กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ความแห้งแล้งของประเทศไทยในปีนี้จะขยายวงกว้าง รุนแรงและยาวนานต่อเนื่องกว่าทุกปี จึงขอให้เกษตรกรวางแผนการปลูกพืชที่ทนต่อความแห้งแล้ง พร้อมดูแลรักษาอย่าให้ไร่นาเกิดไฟไหม้ เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ทั้งในส่วนกลาง และภูมิภาคทุกแห่งทั่วประเทศ
นายสาโรช คัชมาตย์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า จากสถานการณ์เมื่อปี 2546 มีสภาวะฝนตกน้อย ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมีปริมาณสูงขึ้น ส่งผลให้ในบางพื้นที่เกิดสภาวะการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งจากการ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ความแห้งแล้ง พบว่า ในปี 2547 นี้ จะมีจังหวัดที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 68 จังหวัด ใน 608 อำเภอ/กิ่งอำเภอ 3,491 ตำบล 19,497 หมู่บ้าน ประชาชนจะได้รับผลกระทบต่อการขาดแคลนน้ำ จำนวน 2,086,301 ครัวเรือน 10,252,689 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่การเกษตรจะได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร จึงขอให้เกษตรกรวางแผนการปลูกพืช ให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้ง โดยลดการปลูกพืชที่จำเป็นต้องใช้น้ำมากในช่วงฤดูแล้ง เช่น ข้าวนาปรัง ควรเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยหรือพืชชนิดอื่นทดแทน ซึ่งอาจเป็นพืชที่ทนต่อความแห้งแล้ง หรือพืชล้มลุกที่ให้ผลเร็ว และใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง และถั่วต่างๆ เป็นต้น พร้อมช่วยกันประหยัดน้ำสำหรับการเกษตร โดยใช้วิธีปลูกพืชคลุมดิน การใช้วัสดุคลุมดิน การใส่ปุ๋ยหมัก หรือวัสดุที่ช่วยอุ้มน้ำในดิน เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดิน และสงวนน้ำในดินให้มากและนานที่สุด หรือใช้วิธีปลูกพืชบังลม เพื่อลดอัตราการคายน้ำ การระเหยของน้ำจากดินและพืชโดยการใช้ระบบน้ำหยด
นอกจากนี้ ในช่วงฤดูแล้งมักเกิดการระบาดของแมลงศัตรูพืช และโรคที่เกิดกับพืชบางชนิด เกษตรกรจึงควรระมัดระวังและเตรียมสารเคมีปราบศัตรูพืชสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งด้วย ตลอดจนช่วยกันดูแลรักษาเรือกสวนไร่นา อย่าให้เกิดไฟไหม้ขึ้น เพราะในช่วงที่เกิดความแห้งแล้ง จะมีหญ้าแห้ง และเศษพืชแห้งมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดไฟไหม้ได้ง่ายขึ้น ในช่วงดังกล่าวจึงควรงดเว้นการเผาหญ้า เศษพืชแห้ง เพราะจะทำให้ดินสูญเสียความชุ่มชื้น และอินทรีย์วัตถุที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ทำให้แมลงที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมตายไปด้วย และไฟอาจจะลุกลามออกไป ทำให้เกิดเขม่าควันละออง ขี้เถ้าฟุ้งกระจายบดบังทัศนวิสัยในการขับรถ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้มากขึ้น หากเกษตรกรรายใด ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ สามารถประสานขอความช่วยเหลือได้ที่ ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ป้องกันและแก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง ส่วนกลาง ติดต่อได้ที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระดับจังหวัด ติดต่อได้ที่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัด และในระดับอำเภอให้ติดต่อที่ศูนย์เฉพาะกิจฯ ของอำเภอ/ กิ่งอำเภอที่กองอำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนอำเภอ หรือ สายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้หน่วยงานในพื้นที่เข้าช่วยเหลือโดยรวดเร็วต่อไป