เอกชนหนุนตั้งกองทุนวิจัยยางพารา ยินดีให้หัก 0.25-.05% ของยอดส่งออกยางพาราเข้ากองทุน

ข่าวทั่วไป Friday May 7, 2010 11:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--สกว. อุตฯ ยางพาราพ้อ ทำรายให้ประเทศปีละเป็นแสนล้าน แต่รัฐไม่เห็นความสำคัญ ประสานเสียงต้องบูรณาการทั้งหน่วยงานวิจัย โจทย์วิจัย และนักวิจัยเพื่อช่วย SMEs เผยพร้อมให้หัก 0.25-.05% ของยอดส่งออกเข้ากองทุนวิจัย ที่โรงงแรมรามาการ์เดนส์เช้าวันนี้ (6 พ.ค. 53) เป็นวันแ รกของการประชุมวิชาการยางพาราแห่งชาติครั้งที่ 2 ซึ่งกำหนดจัดระหว่างวันที่ 6-7 พ.ค.53 ภายใต้หัวข้อ “Value Creation สู่การพึ่งพาตนเอง” ซึ่งหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการให้ทุน/สนับสนุนงานวิจัยยางทั้ง 4 หน่วยงานร่วมกันจัด ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร (กวก.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีการเสวนาเรื่อง “ความคาดหวังของเอกชนต่องานวิจัยนยางพารา” นายประยงค์ หิรัญญะวณิชย์ ประธานคลัสเตอร์ยางและไม้ยางพารา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราใช้งบประมาณ องค์ความรู้ กำลังคน ไปกับงานวิจัยต้นน้ำ เช่น พันธุ์ยาง น้ำยาง พื้นที่เพาะปลูก เป็นส่วนใหญ่ แต่ภาคอุตสาหกรรมอยากเห็นการสร้างมูลค่าด้านปลายน้ำ คือนำยางพารามาแปรรูปให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งให้ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมาก และรู้สึกดีใจที่รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังจะจัดตั้งสถาบันยางและผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา “สิ่งที่เราขาดคือ เอกภาพ บุคลากรเรื่องยางของเรามีจำกัด เงินก็มีไม่เพียงพอ ดังนั้นทุกหน่วยงานต้องร่วมกันกำหนดทิศทางและนโยบายของประเทศให้ชัดเจน และจัดลำดับความสำคัญว่าจะมุ่งส่งเสริมด้านไหน เช่น ยางล้อ ถุงมือ หรือถุงยางอนามัย เป็นต้น แล้วทุกหน่วยงานร่วมกันทำงานวิจัยโครงการใหญ่ๆ ไม่ปล่อยให้ทรัพยากรถูกดึงไปทำโครงการเล็กๆ เป็นเบี้ยหัวแตก” นายประยงค์ กล่าว ดร.ชโย ตรังอดิศัยกุล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ประเทศไทยผลิตยางพาราได้ 3 ล้านตันจาก 10 ล้านตันที่ผลิตได้ทั่วโลก ใช้เองเพียง 10-12% และส่งออกเป็นยางธรรมชาติถึงปีละ 1.4 แสนล้านบาท ถ้าสามารถเพิ่มการแปรรูปยางธรรมชาติเหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์ได้อีก จะเกิดเป็นมูลค่าเพิ่มที่ตกอยู่ในประเทศได้อีกมากเพราะไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปของไทยประกอบด้วยยางล้อรถยนต์ 60% ตามมาด้วยถุงมือ ถุงยางอนามัย ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางที่ใช้ในการก่อสร้าง พวกนี้เป็นสินค้าชิ้นเล็ก น้ำหนักเบา แต่มีมูลค่าเพิ่มสูงมาก ขณะนี้ที่มาเลเซียนำหน้าไปแล้วโดยเริ่มทำยางกันแผ่นดินไหว และน่าจะมีอนาคตดี นายรัก ปิตาสัย เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมยางพาราทำเงินให้ประเทศปีละเกือบ 3 แสนล้านบาท แต่ผู้กำหนดนโยบายไม่เห็นความสำคัญของผลิตภัณฑ์ยางพารา ทำให้งานวิจัยยางพาราได้รับงบประมาณน้อย นักวิจัยจึงต้องวิจัยเรื่องเล็กๆ ในระยะเวลาสั้นๆ หน่วยวิจัยพิจารณาการให้ทุนและกำกับดูแลผลงานตามทุนวิจัยที่ให้ ตามเวลาวิจัยที่กำหนด นักวิจัยส่วนใหญ่ก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ทำวิจัยเป็นงานพาร์ทไทม์ ในขณะที่งานวิจัยบางอย่างทำพาร์ทไทม์ไม่ได้ “ “ภาคเอกชนเราคาดหวังให้มีการทำวิจัยระยะยาว โดยอาจใช้เงิน 20 ล้านบาทที่รัฐบาลจะให้มาเป็นเงินทุนประเดิมในการตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา และภาคเอกชนซึ่งมียอดการส่งออกยางพาราปีละเป็นแสนล้านยินดีให้รัฐบาลหัก 0.25 - 0.5% ของยอดส่งออกตั้งเป็นกองทุน เพื่อให้สถาบันฯ ใช้สนับสนุนการวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม มีบุคลากรวิจัยที่ทำงานวิจัยเต็มเวลา และมีสถาบันฯ เป็นแกนกลางในการบูรณาการโจทย์วิจัยของภาคอุตสาหกรรม เพื่อตอบโจทย์ของผู้ประกอบการ SMEs และบูรณาการหน่วยงานวิจัยต่างๆ ที่มีอยู่ นอกจากนี้ยังอยากฝากว่า ภาคอุตสาหกรรมต้องการงานวิจัยทางด้านวิศวกรรมการผลิตด้วย ไม่ใช่งานวิจัยด้านการคิดผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างเดียว” เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย กล่าว
แท็ก ยางพารา   SME  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ