กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยและผู้ว่าการสำรองของไทยในธนาคารพัฒนาเอเชีย ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 43 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองทาซแคนท์ ประเทศอุซเบกิสถาน ระหว่างวันที่ 1-4 พฤษภาคม 2553 โดยในวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 ได้เข้าร่วมการประชุมต่างๆ ดังมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. ช่วงพิธีเปิดการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพฒฯเอเชีย ครั้งที่ 43 มีนาย Islam Karimov ประธานาธิบดีอุซเบกิสถานให้เกียรติเป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม โดยในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ธนาคารพัฒนาเอเชียได้จัดการประชุมในภูมิภาคเอเชียกลาง โดยเลือกประเทศอุซเบกิสถานเป็นที่จัดการประชุมเนื่องจากอุซเบกิสถานเป็นประเทศที่มีการพัฒนาที่ก้าวหน้าและเติบโตอย่างมีศักยภาพและในโอกาสนี้ นาย Haruhiko Kuroda ประธานธนาคารพัฒนาเอเชียได้กล่าวสุนทรพจน์สรุปว่า เศรษฐกิจโลกจะต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาพลังงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ADB มุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามภารกิจสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน การศีกษา การเงิน สิ่งแวดล้อม และความร่วมมือในภูมิภาคโดยเน้นการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ยากจนและด้อยโอกาสเป็นสำคัญ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบและเสริมสร้างการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต
2. ในช่วงบ่าย ปลัดกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมครั้งแรกระหว่าง ผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชียจาก 12 กลุ่มออกเสียงในธนาคารพัฒนาเอเชีย ทั้งนี้ ประเทศไทยเข้าร่วมในฐาะตัวแทนของกลุ่มออกเสียงของไทย ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไน ดารุสซาลาม เนปาล มาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศไทย สาระสำคัญของการประชุมสรุปได้ว่า เศรษฐกิจของเอเชียได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและฟื้นตัวได้เร็วกว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่น แต่เศรษฐกิจเอเชียยังเผชิญกับความเสี่ยงของการฟื้นตัวเศรษฐกิจในอีกหลายด้าน อาทิ ความยั่งยืนของการเติบโตทางเศรษฐกิจภายหลังจากหลายประเทศถอนนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Exit Strategy) ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย ความไม่สมดุลของการเติบโตระหว่างเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความท้าทายในการลดความยากจนในภูมิภาค ในการนี้ ปลัดกระทรวงการคลังได้กล่าวถึงความท้าทายของเศรษฐกิจโลกในการรักษาความยั่งยืนทางการคลังภายหลังจากประเทศต่างๆ ได้ใช้นโยบายทางการคลังแบบผ่อนคลายเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ และได้เรียกร้องให้ ADB ช่วยสนับสนุนแนวทางในการระดมทุนที่จะช่วยลดภาระการคลัง ให้แก่ประเทศสมาชิก เช่น การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnerships: PPP) เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว
3. ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ปลัดกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 43 โดยได้กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยและ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการกระตุ้นการลงทุนในประเทศเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้าร่วมในการลงทุน นอกจากนี้ได้กล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาคภายใต้ ASEAN และ ASEAN +3 ตลอดจนบทบาทของธนาคารพัฒนาเอเชียในการสนับสนุนการค้าขายและลงทุนระหว่างกันในภูมิภาค (Intraregional Trade and Investment) และเสริมสร้างการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศสมาชิก