กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--สกศ.
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ตระหนักถึงการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในอีก 5 ปีข้างหน้า จึงได้จัดการบรรยาย เรื่อง ทิศทางการพัฒนาการศึกษาไทยกับการก้าวนำประชาคมอาเซียน ตามโครงการฝึกอบรมผู้นำการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยรองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา ได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญโดยกล่าวว่า จากการสำรวจความตระหนักของประชาชนในประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ปรากฏว่า ประชาชนลาวมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนสูงเป็นอันดับ 1 ในขณะที่ประเทศได้ซึ่งเป็นประเทศริเริ่มและมีการลงนามปฏิญญาอาเซียนนั้น กลับมีความตระหนักรู้ในลำดับที่ 8 ดังนั้น จึงต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะการสื่อสารที่จะต้องใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อสร้างคนไทยยุคใหม่ให้มีความรู้ สามารถแข่งขันและอยู่ร่วมกันกับเพื่อนบ้านได้
ด้าน ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(เอแบค) กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยาย เรื่องทิศทางการพัฒนาการศึกษาไทยกับการก้าวนำประชาคมอาเซียน ว่า ในเดือนมกราคมปี 2558 เป็นวันดีเดย์ของการเปิดเสรีทางการค้าในกลุ่มประเทศเอเชีย หลายประเทศมีการตื่นตัวกันมาก อย่างเช่นประเทศกัมพูชา มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษทั่วไป ขนาดเปิดสอนกันตามตึกแถวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในกรุงพนมเปญหรือตามจังหวัดต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องบุคลากร แสดงให้เห็นว่าประเทศกัมพูชาตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องภาษาอังกฤษ และทราบว่าในปี 2558 จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในกลุ่มประเทศเอเชีย
ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ กล่าวต่อว่า หลายปีที่ผ่านมาประเทศสิงคโปร์มีนโยบายชักชวนให้ทุนบุตรหลานของผู้บริหาร อย่างเช่น ประธานหอการค้าจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดมาเรียนที่สิงคโปร์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ตนจึงได้เสนอให้บรรดาสถาบันการศึกษาต่างๆของไทย ดำเนินการในลักษณะนี้บ้าง เช่น ที่จังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด ได้เชิญชวนลูกหลานของผู้บริหารสำคัญๆของกัมพูชาที่มีชายแดนติดต่อกัน มาเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งเด็กเหล่านี้เมื่อทำงานก็จะติดต่อสื่อสารกับประเทศไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น เพราะรู้ภาษาไทยและเข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีไทย
“นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน ยังได้ให้ทุนบุตรหลานของชนกลุ่มน้อยในพม่าหลายร้อยคนมาเรียน จุดประสงค์ก็เพื่อให้คนไทยเข้าใจพม่าอย่างแท้จริง ไม่ใช่รู้เพียงแค่เป็นประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น ” ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา กล่าวและว่า วิธีการให้ทุนการศึกษาแก่ประเทศเพื่อนบ้าน ก่อให้เกิดผลดีหลายประการ และชี้ให้เห็นว่าสถาบันการศึกษาก็สามารถทำเงินเข้าประเทศได้หลายหมื่นล้าน