Welcome Back ชีวิตสดใส...หลังไร้ควันบุหรี่

ข่าวทั่วไป Wednesday May 23, 2007 15:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
“ไร้ควันบุหรี่ สิ่งแวดล้อมดี ชีวีสดใส” (100% Smoke-Free Environments: Create and Enjoy) เป็นคำขวัญประจำปี พ.ศ. 2550 จากองค์การอนามัยโลก ที่จะใช้รณรงค์ทั่วโลกในวันที่ 31 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day)
ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้สูบบุหรี่ประมาณ 1,100 ล้านคน โดยร้อยละ 50 ของผู้สูบบุหรี่อยู่ในประเทศแถบเอเชีย องค์การอนามัยโลกได้คาดการณ์ว่า ในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ 5 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคน ในอีก 20 ปีข้างหน้า
นายวรยุทธ วัชโรทยางกูร ผู้จัดการทั่วไป (ประเทศไทย และอินโดจีน) แผนกลิสเตอรีนและโอทีซี บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน คอนซูเมอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันสถิติเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ในประเทศไทย ระบุว่า ในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ ประมาณปีละ 50,000 คน หรือคิดเป็นชั่วโมงละ 6 คน โดยช่วงอายุที่มีอัตราสูบบุหรี่สูงสุดคือช่วงอายุ 25-34 ปี คิดเป็นร้อยละ 30 ของผู้สูบบุหรี่ทั้งหมด
“บริษัทฯ ยังได้ทำการสำรวจความเห็นของผู้สูบบุหรี่เฉพาะในเขตเมืองทั่วประเทศไทย พบว่า กว่า 60% ของผู้สูบบุหรี่รู้สึกกังวลกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ และมีความต้องการเลิกสูบบุหรี่ คิดเป็นจำนวน 1.7 ล้านคน และพบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ล้มเหลวในการเลิกบุหรี่ในระหว่างทาง เห็นได้จากสถิติการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ในช่วงที่ผ่านมา คนไทยมีแนวโน้มสูบบุหรี่ลดลงเพียงเล็กน้อย คือในปี พ.ศ. 2544 มีจำนวนผู้สูบบุหรี่ 10 ล้านคน และลดลงเหลือ 9.6 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2547 หรือมีอัตราการบริโภคบุหรี่ลดลงเพียงแค่ 4% เท่านั้น”
นายวรยุทธ กล่าวต่อว่า “บริษัทฯ จึงได้จัดสรรงบประมาณ ในการดำเนินโครงการ “Welcome Back กลับสู่ชีวิตไร้ควัน” ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการในช่วงแรกตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 — เมษายน พ.ศ. 2550 โดยมุ่งเน้นให้บุคคลในครอบครัวหรือคนรอบข้างของผู้สูบบุหรี่เป็นแรงจูงใจในการเลิกสูบบุหรี่ โดยเฉพาะเด็กๆ ในครอบครัวที่จะเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญในการผลักดันให้เลิกสูบบุหรี่ และจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการให้ความรู้และปลูกฝังให้กลุ่มเป้าหมายได้รับรู้ถึงอันตรายและพิษภัยของการสูบบุหรี่ พร้อมแนบคู่มือในการเลิกบุหรี่ ซึ่งนำเสนอทางเลือกในการเลิกสูบบุหรี่ด้วยเวชภัณฑ์นิโคตินทดแทนเพื่อการอดบุหรี่ หรือ เอ็นอาร์ที (NRT: Nicotine Replacement Therapy) เราจึงมุ่งหวังให้โครงการ Welcome Back กลับสู่ชีวิตไร้ควัน เป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นแรงกระตุ้นและเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ ให้เห็นประโยชน์ที่แท้จริงจากการเลิกสูบบุหรี่ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิตทั้งจากของตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้าง”
ทำไมการเลิกสูบบุหรี่จึงเป็นเรื่องยาก?
นายอุดม ไวนฤนาท ผู้จัดการผลิตภัณฑ์อาวุโส แผนกลิสเตอรีนและโอทีซี บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน คอนซูเมอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากผลวิจัยภายในประเทศระบุว่า คนในครอบครัว หรือคนที่คุณรักเป็นแรงจูงใจอันดับแรกในการเลิกบุหรี่ของคนไทย โดยปัจจัยสำคัญที่สุดในการเลิกบุหรี่ คือ ความตั้งใจจริงของผู้สูบบุหรี่ เพราะโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้สูบบุหรี่แต่ละคน ต้องใช้ความพยายามประมาณ 6 - 8 ครั้ง จึงจะเลิกได้ และยังพบว่า มีจำนวนไม่น้อยที่ล้มเหลวในการเลิกบุหรี่ในระหว่างทางและหันมาสูบใหม่
“การสูบบุหรี่เป็นพฤติกรรมความเคยชินอย่างหนึ่ง ถ้าสูบบุหรี่วันละหนึ่งซอง คนที่สูบต้องมีการเคลื่อนไหวระหว่างมือกับปาก 10 ครั้งต่อบุหรี่ 1 มวน หรือคิดเป็น 70,000 ครั้งต่อปี เมื่อขาดบุหรี่ คนที่สูบจะรู้สึกว่าปากและมือว่าง นอกจากนี้ คนที่ต้องการเลิกบุหรี่ ยังต้องทนทรมานจากอาการถอนยา เพราะนิโคตินที่มีอยู่ในบุหรี่เป็นตัวการทำให้คนติดบุหรี่ เมื่อไม่ได้รับนิโคติน คนที่สูบบุหรี่ก็จะเครียด หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ เป็นอาการถอนยาในอันดับต้นๆ ที่ทำให้ความตั้งใจในการเลิกบุหรี่ล้มเหลว”
“การจะเลิกบุหรี่ให้ได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความตั้งใจและความมุ่งมั่นของคนที่ต้องการที่จะเลิกสูบบุหรี่ บวกกับกำลังใจจากคนในครอบครัว คนรอบข้าง ปัจจุบันมีทางเลือกเพื่อช่วยในการอดบุหรี่ นั่นก็คือ การใช้เวชภัณฑ์นิโคตินทดแทนเพื่อการอดบุหรี่ หรือ เอ็นอาร์ที (NRT: Nicotine Replacement Therapy) โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้การรับรองการใช้เวชภัณฑ์นิโคตินทดแทน เป็นทางเลือกของคนที่ไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ด้วยตัวเอง”
เวชภัณฑ์นิโคตินทดแทนเพื่อการอดบุหรี่ - ทางเลือกใหม่ในการเลิกบุหรี่
การใช้เวชภัณฑ์นิโคตินทดแทนเพื่อการอดบุหรี่ หรือ เอ็นอาร์ที ซึ่งเป็นวิธีการให้นิโคตินในปริมาณต่ำและเป็นไปอย่างช้าๆ เพียงพอที่จะบรรเทาความอยากบุหรี่และระงับอาการถอนยา โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้การรับรองการใช้เวชภัณฑ์นิโคตินทดแทนเพื่อการอดบุหรี่ เป็นหนึ่งในทางเลือกของผู้ที่ต้องการจะเลิกบุหรี่ และพบว่ามีประสิทธิภาพในการช่วยให้เลิกบุหรี่ได้สูงเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับการเลิกแบบธรรมดา โดยไม่ต้องทรมานหรือมีอาการหงุดหงิดเมื่ออยากบุหรี่
นายอุดม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “รูปแบบหนึ่งของเวชภัณฑ์นิโคตินทดแทนเพื่อการอดบุหรี่ คือ หมากฝรั่งช่วยอดบุหรี่ (Nicotine Chewing Gum) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ถูกพัฒนาขึ้น และมีความใกล้เคียงกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ โดยมีตัวยาหลักเป็นสารนิโคตินในปริมาณต่ำ โดยใช้วิธีการเคี้ยว และค่อยๆ ปล่อยนิโคตินอย่างช้าๆ ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับระงับอาการถอนยา และดูดซึมผ่านเยื่อบุกระพุ้งแก้มอย่างช้าๆ ช่วยทำให้ผู้สูบบุหรี่ไม่ต้องทรมานจากอาการถอนยา และเนื่องจากนิโคตินที่ใช้มีปริมาณต่ำ และใช้ในระยะเวลาสั้นๆ จึงปลอดภัยต่อร่างกายและผลทางอารมณ์ของผู้บริโภค จากการศึกษาวิจัย พบว่า หมากฝรั่งช่วยอดบุหรี่ มีประสิทธิภาพในการช่วยให้เลิกบุหรี่ได้สูงเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับการเลิกบุหรี่ด้วยวิธีหักดิบ และมีความปลอดภัย เพราะไม่มีส่วนประกอบน้ำมันดิน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และสารก่อความระคายเคือง ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย”
ชีวิตสดใส...หลังไร้ควันบุหรี่
จากการวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่สูบบุหรี่ จะเลิกได้ยากกว่าผู้ชายถึง 4 เท่า สาเหตุสำคัญเนื่องจากผู้หญิงมักจะกังวลกับน้ำหนักตัวที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากหยุดสูบบุหรี่ และผู้หญิงมักจะใช้บุหรี่เป็นตัวช่วยคลายเครียดและแก้ปัญหามากกว่าผู้ชายด้วย
นางภัทรชรนันท์ บุญเติม หรือ นก พนักงานบริษัทเอกชน ที่เข้าร่วมกิจกรรมประกวดภาพถ่ายในหัวข้อ “ชีวิตสดใส...หลังไร้ควันบุหรี่” ซึ่งเป็นกิจกรรมสานต่อของโครงการ “Welcome Back กลับสู่ชีวิตไร้ควัน” เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอ “เสพติดบุหรี่”
“เริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 18 ปี แต่สูบเป็นครั้งคราวเมื่ออยู่กับกลุ่มเพื่อน แต่พอเริ่มทำงาน ปริมาณการสูบก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเครียด พอมารู้จักกับสามียิ่งไปกันใหญ่ เพราะสามีก็สูบบุหรี่ ตอนนั้นไม่มีใครห้ามใครเลย และถึงแม้ว่าที่ออฟฟิศจะประกาศเป็นออฟฟิศปลอดบุหรี่ แต่เราก็อดไม่ได้ที่สูบ ที่ทำงานมีเพื่อนไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้ว่าเราสูบ หลายคนที่รู้ยังไม่เชื่อเลยว่าเราติดบุหรี่ อายเหมือนกันนะ เพราะสังคมไทยยังไม่ยอมรับและมีความรู้สึกด้านลบกับผู้หญิงที่สูบบุหรี่ ติดบุหรี่มากโดยเฉพาะหลังมื้อกลางวันหรือเวลาเครียดต้องแอบออกไปสูบในห้องน้ำ แล้วก็แปรงฟัน ฉีดน้ำหอม ทุกครั้งหลังจากสูบบุหรี่เสร็จ เพราะเวลาเราสูบ ทำให้มีกลิ่นติดตัวที่ลมหายใจ ผม เสื้อผ้า”
เธอเว้นระยะไม่สูบบุหรี่เมื่อตั้งท้องลูกชาย แต่พอคลอดลูกแล้วก็กลับมาสูบอีก เพราะไม่สามารถทนกับภาวะความเครียดทั้งจากการทำงาน การเลี้ยงลูก “บุหรี่” จึงกลายเป็นตัวช่วยสำคัญให้เธอได้รู้สึก “โล่ง” หลุดพ้นกับเรื่องราวหนักๆ เหล่านั้นได้สักระยะหนึ่ง จนกระทั่งวันที่เธอได้รับโปสการ์ดฉบับหนึ่ง
“เราได้รับโปสการ์ดที่ส่งมาจากโครงการ Welcome Back กลับสู่ชีวิตไร้ควัน ซึ่งคนเขียนส่งมาก็คือลูกชายของเรา น้องเขาเขียนข้อความเป็นลายมือว่า อยากให้ป๊ากับมาม้าเลิกสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ทำให้ป๊ากับมาม้าตายเร็ว คำว่า “ตายเร็ว” ทำให้เราสะอึก ประกอบกับช่วงนั้นพ่อของเพื่อนรุ่นพี่ ไม่สบายอย่างหนัก เป็นผลกระทบที่เกิดจากการสูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี ทำให้เราเริ่มคิด เพราะตลอดเวลาที่เราสูบ น้องเขาไม่เคยขอให้เลิก แต่เวลาที่ไปกอดเขา เขาก็จะบอกว่าตัวเหม็น ไม่อยากให้มาจับหรือกอดเขา โปสการ์ดใบนั้นกลายเป็นแรงจูงใจสำคัญให้เราสองคนอยากเลิกสูบบุหรี่อย่างจริงจัง เพราะเราสอนลูกว่าบุหรี่ไม่ดี เราไม่อยากให้ลูกสูบเวลาโต แต่เราก็ยังสูบเป็นสิบๆ เพื่อนเขาก็แนะนะหมากฝรั่งอดบุหรี่มาให้เคี้ยวทุกครั้งที่อยากสูบบุหรี่ แรกๆ ที่เริ่มต้นเลิก ยอมรับว่าทรมานมาก หมากฝรั่งอดบุหรี่มีส่วนช่วยลดอาการหงุดหงิด ช่วยให้ปากไม่ว่าง ตลอดเวลาต้องตั้งสติและบอกกับตัวเองว่า ต้องทำให้ได้เพื่อลูก พ่อแม่หรือเพื่อนก็ให้กำลังใจให้ตลอด ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 2 เดือนกว่าๆ ก็เลิกได้สำเร็จ วันที่ทำได้ ก็เดินตรงไปบอกลูกว่า มาม้าเลิกสูบบุหรี่แล้ว ลูกชายดีใจมาก บอกว่ารักเรามาก ตอนนี้เลิกบุหรี่มาได้เกือบ 7 เดือนแล้ว”
“ช่วงแรกที่เริ่มเลิกบุหรี่ มีเจอกับปัญหาหงุดหงิดบ้าง ซึ่งนอกจากจะใช้การเคี้ยวหมากฝรั่งอดบุหรี่เข้าช่วยแล้ว ก็จะมีเคล็ดลับว่า จะดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำหวาน เพื่อช่วยผ่อนคลาย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5-6 กิโลกรัม แต่ก็ออกกำลังกายมากขึ้น คนที่รู้จักก็ทักกันว่าหน้าตาสดใสขึ้น ตอนนี้พอเลิกได้แล้ว เวลาเจอใครที่สูบบุหรี่จะรู้สึกว่ามันเหม็นมาก ลูกก็จะบอกว่าตอนนี้มาม้ากอดเขาได้ตลอดนะ เพราะตัวไม่เหม็นแล้ว” เธอเล่าให้ฟังถึงความสุขที่ได้รับ
นายชัยวัฒน์ เรืองวาณิชยกุล ผู้อำนวยการ โรงเรียนทุ่งเสลี่ยงธนอุปถัมภ์ สูบบุหรี่มานานกว่า 40 ปี โดยเริ่มลองสูบตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 2 หลังจากปริมาณการสูบในแต่ละวันก็เริ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงสูบหนักวันละ 2 ซอง และหนักขนาดที่ว่ามวนหนึ่งยังไม่ทันหมด เขาก็เริ่มต้นจุดไฟอีกมวนเตรียมไว้ ทั้งภรรยาและลูกสาว ขอให้เลิกอยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถเลิกได้
“ผมรับปากกับลูกๆ ไว้หลายครั้ง อย่างเช่น รับปากไว้ว่าถ้าลูกสอบได้คะแนนดี ถ้าลูกเอ็นทรานซ์ติด สอบแพทย์ได้ พ่อจะเลิกสูบบุหรี่ ลูกๆ เขาทำได้ตามที่สัญญากับเราไว้ทั้งหมด แต่ผมกลับผิดสัญญาทุกครั้ง ไม่สามารถเลิกได้ซะที จนสุขภาพเริ่มแย่ ปอดเริ่มมีปัญหา ป่วยหนักจนต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ผมก็มานั่งคิดว่า ผมทำงานในระดับหัวหน้า อยู่ในสถาบันการศึกษาที่มีการรณรงค์ไม่ให้สูบบุหรี่ มีทั้งลูกน้องผมและเด็กนักเรียนที่มองดูผมเป็นตัวอย่าง เหมือนผมเป็นคนสั่งให้ทำเรื่องรณรงค์ไม่ให้สูบบุหรี่ แต่ตัวผมกลับทำไม่ได้ซะเอง แล้วอย่างนี้ผมจะกล้าพูดกับพวกเขาเต็มปากเต็มคำได้อย่างไร แถมลูกๆ ผมก็มีหน้าที่การงานที่ดี ทำได้ตามสัญญาที่เขาให้ไว้กับผม ผมก็เลยเริ่มต้นจริงจังที่จะเลิกบุหรี่ แต่คราวนี้ผมไม่ได้ใช้วิธีหักดิบเหมือนทุกครั้ง ผมเริ่มศึกษาและหาตัวช่วย เพราะผมเข็ดจากการหักดิบ ลูกเขยที่เปิดร้านขายยา เขาก็แนะนำให้ใช้หมากฝรั่งช่วยอดบุหรี่ ผมมองว่าหมากฝรั่งช่วยอดบุหรี่เป็นตัวช่วยสำคัญ ช่วยให้ลดอาการหงุดหงิดได้อย่างมาก ทุกครั้งที่นึกอยากหยิบบุหรี่ ผมจะหยิบหมากฝรั่งมาเคี้ยว เพราะช่วยทำให้เราอยากบุหรี่น้อยลงไปเรื่อยๆ พร้อมตั้งมั่นว่าต้องทำให้ได้ ตอนนี้ผมเลิกบุหรี่มาได้ปีกว่า”
เขาบอกว่า สิ่งสำคัญในการเลิกบุหรี่ คือ ต้องใช้ “ใจ” อย่างมาก ต้องตัดใจ ไม่ใจอ่อน อย่าคิดว่า ไม่สูบมาได้ตั้งหลายวัน ขออีกสักมวนแล้วกัน เพราะแค่เริ่มกลับไปสูบเพียงครั้งเดียว ก็มีโอกาสสูงที่จะกลับไปสูบอย่างต่อเนื่อง
“ผมมีความสุขมากขึ้น เพราะสุขภาพร่างกายก็แข็งแรง ต้องขอบคุณภรรยาและลูกสาวที่ไม่เคยทวงถามสัญญาและกดดันผม แต่กลับเป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำในสิ่งที่ไม่คิดว่าจะทำได้สำเร็จ และที่สำคัญผมจะเป็นตัวอย่างและประสบการณ์ที่ดีสำหรับลูกน้องและเด็กนักเรียนที่มองดูผมเป็นแบบอย่าง”
ทางด้านคุณธนาบุญ ขนารัตน์โสภณ ก็ได้ “คุณกิ๊ฟท์” ภรรยา เป็นแรงบันดาลใจและกำลังใจสำคัญในการเลิกสูบบุหรี่ ทั้งคู่เป็นหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน และต่างก็อยากจะมีลูกเพื่อเติมเต็มชีวิตคู่ให้สมบูรณ์ แต่ด้วยเงื่อนไขที่คุณบอยยังสูบบุหรี่ จึงทำให้คุณกิ๊ฟท์กังวลถ้าลูกจะเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่มีแต่กลิ่นควันบุหรี่
คุณบอย เล่าให้ฟังว่า เขาเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา สูบมาประมาณ 12 ปีแล้ว เขาชื่นชอบกีฬากอล์ฟเป็นอย่างมาก และมักจะสูบบุหรี่เป็นประจำเวลาเล่นกอล์ฟ สูบหนักขนาดวันละ 3 ซอง เคยพยายามเลิกบุหรี่เมื่อ 3 ปีก่อน แต่ไม่สำเร็จ
“ผมเคยพยายามเลิกแต่ไม่สำเร็จ หลายๆ ครั้งที่ร่างกายผมได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ ผมมักจะมีเสลดอยู่ในลำคอ เสียงแหบแห้งในตอนเช้า เวลาอาบน้ำเย็นก็มักจะหายใจไม่สะดวก เคยหนักถึงขนาดไอออกมาเป็นเลือด แต่ผมก็ห้ามใจตัวเองไม่ได้ จนผมวางแผนจะแต่งงาน แฟนผมก็ขอไว้ เขาบอกว่าผมว่า ถ้าผมไม่เลิกสูบบุหรี่ เขาก็ยังไม่อยากจะมีลูก เพราะไม่อยากให้ลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยควันและกลิ่นบุหรี่ ผมก็เริ่มต้นคิดจะหยุดอย่างจริงจัง เพราะแต่งงานแล้วก็อยากใช้ชีวิตมีความสุขแบบพ่อแม่ลูก ผมก็คุยกับแฟนว่าอยากเลิกจริงจัง แฟนผมเขาก็หาวิธีการเลิกมาให้ทดลองหลายวิธี สุดท้ายมาลงเอยที่หมากฝรั่งช่วยอดบุหรี่ ซึ่งมันช่วยลดอาการหงุดหงิดจากการอยากสูบได้ดีมาก เพราะในหมากฝรั่งช่วยอดบุหรี่ยังมีสารนิโคตินอยู่บ้าง ทำให้ร่างกายไม่รู้สึกว่าขาดมันไปทันที จึงช่วยค่อยๆ ลดอาการอยากได้ดีมาก”
คุณบอย เล่าต่อว่า จิตใจที่เข้มแข็งและกำลังใจจากคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เขาเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ ภรรยาของเขาไม่เคยกดดันให้เขารู้สึกอึดอัด แต่กลับเป็นกำลังใจให้ตลอด พอหยุดได้หนึ่งวัน ก็คอยให้กำลังใจตลอดว่าเห็นไหมว่าทำได้ จึงทำให้เขามีกำลังใจที่จะอดต่อไปอีกหนึ่งวัน และอดได้ในวันต่อๆ ไป จนเลิกได้ในที่สุด
“ผมเลิกสูบบุหรี่มาได้ประมาณ 7 เดือน สิ่งสำคัญที่สุดคือกำลังใจ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง ถ้าคิดจะเลิกบุหรี่ ต้องใจแข็งตัดให้ได้ อย่าคิดว่าจะค่อยๆ ลด หรือยังไปอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่สูบ เพราะทำให้ตัวเราทนไม่ได้ อดไม่ได้ที่จะสูบสักมวนสองมวน แล้วก็คิดหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองว่าคงไม่เป็นไร เพราะนั่นจะทำให้เรากลับมาสูบมันอีก”
“สิ่งที่สร้างความสดใสให้กับชีวิตหลังไร้ควันบุหรี่ของผม คือ ผมไม่มีอารมณ์หงุดหงิด งุ่นง่าน สุขภาพดีขึ้นมากโดยเฉพาะระบบการหายใจ ไม่เหนื่อยง่าย รับรู้รสชาติที่อร่อยๆ ของอาหารได้เต็มที่ เพราะย้อนกลับไปตอนที่ผมสูบบุหรี่ ผมมักจะกระวนกระวาย คอยควานหามันตลอดเวลา บุหรี่ที่ผมสูบเข้าไปยังทำให้ลิ้นผมไม่รู้สึกอร่อยกับอาหารที่ทาน และผมก็เพิ่งรู้หลังจากเลิกสูบบุหรี่แล้วว่า บุหรี่มันมีกลิ่นเหม็นมาก”
แล้วคุณล่ะ...ได้เวลากลับสู่ชีวิตสดใส ไร้ควันบุหรี่ หรือยัง?
รูปภาพ:
ภัทรชรนันท์ บุญเติม กับลูกชายน้องโฟลค และครอบครัว ที่เป็นแรงจูงใจสำคัญให้เธอเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ
นายชัยวัฒน์ เรืองวาณิชยกุล ผู้อำนวยการ โรงเรียนทุ่งเสลี่ยงธนอุปถัมภ์ สูบบุหรี่มานานกว่า 40 ปี เขาบอกว่า สิ่งสำคัญในการเลิกบุหรี่ คือ ต้องใช้ “ใจ” อย่างมาก ต้องตัดใจ ไม่ใจอ่อน อย่าคิดว่า ไม่สูบมาได้ตั้งหลายวัน ขออีกสักมวนแล้วกัน เพราะแค่เริ่มกลับไปสูบเพียงครั้งเดียว ก็มีโอกาสสูงที่จะกลับไปสูบอย่างต่อเนื่อง
คุณธนาบุญ ขนารัตน์โสภณ หรือคุณบอย มี “คุณกิ๊ฟท์” ภรรยา เป็นแรงบันดาลใจและกำลังใจสำคัญในการเลิกสูบบุหรี่ ทั้งคู่เป็นหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน และต่างก็อยากจะมีลูกเพื่อเติมเต็มชีวิตคู่ให้สมบูรณ์ คุณบอยจึงคิดเลิกสูบบุหรี่จริงจัง โดยใช้ตัวช่วยเป็นหมากฝรั่งช่วยอดบุหรี่
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
พรรณราย ทวีโชติกิจเจริญ (อ๋า) โทร. 0-2204-8212 หรือ 081-735-7799
สุเมธ กาญจนพันธุ์ (เดียร์) โทร. 0-2204-8229 หรือ 086-604-9594
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ