กรุงเทพฯ--6 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BECL) ที่ระดับ “A” พร้อมทั้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันของบริษัทขึ้นมาอยู่ที่ระดับ “A” จากเดิม “A-” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของหุ้นกู้ในครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่สัดส่วนภาระหนี้ที่มีประกันของบริษัทลดลงมาอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิในการได้รับชำระหนี้ของผู้ถือหุ้นกู้เมื่อเทียบกับเจ้าหนี้ที่มีประกัน ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนปริมาณการจราจรบนทางด่วนที่สม่ำเสมอ รวมทั้งกระแสเงินสดที่แน่นอน ประโยชน์จากการเป็นทางด่วนเพียงระบบเดียวที่เชื่อมต่อกับระบบทางด่วนขั้นที่ 1 หรือทางพิเศษเฉลิมมหานคร และการมีคณะผู้บริหารที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากจำนวนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง ความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐด้านระบบการขนส่งในอนาคต และการแทรกแซงของรัฐในการปรับอัตราค่าผ่านทางด่วน
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าผลประกอบการของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจตลอดอายุสัมปทาน นอกจากนี้ยังคาดว่าบริษัทจะบริหารจัดการการจ่ายเงินปันผลและการลงทุนในอนาคตอย่างรอบคอบเพื่อมิให้กระทบต่อโครงสร้างทางการเงินของบริษัท
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัททางด่วนกรุงเทพเป็นผู้ก่อสร้างและบริหารโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 หรือโครงการทางพิเศษศรีรัชและส่วนต่อขยายต่างๆ โดยได้รับสัมปทานในระบบ Build-Transfer-Operate (BTO) ระยะเวลา 30 ปีจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ทางพิเศษศรีรัชเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 38.5 กิโลเมตร และแบ่งออกเป็น 4 ส่วนซึ่งเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครที่ก่อสร้างและบริหารโครงการโดย กทพ. โครงการดังกล่าวก่อให้เกิดเส้นทางเชื่อมต่อจากศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ไปยังทิศเหนือ ตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้ เป็นโครงข่ายถนนที่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนเมื่อการจราจรบนถนนปกติในใจกลางกรุงเทพฯ และชานเมืองมีปัญหาติดขัด นอกจากนี้ บริษัทยังได้จัดตั้งบริษัทย่อยคือ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) เพื่อให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างและบริหารโครงการทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) หรือทางด่วนส่วน C+ ซึ่งมีระยะทางรวม 32 กิโลเมตร ภายใต้สัญญาสัมปทานแบบ BTO ระยะเวลา 30 ปีจาก กทพ. ปัจจุบันบริษัทถือหุ้นใน NECL ในสัดส่วน 53.33% ของทุนจดทะเบียนของ NECL
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อผลประกอบการของบริษัททางด่วนกรุงเทพ ได้แก่ ปริมาณการจราจรบนทางด่วน อัตราค่าผ่านทาง และต้นทุนในการดำเนินงาน แม้ว่าปริมาณการจราจรบนทางด่วนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ในปี 2551 ก็เริ่มปรับตัวลดลงเนื่องจากผลกระทบของการเปิดใช้ถนนวงแหวนใต้ (กาญจนาภิเษก) โดยไม่เก็บค่าผ่านทาง ตลอดจนจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และผลกระทบจากการปรับเพิ่มอัตราค่าผ่านทางด่วน ในปี 2552 ปริมาณจราจรบนทางด่วนปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.01% โดยอยู่ที่ 952,528 คันต่อวันโดยเฉลี่ย จาก 924,672 คันต่อวันในปี 2551 ซึ่งการฟื้นตัวของปริมาณจราจรส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ปริมาณจราจรบนทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน C ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเปิดใช้ที่ระดับ 145,631 คันต่อวันจากผลของการย้ายสำนักงานของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจมาอยู่ที่อาคารศูนย์ราชการที่ถนนแจ้งวัฒนะซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อปลายปี 2551 และการโยกย้ายการเรียนการสอนของนักศึกษาในระดับปริญญาตรีทั้งหมดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ในส่วนของปริมาณการจราจรบนทางด่วนขั้นที่ 1 และทางด่วนขั้นที่ 2ส่วน D ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปิดใช้ถนนวงแหวนใต้โดยไม่เก็บค่าผ่านทางนั้นเพิ่มขึ้นไม่มากนักหลังจากที่ กทพ. เริ่มเก็บค่าผ่านทางบนถนนวงแหวนใต้ในเดือนมีนาคม 2552 นอกจากนี้ ปริมาณจราจรบนทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ยังได้รับผลกระทบจากปริมาณของผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทั้งในส่วนของนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวที่ลดลงในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 อีกด้วย ทั้งนี้ ผู้บริหารคาดว่าปริมาณจราจรบนด่วนขั้นที่ 1 และทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D จะปรับตัวดีขึ้นอีกหาก กทพ. เพิ่มอัตราค่าผ่านทางบนถนนวงแหวนใต้
ทริสเรทติ้งคาดว่าในระยะปานกลางปริมาณจราจรบนทางด่วนจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัยในเขตปริมณฑลและการจราจรที่ติดขัดบนถนนปกติ ทั้งนี้ คาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งจากปริมาณการจราจรบนทางด่วนที่สม่ำเสมอ รวมทั้งการปรับอัตราค่าผ่านทาง และความสามารถของคณะผู้บริหารในการควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน โดยผลประกอบการของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับดีแม้ว่าสูตรการคำนวณส่วนแบ่งรายได้ในเขตเมืองสำหรับทางด่วนขั้นที่ 1 และทางด่วนขั้นที่ 2 จะลดลงจาก 50% เหลือ 40% นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 เป็นต้นไปก็ตาม
ตัวเลขทางการเงินของบริษัททางด่วนกรุงเทพในปี 2552 ปรับดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับปี 2551 รายได้ค่าผ่านทางปรับเพิ่มขึ้น 9.59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 7,623 ล้านบาท เงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 4,685 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% หรือ 700 ล้านบาทจากปีก่อนซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้น อัตราค่าผ่านทางที่ปรับเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายทางการเงินที่ลดลง ในขณะที่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานยังคงอยู่ที่ระดับ 83.6% และโครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 57.29% จาก 61.33% ในปี 2551 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.71 เท่าจาก 4.53 เท่าในปี 2551 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนิน
งานต่อเงินกู้รวมแข็งแกร่งขึ้นโดยอยู่ที่ 19.86% แม้ว่าภาระหนี้ของบริษัทจะอยู่ในระดับค่อนข้างสูง แต่ความสามารถในการชำระหนี้และสถานะสภาพคล่องของบริษัทค่อนข้างแข็งแกร่งจากการมีกระแสเงินสดที่ค่อนข้างแน่นอนจากปริมาณการจราจรบนทางด่วนที่คงตัว ตลอดจนการมีภาระทางการเงินที่คาดการณ์ได้ และการมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับสถาบันการเงินหลายแห่ง
บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BECL)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BECL108A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,905 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2553 เพิ่มเป็น A จาก A-
BECL11NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2554 เพิ่มเป็น A จาก A-
BECL128A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,895 ล้านบาท ไถ่ถ เพิ่มเป็น A จาก A-
BECL139A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 เพิ่มเป็น A จาก A-
BECL13NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,100 ล้านบาท ไ เพิ่มเป็น A จาก A-
BECL148A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 เพิ่มเป็น A จาก A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)