กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--มหาวิทยาลัยรังสิต
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต และอาจารย์วรรณกิตติ์ วรรณศิลป์ นักวิจัยอาวุโส เปิดเผยถึงผลการสำรวจความคิดเห็นภายใต้หัวข้อ “สถานการณ์แรงงานไทย และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ”
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตได้ออกแบบสอบถามไปยังกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้แรงงานหลากหลายอาชีพ และสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวน 809 คน ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และได้รับคำตอบสรุปได้ดังนี้ (เสนอคำตอบที่ได้คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรก รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้จากเอกสารประกอบ)
จากการสำรวจพบว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ไตรภาคีกำหนดนั้น ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพและเห็นว่าควรปรับเพิ่มอย่างน้อย 5 — 20 บาท (40% ของผู้ตอบแบบสอบถาม)
ผู้ใช้แรงงานเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลมากที่สุด (37%) รองลงมาคือการประกันการว่างงาน (25%)
ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ (43% ของผู้ตอบแบบสอบถาม) ยอมรับได้กับจำนวนเงินที่พวกเขาจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคม แต่มองว่านายจ้างไม่เคารพสิทธิลูกจ้างเป็นปัญหาใหญ่ในที่ทำงาน (39%)
และเห็นว่าสหภาพแรงงานควรเพิ่มบทบาทในทางการเมืองและในฐานะที่พึ่งของผู้ใช้แรงงาน (28%)
ผู้ใช้แรงงานอยากเห็นบ้านเมืองสงบไม่แตกแยก (38%) และต้องการให้เศรษฐกิจดีขึ้น (30%) สำหรับบทบาทของสหภาพแรงงานในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมนั้น 40% ต้องการให้ใช้วิธียื่นข้อเสนอเรียกร้อง 26% ต้องการจัดตั้งพรรคการเมืองของผู้ใช้แรงงานขึ้น
อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต เห็นว่าปัญหาการว่างงานและปัญหาข้อพิพาทแรงงานจะปะทุขึ้นมาอีกครั้งหลังจากที่เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีจะชะลอตัวและมีแนวโน้มที่วิกฤตการณ์การเมืองยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อการลงทุน การท่องเที่ยว การผลิตและการจ้างงาน รัฐบาลควรนำระบบรัฐสวัสดิการ มาทดแทน นโยบายประชานิยม ซึ่งจำเป็นต้องมีการปฏิรูปภาคการคลังและระบบสวัสดิการสังคมใหม่ โดยที่ภารกิจดังกล่าวต้องอาศัยรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและเข้มแข็ง
1. คำถาม ค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนดเพียงพอแก่การครองชีพของผู้ใช้แรงงานหรือไม่
54 % ตอบว่า น้อยมาก ไม่เพียงพอ
19 % ตอบว่า เพียงพอ
2. คำถาม ค่าแรงขั้นต่ำควรปรับเพิ่มเท่าไร
40 % ตอบว่า 5- 20 บาท
29 % ตอบว่า 20- 40 บาท
3. คำถาม ประกันสังคมประเภทใดมีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขด่วนที่สุด
37 % ตอบว่า การรักษาพยาบาล
25 % ตอบว่า การประกันการว่างงาน
4. คำถาม จำนวนเงินที่ท่านจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมมากหรือน้อยไป
43 % ตอบว่า พอดีแล้ว
25 % ตอบว่า น้อยไป
5. คำถาม ปัญหาในที่ทำงานที่ควรได้รับการแก้ไขเร่งด่วนที่สุด
39 % ตอบว่า ปัญหานายจ้างไม่เคารพสิทธิของผู้ใช้แรงงาน
32 % ตอบว่า ปัญหาความไม่ปลอดภัยในที่ทำงาน
6. คำถาม หน่วยงานใดที่เป็นที่พึ่งของผู้ใช้แรงงานที่ดีที่สุด
28 % ตอบว่า สหภาพแรงงาน
23 % ตอบว่า กระทรวงแรงงาน
7. คำถาม สหภาพแรงงานควรมีบทบาททางการเมืองมากน้อยเพียงใด
51 % ตอบว่า ควรเพิ่มบทบาทมากขึ้น
15 % ตอบว่า มีส่วนร่วมดีอยู่แล้ว
8. คำถาม สหภาพแรงงานควรมีบทบาทในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในลักษณะใด
40 % ตอบว่า ยื่นข้อเรียกร้อง
26 % ตอบว่า จัดตั้งพรรคการเมือง
9. คำถาม เนื่องในวันแรงงาน 1 พฤษภาคม ท่านต้องการสิ่งใดสำหรับประเทศไทย
38 % ตอบว่า บ้านเมืองสงบไม่แตกแยก
30 % ตอบว่า เศรษฐกิจดีขึ้น