กรุงเทพฯ--6 พ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
กระทรวงอุตสาหกรรม เพิ่มศักยภาพห้องปฏิบัติการทดสอบสินค้าสิ่งทอ พร้อมรองรับมาตรการกีดกันทางการค้า ลดต้นทุนผู้ประกอบการส่งออก หนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ฝ่าด่านมาตรการอียู
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่สหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักของการส่งออกสินค้าสิ่งทอไทย ได้มีการกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีออกมาเป็นระยะๆ การเข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพสินค้า ทำให้ผู้ประกอบการเพิ่มภาระต้นทุนมากขึ้น ในการส่งสินค้าไปตรวจสอบต่างประเทศ เนื่องจากห้องปฏิบัติการทดสอบสิ่งทอในประเทศนั้น ยังไม่พร้อมต่อการรองรับมาตรการทุกรายการ จากผลกระทบดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งในการเร่งดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย โดยพัฒนาศักยภาพเครื่องทดสอบสินค้าสอดคล้องกับกฏระเบียบดังกล่าว มิฉะนั้นผู้ประกอบการไทยอาจสูญเสียตลาดหลักในการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าได้
กระทรวงอุตสาหกรรมได้เล็งเห็นความจำเป็นในการเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับมาตรการดังกล่าวในเชิงรุกและเชิงรับ จึงได้สนับสนุนงบประมาณให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพการทดสอบตามมาตรการ NTBs ของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งภายใต้มาตรการมาตรการเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันภายใต้กฎระเบียบของประเทศคู่ค้า เพื่อพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการให้มีความพร้อมรองรับมาตรการสหภาพยุโรป ส่งผลให้ปัจจุบันห้องปฏิบัติการทดสอบสิ่งทอมีความพร้อมในด้านบุคลากร และเครื่องมือทดสอบที่มีประสิทธิภาพ สามารถให้บริการทดสอบกับอุตสาหกรรมสิ่งทอตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
“ห้องปฏิบัติการทดสอบของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้พัฒนาศักยภาพให้สามารถทดสอบครอบคลุมทุกด้านในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้แก่ 1. การทดสอบสารตกค้างอันตรายตามรายการสารอันตราย และสารที่ต้องระวังอย่างยิ่งตามระเบียบ REACH 2. การทดสอบผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้านคุณภาพและความปลอดภัย เช่น การทดสอบความคงทนต่อการติดไฟ ความแข็งแรงของผ้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในมาตรฐานของสหภาพยุโรปที่กำหนดในเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ 3. การทดสอบการต้านเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นการทดสอบสำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีการพัฒนาคุณสมบัติพิเศษ ด้านการต้านทานเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์นี้ไม่เกิดกลิ่นอับ หรือไม่ต้องซักบ่อยๆ ได้แก่ เสื้อกีฬา ถุงเท้า เป็นต้น ปัจจุบันห้องปฏิบัติการทดสอบที่สามารถทดสอบได้มีเพียง 2-3 แห่งเท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นห้องปฏิบัติการของภาคเอกชน”
นางสุทธินีย์ กล่าวอีกว่า ห้องปฏิบัติการทดสอบอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีการพัฒนาศักยภาพเพื่อให้มีความพร้อมในการรองรับกฎระเบียบและมาตรการของสหภาพยุโรปดังกล่าว สามารถตรวจสอบสินค้าสิ่งทอได้ตามมาตรการ REACH, Eco-Labeling เป็นต้น และช่วยลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการทดสอบสินค้า ทั้งนี้หากสินค้าสิ่งทอได้รับการตรวจสอบที่ตรงตามกฎระเบียบของมาตรการของสหภาพยุโรปแล้ว ย่อมส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอลดปัญหาและอุปสรรคในการส่งออกสินค้า พร้อมทั้งสามารถรักษาระดับการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่สำคัญไว้ และมีศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศคู่ค้าได้ในระยะยาว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 2024371 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม