เปิดตัว “เวนเทค” สุดยอดนวัตกรรมไทยเพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร ผลงานชิ้นเอกของ iTAP มจธ. และบี. อินเตอร์ฯ

ข่าวเทคโนโลยี Thursday August 23, 2007 10:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) จับมือม.เทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี และบี.อินเตอร์ฯ อวดผลงานชิ้นโบว์แดง “เวนเทค” อุปกรณ์ควบคุมสภาวะอากาศภายในโรงเรือนระบบปิด นวัตกรรมฝีมือคนไทย คุณภาพมาตรฐานสากล ตั้งเป้าช่วยลดต้นทุนปศุสัตว์ไทย ลั่นพร้อมส่งออกจำหน่ายต่างประเทศปีหน้า
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) กล่าวถึงภาพรวมของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ว่า “โครงการนี้เป็นความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน ที่ต้องการเห็นการเติบโตอย่างมั่นคงและมีคุณภาพของวงการอุตสาหกรรมเกษตรไทย และลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพราะเรามีความเชื่อมั่นว่านักวิจัยไทยมีศักยภาพ เข้าใจโครงสร้างและสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมเกษตรของไทยเป็นอย่างดี ทำให้สามารถวิจัยและพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีคุณภาพทัดเทียมกับสินค้านำเข้าและพร้อมตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมไทยได้ดี ทั้งนี้ iTAP ได้ให้การสนับสนุนด้านการเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงเงินทุนเพื่อการทำวิจัยครั้งนี้ เพราะเราทราบดีว่างานวิจัยดีๆ ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านรวมถึงงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอ เพื่อให้งานวิจัยนั้นๆ สามารถพัฒนาจนมาใช้งานจริงได้”
“เวนเทค คืออุปกรณ์ควบคุมสภาวะอากาศภายในโรงเรือนระบบปิด นวัตกรรมนี้เป็นผลงานชิ้นแรกที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง 3 องค์กร นั่นคือโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนในด้านเงินทุนวิจัยและเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ และบริษัท บี. อินเตอร์เนชั่นแนล แอนด์ เทคโนโลยี่ จำกัด ในเครือเบทาโกร ที่รับผิดชอบผลิตสินค้าและให้บริการหลังการขาย ทั้งนี้ เราได้ดำเนินโครงการนี้มาประมาณ 2 ปี และมีการวิจัยพัฒนานวัตกรรมหลากหลายประเภท สำหรับวงการเกษตรอุตสาหกรรม และเวนเทคก็ถือเป็นหนึ่งในผลงานวิจัยสำคัญของโครงการ และสร้างความภาคภูมิใจให้แก่เราเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นเครื่องควบคุมสภาวะอากาศตัวแรกที่ผลิตโดยคนไทย ทั้งนี้ ปัจจุบันภาคเกษตรอุตสาหกรรมจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าประเภทนี้จากต่างประเทศเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านบาท ดังนั้น ผลงานครั้งนี้จึงส่งผลดีต่อการพัฒนาวงการปศุสัตว์ไทย ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ผลิตในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า ช่วยลดต้นทุนในการผลิตปศุสัตว์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก” ศ.ดร.ชัชนาถ กล่าวเสริม
รศ.ดร.วนิดา พวกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์เวนเทคว่า “มหาวิทยาลัยของเราให้ความสำคัญกับการดำเนินการวิจัยในเทคโนโลยีขั้นสูง และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจไปสู่ภาคเอกชน ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยได้มีส่วนร่วมคิดค้นและแสดงผลงาน ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยได้ไปเยี่ยมชมโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ของเครือเบทาโกร เพื่อศึกษาหาข้อมูลสำหรับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่ตอบสนองความต้องการของวงการปศุสัตว์ นอกจากนี้ เรายังดูแลเรื่องการติดตั้งระบบ พร้อมทดสอบการใช้งานจริงในฟาร์มระบบปิด เพื่อหาข้อดีและข้อด้อยของอุปกรณ์และระบบการติดตั้ง ก่อนแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ ที่เราพบในขั้นทดสอบ และนำผลสรุปที่ได้มาผลิตอุปกรณ์เพื่อจัดจำหน่ายแก่ผู้ประกอบการในวงการปศุสัตว์ พร้อมจัดระบบการติดตั้งที่เหมาะสมเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งานด้วย”
ด้านน.สพ. นพพร วายุโชติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการพัฒนาธุรกิจ เครือเบทาโกร ให้รายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เวนเทค ซึ่งบริษัท บี. อินเตอร์เนชั่นแนล แอนด์ เทคโนลยี่ จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่ายและให้บริการหลังการขาย โดยมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาแก่เจ้าของฟาร์มที่ใช้อุปกรณ์ พร้อมให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาต่างๆ “โรงเรือนระบบปิดต้องมีการควบคุมสภาพแวดล้อมอย่างดี ให้ตรงตามมาตรฐานการเลี้ยงไก่ เช่น หากการระบายอากาศภายในโรงเรือนไม่เพียงพอ ทำให้ไก่ไม่กินอาหาร อัตราการย่อยอาหารลดลงเพราะออกซิเจนไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตของไก่ ทำให้มีอัตราการตายสูงขึ้น หรือหากมีความชื้นน้อยจะทำให้มีฝุ่นละอองมาก ซึ่งมีผลต่อระบบการหายใจของไก่เช่นกัน และจากข้อมูลที่เราเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ทำให้สามารถผลิตอุปกรณ์ที่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
จุดเด่นของอุปกรณ์เวนเทคคือสามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นในโรงเรือน โดยมีระบบบันทึกค่าอุณหภูมิสูงสุดและต่ำสุด พร้อมวัดระบบความชื้น มีกราฟิกแสดงค่าอุณหภูมิ ความชื้น และการทำงานของระบบทั้งหมด พร้อมต่อพ่วงกับระบบสัญญาณเตือน ในกรณีที่อุณหภูมิภายในโรงเรือนสูงหรือต่ำกว่าค่าที่กำหนด และมีระบบระบายแก๊สแอมโมเนียในขณะอุณหภูมิต่ำ เจ้าของฟาร์มสามารถตั้งค่าการเลี้ยงล่วงหน้าได้ 7 ช่วง หรือตั้งค่าล่วงหน้าได้ 100 วัน นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ในสำนักงานได้อีกด้วย
ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตอุปกรณ์นี้ 1,000 ชุดต่อปี มูลค่ารวมประมาณ 15-20 ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นการจำหน่ายในประเทศ ซึ่งขณะนี้มีฟาร์ม 6 แห่งในจังหวัดนครสวรรค์ ราชบุรี ลพบุรี กาญจนบุรี ขอนแก่น และบุรีรัมย์ ติดตั้งอุปกรณ์เวนเทคเพื่อใช้งานในฟาร์มไก่และสุกร นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังวางแผนพัฒนาอุปกรณ์นี้เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรอื่นๆ เช่น โรงเรือนพืชและดอกไม้ต่างประเทศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตและน่าจับตามองอย่างยิ่งในเมืองไทย และในปีหน้าเราก็พร้อมส่งออกผลิตภัณฑ์เวนเทคไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น เวียดนาม ลาว เป็นต้น ซึ่งจะช่วยนำรายได้เข้าประเทศ”
น.สพ.นพพร ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากงานวิจัยดังกล่าว ทำให้เราได้มีองค์ความรู้และสามารถที่จะพัฒนาต่อยอดได้ในอนาคต ซึ่งหากเรานำเข้าจากต่างประเทศ ก็ไม่สามารถที่จะพัฒนาต่อยอดได้ หรือแก้ไขปัญหาต่างๆ จากการใช้งานจริงในระหว่างการเลี้ยงไก่ได้ โดยต้องส่งไปซ่อมแซมยังต่างประเทศ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ:
คุณมณีรัตน์ เย็นสุดใจ 081-234-7665 / คุณเพลินพิศ ศรีบุรินทร์ 089-160-6185
คุณสุภาวดี จรุงธรรมโชติ 089-668-3331 / คุณเมธาวี เฉลิมธนศักดิ์081-855-7394
บริษัท พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง จำกัด
โทร. 02-971-3711 ต่อ 104, 124, 118
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ชนานันท์ คงธนาฤทธิ์ (chananun@tmc.nstda.or.th)
โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1476 โทรสาร 0-2564-7004
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ปนัดดา ศรีโพธิ์ (panadda.sri@kmutt.ac.th)
โทรศัพท์ 0-2470-8058-60 โทรสาร 0-2427-8595
เครือเบทาโกร
กษมา สายสนั่น ณ อยุธยา (kasamab@betagro.com)
กุลชา ตัณฑวณิช (kunlachat@betagro.com)
โทรศัพท์ 0-2833-8316 โทรสาร 0-2833-8998

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ