กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--กรุงเทพธุรกิจ
"อย่างน้อยการนำเสนอโปรโมชั่น บริการ และข้อมูลที่น่าสนใจโดยไม่จำกัดเวลา และสถานที่ จะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่ที่ไหน หรือแม้แต่สำนักงานของบริษัทจะเปิดทำการหรือไม่ก็ตาม"
การที่แอ๊ปเปิ้ลออกไอแพด หลังส่งไอพ็อด และไอโฟน สร้างความคุ้นเคยแก่ผู้บริโภคทั่วโลกแล้ว ย่อมไม่ใช่เรื่องยากเลยสำหรับการเรียนรู้ และทำให้เกิดความต้องการเป็นเจ้าของ จนทำให้การเปิดตัวของไอแพดเป็นที่กล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมาก ด้วยยอดขายกว่า 300,000 เครื่อง ภายในสองวันแรกที่วางจำหน่าย และมีผู้ดาวน์โหลดแอพไปแล้วกว่า 1 ล้านแอพ และไอบุ๊คกว่า 2.5 แสนเล่ม ตามข้อมูลของนิตยสารไทม์ ฉบับวันที่ 12 เม.ย. 2553 ได้คาดคะเนว่ายอดขายอาจสูงถึง 6 ล้านเครื่องในปีนี้ และต้นเดือน พ.ค. นี้ แอ๊ปเปิ้ลจะวางจำหน่ายไอแพด รุ่น 3 จีด้วย
ห้วงเวลานี้ ทั้งเด็ก วัยรุ่น ไปถึงกลุ่มผู้บริหารต่างนับถอยหลังรอจับจองเป็นเจ้าของ "ไอแพด" นวัตกรรมใหม่จาก "สตีฟ จ๊อบส์" แห่งค่ายแอ๊ปเปิ้ลกันทีเดียว
อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานกรรมการบริหารและที่ปรึกษาด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง บริษัท ธอมัสไอเดีย จำกัด นับเป็นคนแรกๆ ที่ได้เป็นเจ้าของและศึกษาการใช้งานไอแพด หลังออกวางตลาดครั้งแรก เธอพูดถึงประสบการณ์และมุมมองของอินเตอร์แอ็คทีฟเอเยนซีต่อไอแพด ซึ่งเป็นกล่าวขานว่าจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอีกครั้ง
"หลังจากที่ได้ลองใช้งานมาระยะหนึ่ง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าศักยภาพของไอแพด จะสร้างไลฟ์สไตล์ใหม่ให้เกิดขึ้น ไม่เฉพาะแต่กลุ่มวัยรุ่นอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ แต่จะเป็นกระแสที่โหมแรงไปยังผู้บริโภคทุกกลุ่ม อาจจะแรงกว่าไอโฟน หรือโซนี่ เพลย์ สเตชั่นด้วยซ้ำ จุดนี้นักการตลาดทั้งหลายควรเตรียมพร้อมไว้ก่อน เพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน"
ครีเอทีฟไลฟ์สไตล์ใหม่
เธอ บอกว่า เท่าที่ทราบมีความต้องการซื้ออยู่จำนวนมาก คาดการณ์ได้เลยว่าในเมืองไทยเอง ไอแพดจะสร้างกระแสไลฟ์สไตล์ใหม่ได้เร็ว และแพร่กระจายได้มากกว่ายุคไอโฟนทำตลาด
ยิ่งตอนนี้สังคมไทยมีแรงสนับสนุนจากโซเชียลเน็ตเวิร์คที่เร็วและแรงมาเสริม อีกทั้งการใช้งานที่ง่าย และเนื้อหาที่โหลดได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาข่าวสาร ความบันเทิง เกม และด้านวิชาการ ระบบฟังก์ชันที่สนับสนุนไวไฟ ยิ่งช่วยให้เกิดจำนวนของคนที่พร้อมใช้และอยากเป็นเจ้าของจำนวนมาก
"หลังจากที่ได้ลองใช้มาระยะหนึ่ง พบว่ามีแนวโน้มที่เราจะปรับพฤติกรรมการหาความสุขได้ง่ายๆ ด้วยการใช้เวลาอยู่กับไอแพด และเพลิดเพลินกับคอนเทนท์ที่มีอยู่ได้ตลอดวัน ไม่ว่าจะเป็นข่าวสาร บันเทิง เกม หนังสือ เพลง ภาพยนตร์ หาข้อมูลหรือติดต่อกันผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องเดินทางไปไหน ชีวิตก็เรียบง่ายขึ้นเยอะ แถมยังอยากจะแชร์เนื้อหา บอกต่อและเล่นสนุกพร้อมกันกับคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด ซึ่งปรากฏการณ์นี้เริ่มเกิดขึ้นให้เห็นแล้วในต่างประเทศ"
เธอเห็นว่า ไอแพดเป็นยิ่งกว่ากระเป๋าหนังสืออย่างที่หลายคนเข้าใจ และไม่แปลกใจเลยว่า ต่อไปจะเห็นคนยืนอ่านหนังสือและดูหนัง ฟังเพลงจากไอแพดบนรถไฟฟ้า ร้านกาแฟ หรือสถานที่ต่างๆ มากกว่าอยู่ในห้องนอนหรือบ้านพัก โดยไอแพดจะกลายเป็นแอคเซสเซอรี่ (accessory) ที่โชว์ตัวตนไม่ต่างจากมือถือ ด้วยความน่ารัก ลูกเล่นที่น่าสนใจ และการใช้งานที่ง่าย ชวนให้หลงรักได้ไม่ยาก
ดังนั้น หากนักการตลาดมองเห็นข้อดีตรงนี้ และเริ่มสื่อสารควบคู่กับการสร้างแบรนด์ได้ก่อนคนอื่น พื้นที่ตรงนี้ก็สร้างการรับรู้ได้เร็วและแนบแน่นกว่า
แนะนักการตลาดสร้างคอนเทนท์คู่
ความจริงแล้วที่มาของคอมพิวเตอร์ในลักษณะนี้มีมานานแล้ว โดยนิตยสารไทม์ ระบุว่า "บิล เกตส์" จากค่ายไมโครซอฟท์ได้คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ปี 2543 ในงานคอมเด็กซ์ (Comdex) ว่าคอมพิวเตอร์แนวใหม่ที่ไม่มีคีย์บอร์ดจะถูกพัฒนา และจะได้รับความนิยมอย่างมากในอีกห้าปีข้างหน้า
สิบปีต่อมา จ๊อบส์ก็เปิดตัวไอแพดครั้งแรกเมื่อ 27 ม.ค. 2553 กล่าวถึง รูปลักษณ์และแอพพลิเคชั่นที่เป็นหัวใจหลักของไอแพด ที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการอ่านและการซื้อหนังสือไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
หากพิจารณาถึงแอพพลิเคชั่นที่สร้างความโดดเด่น ที่ทำให้ไอแพดเปลี่ยนแนวคิดของเจ้าของหนังสือพิมพ์และสำนักพิมพ์คงต้องเริ่มจากไอทูนส์ ซึ่งเป็นร้านค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce Store) ของแอ๊ปเปิ้ล จำหน่ายเนื้อหาหลายประเภท ได้แก่ เพลง ภาพยนตร์ รายการทีวี พอดแคส (Podcasts) ออดิโอบุ๊คส์ (Audiobooks) และ iTunes U สมาชิกสามารถดาวน์โหลดเนื้อหาที่ต้องการได้ โดยมีเนื้อหาที่ทั้งแบบฟรีและเสียค่าใช้จ่าย
อุไรพร ให้ความเห็นว่า ค่ายแอ๊ปเปิ้ลยังวางหมากที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ การเตรียมแอพสโตร์ของแอ๊ปเปิ้ลจากไอโฟน มาสู่ไอแพดได้ ดังนั้น หากนักการตลาดต้องการสร้างคอนเทนท์ให้กลุ่มผู้ใช้ไอโฟน และไอแพดก็ทำควบคู่กันได้ด้วย
"แต่ที่ไอแพดเหนือกว่าไอโฟน คือ ความใหญ่ของจอและความรู้สึกของผู้ใช้ เมื่อได้ลองสัมผัสกับลูกเล่นด้านอินเตอร์แอ็คทีฟที่เร้าใจกว่านั่นเอง"
พนักงานขายโลกออนไลน์
จุดแข็งอีกอย่างในด้านคอนเทนท์ที่แอ๊ปเปิ้ลใช้เป็นตัวเปิดทางไอแพด คือ การเป็นแกดเจ็ตที่พกพาสะดวกและใช้งานง่ายในทุกที่ การสร้างระบบเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ตในการรับ-ส่งข้อมูลแบบทันใจ ช่วยให้เกิดแอพพลิเคชั่นกว้างขึ้นในการเป็นช่องทางการทำการตลาดและโปรโมชั่น
ด้วยจุดเด่นที่สามารถใช้นิ้วสัมผัสหน้าจอ ช่วยให้ผู้ใช้เกิดความรู้สึกใกล้ชิดกับแบรนด์ และมีการอัพเดทข้อมูลตลอดเวลา ยิ่งทำให้ผู้บริโภคเกิดแรงจูงใจซื้อผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้นด้วย
"ถ้าวางแผนโครงสร้างสำนักงานขายบนระบบอินเทอร์เน็ตดีๆ เราอาจจะใช้ไอแพดเป็นพนักงานขายในโลกออนไลน์ได้" อุไรพรแนะนำช่องทางขายใหม่ๆ
พร้อมกันนี้ เธอเสริมประเด็นดังกล่าวว่า อย่างน้อยการนำเสนอโปรโมชั่น บริการ และข้อมูลที่น่าสนใจโดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ จะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่ที่ไหน หรือแม้แต่สำนักงานของบริษัทจะเปิดทำการหรือไม่ก็ตาม
ไอแพด ปฏิวัติสื่อใหม่
ยิ่งช่วงที่เศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงง่ายเช่นนี้ อินเตอร์แอ็คทีฟเอเยนซีมือโปร บอกว่า นักการตลาดต้องปรับตัวอย่างมาก การมีเครื่องมือดีๆ ที่ช่วยสร้างกระแสและยอดขาย การเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ และนำมาใช้ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ออนไลน์ อาจจะเป็นทางลัดไปสู่เป้าหมายที่ต้องการไม่ยากนัก การมีวิสัยทัศน์และการเตรียมพร้อมล่วงหน้าจะช่วยให้ปรับตัวได้เร็วและชิงพื้นที่ได้ก่อนผู้อื่นเสมอ
เธอบอกด้วยว่า ขณะที่มุมมองของนักพัฒนาเทคโนโลยีอินเตอร์แอ็คทีฟเอง ก็ต้องสร้างองค์ความรู้และก้าวข้ามช่องว่างของการปรับตัวออกไป การพัฒนาขีดความสามารถในฐานะผู้ใช้เทคโนโลยีผลิตสื่อจะต้องล้ำหน้าก่อนผู้ใช้หรือผู้บริโภคเสมอ เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้แก่องค์กรและเจ้าของแบรนด์ได้ เพราะนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา
"วันนี้นักการตลาดต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า ทำอย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายเลือกโหลดแอพพลิเคชั่นของแบรนด์ไว้ในไอแพดที่จะอยู่ติดตัวผู้นำเทรนด์เหล่านี้ไปตลอด" อุไรพรฝากคำถามไว้