กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--โกลบ์เบิล ครีเอชั่น
หลังรูดม่านลาโรงลงของมหกรรมบางกอกมอเตอร์โชว์ 2010 ภายใต้แนวคิดรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยความสำเร็จอย่างถล่มทลาย ยอดจองรถยนต์ใหม่ทะลุเป้าเกือบทุกค่าย แต่ที่สร้างปรากฏการณ์ฮือฮาสนั่นวงการยานยนต์คงหนีไม่พ้นยอดจองรถยนต์นั่งขนาดเล็กในโครงการอีโคคาร์ ของค่ายนิสสันที่เปิดตัว “NISSAN MARCH” ฟันยอดจองทะลุ 10,000 คัน ภายในระยะเวลาพียงเดือนเศษหลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยนิสสันตั้งเป้าการผลิตในปีแรก 90,000 คัน ขายในประเทศ 20,000 คัน อีก 70,000 คัน ส่งออก แต่ด้วยยอดจองจากการเปิดตัวก็มากโขแล้ว ไม่แน่อาจจะมีการปรับแผนการผลิตเพื่อสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค จึงทำให้แบรนด์อื่นๆที่มีแผนเปิดตัวรถยนต์เล็กในโครงการอีโคคาร์ในระยะถัดไปน้ำลายหกไปตามๆ กัน ซึ่งอาจส่งผลต่อการลัดคิวเปิดตัวให้เร็วขึ้น เพราะไม่อยากให้ NISSAN ตีกินไปเพียงเจ้าเดียว ที่ชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็นฮอนด้า ที่มาแน่ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 และจะตามติดด้วยซูซูกิและมิตซูบิชิ แต่สำหรับค่ายใหญ่อย่างโตโยต้ายังไม่ยืนยันว่ามาลุยตลาดเมื่อไร แต่คงไม่ปล่อยให้คู่แข่งทิ้งห่างเป็นแน่ กว่าจะได้มาซึ่งความสำเร็จใช่ว่าเป็นเรื่องง่ายๆ เนื่องจากโครงการอีโคคาร์ก็จะคลอดออกมาได้ก็ตั้งไข่มาหลายรัฐบาล มีการปรับปรุงเพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์มาอย่างไม่ต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่การวางยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ระบุชัดเจนว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะก้าวไกลไปได้อีกต้องมีโปรดักส์แชมป์เปี้ยนตัวใหม่ เพื่อเป็นแรงเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ขยายตัวก้าวไกลยิ่งขึ้นหลังจากที่รถปิ๊คอัพขนาด 1 ตัน ได้กระฉ่อนโลกไปแล้ว ซึ่งคำตอบจึงมาลงตัวที่รถยนต์นั่งขนาดเล็กจิ๋วแต่แจ๋ว เป็นเล็กพริกขี้หนูบนทางเรียบนั่นเอง
กระทรวงอุตสาหกรรม มอบให้ สศอ. เป็นผู้ปั้นโครงการนี้มากับมือ ตั้งแต่ปลายปี 2545 และเป็นผู้ดูแลให้เกิดผลทางปฏิบัติ ความสำเร็จในครั้งนี้อาจจะสามารถนับได้หลายช่วง แต่ที่ชัดเจนที่สุด คือ เมื่อปลายปี 2549 ได้มีการเสนอเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เพื่อขอเปิดให้มีการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (อีโคคาร์) โดยมุ่งเน้นให้เกิดฐานการผลิตรถยนต์ประเภทใหม่ขึ้นในประเทศไทย โดยมีเงื่อนไขสำหรับการส่งเสริมการลงทุนที่สำคัญคือ ต้องมีการผลิตจริง ไม่น้อยกว่า 100,000 คันตั้งแต่ปีที่ 5 หลังจากเปิดไลน์การผลิตเป็นต้นไป และมีความเข้มงวด ในส่วนของสายการผลิตและผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะต้องผ่านความเห็นชอบจาก สศอ. ก่อนผลิตออกมาจำหน่ายให้แก่ประชาชน
ว่าด้วยเรื่องมาตรฐานของรถยนต์ในโครงการอีโคคาร์ ถือว่าเป็นดับเบิลมาตรฐานที่มากยิ่งกว่ามาตรฐานบังคับใช้ในประเทศไทยเสียอีก โดยมาตรฐานบังคับของรถยนต์ในโครงการนี้ที่สำคัญคือ อัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต้องไม่เกิน 5 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร การปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 120 กรัมต่อกิโลเมตร ผ่านมาตรฐานไอเสียระดับ EU4 หรือสูงกว่า และความปลอดภัยไม่น้อยกว่ามาตรฐานบังคับในยุโรป ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์และฐานการผลิตยานยนต์ของไทยไปสู่มิติใหม่ที่ทั่วโลกต่างจับตามองถึงความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ โดยมีปรัชญาที่ว่า “คุณภาพต้องมาก่อนและรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ”
อนาคตรถยนต์อีโคคาร์ กับการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
หลังจากได้เห็น “นิสสันมาร์ช” ได้วิ่งโฉบอวดโฉมความสง่าตามท้องถนนกันแล้ว แม้จะยังไม่มากนักแต่ด้วยยอดจองที่ล้นทะลัก จนต้องทะยอยส่งมอบให้ลูกค้าคงอีกไม่นานจะได้เห็นรถยนต์รุ่นนี้มากขึ้น โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไปคือความคึกคักที่ยากจะปฏิเสธสำหรับตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก โดยผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ของ สศอ. ยืนยันว่าประเทศไทย ณ ขณะนี้กำลังเป็นที่จับตามมองของคู่แข่งทั่วโลก ถึงความสำเร็จของการพัฒนา อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยเฉพาะโครงการอีโคคาร์ ที่จะส่งผลให้ประเทศไทย ก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตอันดับ Top 10 ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกผู้เชี่ยวชาญยังยืนยันอีกว่า การเป็นฐานการผลิตจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นฐานการวิจัยและพัฒนายานยนต์ อันจะทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีมายังประเทศไทย บุคลากรยานยนต์จะถูกยกระดับสู่การเป็นนักวิจัยพัฒนาที่มีคุณภาพ ตลาดงานในอุตสาหกรรมยานยนต์จะเปิดกว้างยิ่งขึ้น และแรงงานในอุตสาหกรรมจะเป็นแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงขึ้น เป็นไปตามทิศทางการแข่งขันในโลกแห่งเทคโนโลยี ซึ่ง ต้องพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน นอกจากนี้แล้วอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ก็จะได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาในครั้งนี้ด้วย โดยผู้ประกอบการในประเทศเหล่านี้ จะมีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น ได้ฐานลูกค้าที่มั่นคงยิ่งขึ้น และจะมีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่หลากหลายสนองตอบความต้องการของกลุ่มลูกค้าจากทุกค่าย ขณะเดียวกันมิติใหม่ในการพัฒนาจะช่วยให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างทรงพลัง โดยเฉพาะมูลค่าที่ได้จากการส่งออกยานยนต์จากปีละหลายแสนล้านในปัจจุบัน จะขยับเข้าสู่ระดับล้านล้านบาท ซึ่งมูลค่าเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมจะเป็นเครื่องชี้วัดการขยายตัวของเศรษฐกิจภาพรวมได้เป็นอย่างดี เมื่อยานยนต์แข็งแกร่งก็เกิดการจ้างงานจำนวนมาก ทำให้คนมีรายได้และพร้อมจะจับจ่ายใช้สอย เป็นเงินอัดฉีดหมุนเวียนมาสู่ระบบที่ไหลอย่างต่อเนื่อง
แม้จะเป็นเพียงก้าวแรกๆ ของโครงการอีโคคาร์ หลังจากปลุกปั้นและผลักดันมาอย่างยาวนาน แต่ด้วยความมุ่งมั่นของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จึงทำให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ไปได้อย่างราบรื่น นั่นคือความภาคภูมิใจของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนั่นเอง...