อหรือเครื่องหมายของบริษัท ห้างร้าน ผู้ผลิต ผู้นำเข้าหรือผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้านค้า ห้างค้าปลีก ฯลฯ ไม่สามารถโฆษณาสื่อสารชื่อบริษัทของตัวเองได้ เช่น การจัดแถลงข่าว ซึ่งเป็นการจำกัดเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของ ผู้บริโภค ผู้ประกอบการและผู้ถือหุ้น และส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ประกอบอาชีพสุจริตที่ควรมีสิทธิ์ใน การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ธุรกิจภาพรวมขององค์กรแก่สังคมและผู้บริโภค เช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ อีกทั้งควรมีสิทธิ์ในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมและสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมในฐานะพลเมืองที่ดีของสังคมคนหนึ่ง”
สำหรับข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ. ในส่วนของการโฆษณาและการทำการตลาดนั้น นายวรเทพกล่าวว่า บริษัทฯ เสนอให้คงระเบียบข้อบังคับของการโฆษณาในปัจจุบัน ได้แก่
1. โฆษณาจะต้องมีเนื้อหาเป็นการส่งเสริมสังคม การดื่มอย่างรับผิดชอบ
2. การทำการตลาดและสื่อสาร เพื่อสังคมทุกประเภทต้องมีประมวลจริยธรรมและมีคณะกรรมการร่วม ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ สมาคมโฆษณา และผู้ประกอบการ ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิจารณาและอนุมัติในการทำโฆษณารวมทั้งเนื้อหาและรายการ และการจัดทำกิจกรรมการตลาด รวมทั้งจัดทำประมวลจริยธรรมของผู้ประกอบการในทุกภาคส่วน
3. ผู้ประกอบการ ห้างร้าน ผู้ผลิต ผู้นำเข้าและผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรมีสิทธิ์ในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ธุรกิจ ภาพรวมขององค์กร แก่สังคมและผู้บริโภค เช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ
4. ผู้ประกอบการ ห้างร้าน ผู้ผลิต ผู้นำเข้าและผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรมีสิทธิ์ในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมและสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมในฐานะพลเมืองที่ดีของสังคม
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
โสมรสา พงษ์เพิ่มพฤกษ์ สาธิดา / วราพร
โทร 0-2685-6920 โทร 0-2252-9871
อัญญา ยูถะสุนทร
โทร 0-2685-6983