รมว.กก. วางศิลาฤกษ์ศูนย์ประชุมเชียงใหม่ มูลค่าร่วม 3 พันล้าน

ข่าวทั่วไป Monday May 10, 2010 10:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--กก. นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา(รมว.กก.) เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ บนเนื้อที่จำนวน 335 ไร่ ใช้งบก่อสร้างวงเงิน 2,220 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 1 ตุลาคม 2554 ซึ่งจะตรงกับช่วงการเป็นเจ้าภาพจัดพืชสวนโลกในช่วงปลายปี 2554 และถือได้ว่าเป็นศูนย์ประชุมนานาชาติของรัฐ ในส่วนภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย ที่จัดสร้างโดยรัฐบาลไทย มีพื้นที่ที่ใช้สอยที่กว้างขวาง กลางเมือง และมีขนาดใหญ่ที่สุดในส่วนภูมิภาค มีนายสมบัติ คุรุพันธ์ รักษาการรองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นผู้กล่าวรายงานต่อประธานในพิธี โดยได้วางศิลาฤกษ์ก่อสร้าง ณ บริเวณพื้นที่ก่อสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2553 นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า สืบเนื่องจากความต้องการการโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี2534 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาร่วม 20 ปี และมีการศึกษาความเป็นไปได้(Feasibility Study) ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง ประกอบกับขยายตัวเพิ่มขึ้นของธุรกิจการจัดประชุมและแสดงสินค้านานาชาติของประเทศ ช่วงปี 2540 - 2544 และรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการจัดประชุม/แสดงสินค้านานาชาติในประเทศ ให้เป็นแหล่งรายได้เข้าประเทศ ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) จึงได้ทำการศึกษาศักยภาพทางการตลาด พบว่า จังหวัดเชียงใหม่ มีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติได้ หากมีการพัฒนา สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการประชุมให้รองรับความต้องการของตลาดได้มากขึ้น หลังจากนั้น ททท. ได้ศึกษาความเหมาะสมของสถานที่ตั้งศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ แล้วเสร็จในปี 2546 เพื่อวิเคราะห์และประเมินศักยภาพเชิงกายภาพ เศรษฐศาสตร์ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งออกแบบเบื้องต้น และประเมินราคาค่าก่อสร้าง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของรัฐบาล โดยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2546 ลงมติให้ ททท. ดำเนินการโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ โดยบูรณาการร่วมกับโครงการศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาและกระจายสินค้าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ณ บริเวณหนองฮ่อ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ 335 ไร่ ในวงเงิน 1,450 ล้านบาท จากงบกลาง รายการค่าใช้จ่าย เพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ต่อมาได้มีการย้ายสถานที่ก่อสร้างไปที่บริเวณศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลก พื้นที่ 250 ไร่ แต่เนื่องจากประสบปัญหาบางประการในการดำเนินการเกี่ยวกับสถานที่ก่อสร้าง คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2547 ให้ย้ายสถานที่ก่อสร้างจากศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ กลับมายังบริเวณหนองฮ่อแห่งนี้ ในปี 2548 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย ททท. ได้ดำเนินการปรับปรุงแบบรายละเอียดการก่อสร้างตามผังแม่บทที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และดำเนินการจัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) และร่างเอกสารการประกวดราคา รวมทั้งดำเนินงานตามขั้นตอนการประกวดราคาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 และได้มีการชะลอการดำเนินงานในระยะต่อมา เนื่องจากการปฏิรูปการปกครองและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ในปี 2550 ททท. ได้ดำเนินการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป แต่ได้รับการทักท้วงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ให้พิจารณาทบทวนเงื่อนไขในการประกวดราคา เพื่อให้เปิดกว้าง และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ส่งผลให้มีการยกเลิกการประกวดราคา ในปี 2551 ได้มีการเปลี่ยนแปลงหน่วยงานดำเนินการโดยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) เป็นหน่วยงานดำเนินการ และดำเนินการทบทวน ศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการดำเนินการต่อไป ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2551 ลงมติเห็นชอบให้ยกเลิกตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 และให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นหน่วยงานรับผิดชอบเร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ ทางกระทรวงฯ จึงได้ดำเนินการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการปรับปรุงรายละเอียดประกอบการดำเนินการ และปรับราคาค่าก่อสร้างศูนย์ประชุมฯ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการขอใช้พี้นที่จากกรมธนารักษ์ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 เห็นชอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินการโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ใช้สอย 419,625.46 ตารางเมตร แยกเป็น พื้นที่ใช้สอย ภายในอาคารประมาณ 55,076.02 ตารางเมตร และพื้นที่ภายนอกอาคารประมาณ 364,549.44 ตารางเมตร ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 2,219,044,000 บาท ระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2551 - 2553 ประกอบด้วย ค่าก่อสร้างอาคารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 2,181,536,900 บาท ค่าควบคุมงาน 35,507,100 บาท และค่าศึกษาความเหมาะสมและเตรียมการดำเนินงาน 2,000,000 บาท ในปี 2552 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ดำเนินการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทอรนิกส์ จำนวน 2 ครั้ง จึงได้ผู้รับจ้าง คือ กิจการร่วมค้า อีเอ็มซี และเพาเวอร์ไลน์ ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด วงเงิน 1,867,150,000 บาท ได้ลงนามในสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552 ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างจำนวน 730 วัน หรือ 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2554 ในพื้นที่ก่อสร้าง ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยชาวจังหวัดเชียงใหม่ จะได้สัมผัสกับศูนย์ประชุมนานาชาติ ที่เป็นมาตรฐานและมีความเป็นสากล ในเวลาที่เหลืออีกแค่ 485 วัน หรือ 1 ปี 4 เดือน สอดคล้องกับการที่จังหวัดเชียงใหม่ ถูกกำหนดให้เป็น นครแห่งไมซ์(Hub of MICE) มีพื้นที่ของศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่ ในภาพรวมที่รองรับคนได้กว่า 10,000 คน ซึ่งจะมีห้องประชุมใหญ่ รองรับคนได้กว่า 3,000 คน ห้องประชุมเล็ก/ย่อยต่างๆ รองรับคนได้กว่า 3,000 คน ศูนย์/ห้องอาหาร รองรับคนได้กว่า 2,000 คน และพื้นที่จอดรถ รองรับได้กว่า 3,000 คัน และมีพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ไม่ว่าสระน้ำ/อ่างเก็บน้ำ สำนักงาน ร้านค้า ของที่ระลึก นิทรรศการ ธนาคาร ไปรษณีย์ ขนส่ง บริษัททัวร์ หน่วยงานราชการลักษณะบริการแบบเบ็ดเสร็จ(One Stop Service) และอื่นๆ ในการรองรับธุรกิจตลาดการประชุมและแสดงสินค้า(MICE — Meeting, Incentive, Convention, Exhibition) จำนวนทั้งสิ้นกว่า 335 ไร่ โดยมีบริเวณโดยรอบและใกล้เคียงที่จะสามารถสนับสนุนธุรกิจไมซ์ได้ไม่ว่าอยู่ใกล้ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ สนามกีฬาสมโภช 700 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนามกอล์ฟล้านนา ตลาดกลางสินค้าเกษตร โรงพยาบาลนครพิงค์ สนามบินนานาชาติเชียงใหม่ แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ และสถานที่พัก/โรงแรมต่างๆ ซึ่งโดยทั่วไปจังหวัดเชียงใหม่ มีนักท่องเที่ยวมาเยือน ในรอบ 10 ปี(1997-2008) เฉลี่ยประมาณปีละ 3.366 ล้านคนต่อปี มีรายได้จากการท่องเที่ยว เฉลี่ยประมาณ 35-40 ล้านบาทต่อปี และมีปริมาณห้องพักตามโรงแรมต่างๆ สูงถึง 40,000 กว่าห้อง และในปัจจุบันนี้ จังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณห้องพักทั้งในระบบและนอกระบบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการปรับตัวของนักท่องเที่ยวและรายได้ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงไป ดังนั้นจึงต้องช่วยกัน ปรับวิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้ ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า จะต้องเตรียมความพร้อมในทุกด้าน โดยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน ที่ต้องทำงานพร้อมกัน ก้าวไปด้วยกัน และในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะชาวเชียงใหม่ ที่พวกเราต้องช่วยกัน ในเชิงรุกลักษณะ Hard Sales และมีจุดขายและยุทธศาตร์/ยุทธวิธี ในเรื่องนครแห่งเมืองไมซ์(Hub of MICE) ทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมความเป็นเชียงใหม่ ที่มีวัฒนธรรม วิถีชีวิต และชื่อเสียงทางธรรมชาติที่ยาวนานและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ รวมทั้งต้องช่วยกันไปบิด(Bid) และพยายามดึงงานใหญ่ระดับชาติและนานาชาติมาจัดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นงานมอเตอร์โชว์ งานแสดงสินค้าต่างๆ งานแข่งขันประชุมวิชาการแพทย์เฉพาะทางนานาชาติ(ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ มีความพร้อมในแง่ Medical Hub ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และภาคเอกชนทางการแพทย์ของเชียงใหม่ มีความพร้อมเป็นอย่างยิ่ง) งานเอ็กซ์โปต่างๆ งานแข่งขันกีฬาในร่มนานาชาติต่างๆ เป็นต้น ซึ่งผลที่ตามจังหวัดเชียงใหม่ จะเป็นจังหวัดหลักที่ได้รับผลตอบแทนดังกล่าว มีอานิสงฆ์ไปถึงจังหวัดต่างๆทั่วภาคเหนือ และภาพรวมของประเทศด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวปิดท้ายว่า ตนเองมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ในวันนี้ การก่อสร้างดังกล่าว จะเป็นการส่งเสริม สนับสนุนให้เชียงใหม่เป็นเมืองศูนย์กลางการประชุมนานาชาติของประเทศไทย ที่สามารถรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวคุณภาพ ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่าเและคุณค่าสินค้าการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการจัดการประชุมในระดับนานาชาติ โดยศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่นี้ จะเป็นกลไกในการเพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทย ในการรองรับตลาดการประชุมและแสดงสินค้า ซึ่งคาดว่า หลังการเปิดใช้บริการ จะสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เป็นมูลค่าเฉลี่ยปีละ 3,000 ล้านบาทในภาพรวมทั้งประเทศ ทำให้มีการกระจายนักท่องเที่ยวคุณภาพมายังภาคเหนือ ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวด้านการประชุมและแสดงสินค้า ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ในภาพรวมทั้งประเทศ และก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยรวม ในรูปแบบของลูกโซ่ทางรายได้ ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้ จะเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวคุณภาพ(Business Class)ที่มีกำลังซื้อมากกว่าคนธรรมดากว่า 3-4 เท่าตัว ได้ตลอดทั้งปี โดยไม่เลือกฤดูกาลได้เป็นอย่างดียิ่ง ถึงแม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การดำเนินงานในระยะเริ่มต้นมีความล่าช้าจากแผนงานที่วางไว้ เนื่องจากภาวะวิกฤตด้านต่างๆ แต่ได้เร่งรัดให้สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดำเนินการตามขั้นตอน การประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม เพื่อให้รัฐได้รับประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ และประชาชนชาวเชียงใหม่ได้รับผลดีในเชิงเศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันให้มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องจากการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ถนน สะพาน ทางเข้า - ออก ระบบประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ท และระบบอิเล็คทรอนิกส์ต่างๆ รวมทั้ง แผนการลงทุน และแผนการตลาดของศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่ โดยให้เอกชนมาบริหารจัดการคล้ายกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ซึ่งจะสามารถรองรับการดำเนินงานเต็มรูปแบบที่จะมีขึ้นในอนาคตนี้ อันจะทำให้ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ มีความสมบูรณ์ ทันสมัย เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพแห่งใหม่ของประเทศไทย และบรรลุเป้าหมายของรัฐบาล ที่มุ่งพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับนานาชาติต่อไป หมายเหตุ... หากต้องการภาพอาคารสถานที่ ลักษณะ Perspective ของศูนย์ประชุมนานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ กรุณาแจ้งมาที่ E-mail Address: nsonsuwa@yahoo.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ