กทม.ประสานผู้เชี่ยวชาญเร่งออกมาตรการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นรูปธรรม

ข่าวทั่วไป Friday January 14, 2005 14:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้(13 ม.ค.48) เวลา 09.45 น. ที่ห้องพิณทอง อาคารฐานเศรษฐกิจ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาแผ่นดินไหวในประเทศไทย เรื่อง “แน่ใจอย่างไร แผ่นดินไหวไม่กระทบอาคารสูงในไทย” ว่า
จากเหตุการณ์ธรณีภิบัติที่เกิดขึ้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ของไทย ทำให้กรุงเทพมหานครในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ควบคุม ดูแล ตรวจสอบในเรื่องของโครงสร้างวิศวกรรมต่างๆ รวมถึงการออกอนุญาตปลูกสร้างอาคารสูงในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ต้องเร่งออกมาตรการในการป้องกันและบรรเทาภัยภิบัติขึ้น ทั้งนี้ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีอาคารสูงประมาณ 3,000 อาคาร ประกอบกับ กทม.ได้รับโอนภารกิจด้านการดูแลอัคคีภัยและภัยพิบัติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยในช่วงเดือน พ.ย.47 ที่ผ่านมา
สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานครได้เชิญเจ้าของอาคารสูงมาร่วมประชุมและร่วมกันหารือ เพื่อวางมาตรการการป้องกันอัคคีภัย การเตรียมการในเรื่องของระบบมาตรฐานต่างๆ เช่น การเตือนภัย ทางหนีไฟ รวมถึงการฝึกซ้อมการอพยพหนีไฟ โดยกทม.ได้กำหนดมาตรฐานต่างๆ ในการป้องกันภัยและได้เข้าไปตรวจสอบและให้ความรู้กับเจ้าของและผู้ประกอบการอาคารเพื่อพร้อมรับสถานการณ์และดำเนินการแก้ไขให้ได้มาตรฐาน
ในขณะนี้กรุงเทพมหานครได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดมาตรฐานในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติขึ้น ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยคณะกรรมการชุดนี้จะแบ่งคณะทำงานย่อยออกเป็นหลายคณะ เพื่อศึกษาหาข้อมูลในแต่ละด้านพร้อมทั้งเชิญผู้ที่มีประสบการณ์เข้ามาช่วยดูแลด้วย เช่น คณะกรรมการ ที่ดูแลเรื่องของแผ่นดินไหว วาตภัย อัคคีภัย อุทกภัยและวินาศภัย โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะเร่งทำงาน และประสานกับ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จำเป็น รวมทั้งเครือข่ายในต่างประเทศ ตลอดจนเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาช่วยดูแลเพื่อศึกษาให้ชัดเจนว่าประเทศไทยหรือกรุงเทพมหานครควรมีระบบเตือนภัยด้านใดบ้าง โดยจะผลักดันให้มีการทำงานที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายระหว่างเมืองใหญ่ทั่วโลกด้วย
ในระยะยาวคณะกรรมการชุดนี้ จะร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องผลักดัน ให้เกิดกฎกระทรวงที่ควบคุมการปลูกสร้างอาคารในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งมีอาคารสูงจำนวนมาก ให้ได้รับการควบคุมด้านโครงสร้างอาคาร นอกเหนือจาก 9 จังหวัดทางภาคเหนือ และจังหวัดกาญจนบุรี ที่ได้มีการควบคุมไปแล้ว โดยระบุให้มีการขออนุญาต และกำหนดโครงสร้างต่างๆ ที่รองรับกรณีเกิดเหตุการณ์สั่นไหว หรือเกิดแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ