กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--สนช.
ผ่านมาถึง 5 รุ่นแล้วสำหรับหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาการจัดการนวัตกรรม คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยราคำแหง ที่ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ผลิตมหาบัณฑิตไปแล้ว 2 รุ่น ประมาณ 350 คน
สำหรับปีการศึกษา 2553 นี้ ทางมหาวิทยาลัยรามคำแหง ยังจับมือกับ สนช. ผลิตมหาบัณฑิต หรือนวัตกร รุ่นใหม่ ให้เป็นกำลังของชาติเหมือนเดิม ซึ่งขณะนี้กำลังเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจอยู่
อย่างไรก็ตาม คำว่า “นวัตกรรม” ดูเหมือนว่าจะเป็นคำที่ใช้กันทั่วไป แต่มีน้อยคนมากที่จะเข้าถึง เนื่องจากเป็นเรื่องยาก บางคนไม่ค่อยเข้าใจนักว่าหมายถึงอะไรกันแน่ และที่สำคัญบางคนก็สงสัยว่า ทำไมต้องมีการจัดการนวัตกรรมด้วย
ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อธิบายว่า นวัตกรรม คือการนำประดิษฐกรรม หรือความคิดค้นใหม่ๆ บวกเข้ากับความเข้าใจด้านเชิงพาณิชย์ หรือการประยุกต์ใช้ให้เกิดผล ดังนั้นนวัตกร หรือ innovator ต้องมีความพร้อมในระดับหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีพื้นฐานที่ดี มีความพร้อมด้านการจัดการระดับหนึ่ง เพราะการจัดการนวัตกรรมนั้น เป็นการจัดการของศาสตร์หลายสาขา การเงิน การบัญชี การตลาด การลงทุน ไปจนถึงด้านวิทยาศาสตร์ โดยสรุปแล้ว นวัตกรรมเป็นกระบวนการจัดการ 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือ เทคโนโลยี อีกด้านคือการจัดการธุรกิจ
การจัดการเทคโนโลยี หมายถึงต้องไปจัดการความรู้ นำผลวิจัยและพัฒนามาใช้ การขออนุญาตการใช้สิทธิในเทคโนโลยีนั้น รวมถึงการที่จะทำเรื่องการออกแบบ เป็นต้น ส่วนการจัดการธุรกิจ หมายถึง การเงิน การตลาด การสร้างแบรนด์ การทำเรื่องโลจิสติกส์ กฎหมาย ในการขายของชิ้นใดชิ้นหนึ่งออกมา จึงต้องอาศัยความรู้ที่ฐานระดับหนึ่ง ก่อนจะเป็นกระบวนการจัดการให้เกิดเป็นงานสร้างนวัตกรรมขึ้นมา
“ด้วยเหตุนี้เราจึงให้การสนับสนับสนุนในระดับปริญญาโท แต่ไม่ได้หมายความว่า ปริญญาตรีจะคิดนวัตกรรมไม่ได้ เราหมายถึง ควรจะมีความรู้พื้นฐานที่แน่นเพียงพอ ถ้าเอาเด็กเกินไปมาเรียน หรืออายุ 18-19 มาเรียน อาจจะเข้าไม่ถึงสหวิทยาการต่างๆ มากนัก” นายศุภชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม การสร้างความรู้ด้านการจัดการนวัตกรรมในบ้านเราถือว่ายังใหม่มาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่การเปิดหลักสูตรมาแล้ว 5 รุ่น ดูเหมือนว่าทางคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จะมีประสบการณ์อยู่พอสมควร
ผศ.ดร.ภีรภัทร ภักคีรี ประธานกรรมการบริหารโครงการบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการนวัตกรรม คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยราคำแหง เปิดเผยว่า พอใจที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ขึ้นมา โดยในรุ่นแรก ก็สามารถเป็นผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมหลายราย รุ่นต่อๆ มา ก็พยายามบ่มเพาะให้สุกงอมมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยอมรับว่าการสร้างนวัตกรรมในเมืองไทยเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ส่วนในอนาคตทางมหาวิทยาลัย จะปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยมากขึ้น คือให้เหมาะกับการใช้งานของคนที่นำไปใช้ โดยจะรับความคิดเห็นของศิษย์เก่า ว่ามีอะไรบ้างที่บกพร่อง
อาจารย์ภีรภัทร ยังให้ความเห็นว่า ทางรามคำแหงคาดหวังให้นักศึกษาออกไปเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์แรกๆ ของโครงการ ไม่ต้องการให้บัณฑิตที่จบออกไป เป็นพนักงานลูกจ้างเพียงอย่างเดียว อยากให้เขานำไอเดียใหม่ๆ ไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเอง ซึ่งธุรกิจนั้นเล็กใหญ่ไม่สำคัญ ขอให้เป็นธุรกิจของเขาเอง
“แนวโน้มในปัจจุบันนักศึกษาที่จบปริญญาตรี จะพบว่า อยากจะเป็นพนักงานในบริษัท ซึ่งมีน้อยมากที่อยากจะมีกิจการเป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้นระบบการศึกษาของเมืองไทย น่าจะปูพื้นความคิดในการเป็นผู้ประกอบการมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะเศรษฐกิจบ้านเราจะเดินไปได้ต้องมีธุรกิจเล็กๆ เยอะๆ มีผู้ประกอบการราย่อยเยอะๆ เป็นเหมือนรากหญ้าที่ทำให้ประเทศเราเข้มแข็ง” อาจารย์ภีรภัทร กล่าว
เมื่อกล่าวถึงการศึกษา ก็ต้องยอมรับว่า ระบบการศึกษามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเปิดโอกาสให้ผู้ศึกษา ได้คิด ได้สร้าง ได้ผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมา หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว จะพบว่า บางแห่งเช่นในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะที่ซิลิคอน วัลเลย์ ผู้ประกอบการหลายคนไม่ได้จบปริญญาตรีด้วยซ้ำ ซึ่งนั่นหมายความว่า การกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เริ่มมาตั้งแต่ยังเล็กแล้ว
ประธานกรรมการบริหารโครงการบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมฯ ให้ความเห็นว่า กระบวนการที่จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งนวัตกรรมนั้น ต้องเริ่มที่จัดระบบการศึกษาเสียใหม่ ต้องสอนให้เป็นใช้จินตนาการมากกว่าการท่องจำ แต่ระบบการศึกษาของไทยไม่สอนให้เด็กมีจินตนาการซึ่งเรา ต้องสอนให้เด็กคิดต่างให้ได้
“หลักสูตรของราม สอนให้คิดต่างอยู่แล้ว เด็กรามมีความเป็นตัวของตัวเองสูง หลักสูตรที่ออกแบบมากระตุ้นให้เด็กคิดต่าง สอนให้นักศึกษากล้าเถียง ทำให้เราต่างจากที่อื่น อีกประการอาจเป็นเพราะว่าวิทยากรที่เชิญมา มีหลากหลาย เป็นคนรุ่นใหม่ คิดอะไรนอกกรอบ ถ้าคนสอนนอกกรอบ ก็จะถ่ายทอดไปยังนักศึกษาด้วย” อาจารย์ภีรภัทร กล่าว
นอกจากหลักสูตรการจัดการนวัตกรรม คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยราคำแหง จะสอนให้ผู้เรียนคิดต่าง คิดนอกกรอบ และคิดอย่างสร้างสรรค์แล้ว ทาง สนช.ยังจะมอบทุนการศึกษาและการค้นคว้าอิสระ แก่นักศึกษาในหลักสูตรฯ จำนวนทั้งสิ้น 800,000 บาท เพื่อส่งเสริมให้มีการยกระดับงานวิจัย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และสอดรับกับการแก้ปัญหาสำคัญในปัจจุบันของประเทศไทย ตลอดจนเพื่อเป็นการพัฒนาทักษะ ความรู้ของนักศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิตและการบริหาร โดยใช้วัตถุประสงค์ของ “โครงการความร่วมมือในการผลิตนักวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นแนวทางสำคัญในการพิจารณาให้การสนับสนุนเงินทุนแก่นักศึกษา
ล่าสุด สนช.ได้สนับสนุน ผลงานทางด้านธุรกิจชีวภาพ ของ คงกะพัน ศิริวรรณ บริษัท ภูธน จำกัด นักศึกษารุ่น 1 ได้พัฒนาผลงงาน “ภูเขาทอง” ปุ๋ยชีวภาพจากเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มตรึงไนโตรเจนได้อย่างอิสระ 3 สายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการตรึงไนโตรเจนลงในดิน ใช้กระบวนการผลิตที่ได้มาตฐานสามารถกำหนดสายพันธุ์และปริมาณจุลินทรีย์ที่เป็นส่วนประกอบได้ มีการขึ้นทะเบียนเป็นปุ๋ยชีวภาพตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย (ฉบับที่2) พ.ศ.2550 และตรงตามความต้องการมาตฐานปัจจัยการผลิตเกษตรอินทรีย์ของ IFOAM นับเป็นความภาคภูมิใจในผลงานคนไทยเป็นอย่างยิ่ง
ทางด้าน รศ.คิม ไชยแสนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นเรื่องยากลำบากที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศ แข็งแรงอย่างยั่งยืน เพราะประเทศคู่แข่งเติบโตอย่างรวดเร็ว บางประเทศก็แซงหน้าเราไปแล้ว ถ้าประเทศเรายังซอยเท้าอยู่กับที่ ก็เป็นไปได้ว่าอนาคตลูกหลานเราคงจะไปหางานทำที่ฮานอย และถ้าซอยเท่าต่อไปเรื่อยๆ เราก็จะตกขอบโลก
ดังนั้น อาจารย์คิม จึงเชื่อว่า กระบวนการสร้างสรรค์ทางนวัตกรรม หรือแนวทางแบบเศรษฐศาสตร์สร้างสรรค์ จะช่วยให้เกิดทางออกดีๆ ในการพัฒนาประเทศได้
“ต้องไม่ลืมว่า ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็จะไม่เกิดการพัฒนา ไม่มีนวัตกรรมใหม่ ก็จะไม่เกิดผลผลิตใหม่ หรือเทคนิควิธีการผลิตแบบใหม่” อาจารย์คิม กล่าวและว่า จากต้นทางนี้เอง ก็นำไปสู่คำตอบในเชิงเศรษฐศาสตร์ เมื่อมีการผลิตใหม่ ก็จะเกิดช่องทางตลอดใหม่ หากใครคิดได้ก่อน นำไปปฏิบัติได้จริงก่อนใคร ผลสำเร็จก็จะตามมา
“ทุกวันนี้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลเพียงอย่างเดียว ไม่น่าจะพอ ต้องมีวิสัยทำ และวิสัยทนด้วย ที่สำคัญต้องกล้าหาญที่จะก้าวข้ามกระบวนทัศน์เก่าๆ ให้ได้” อาจารย์คิม แนะนำ
สำหรับผู้ที่สนใจหลักสูตรดังกล่าว ขณะนี้เปิดรับสมัครแล้วจนถึงเดือนพฤษภาคมนี้ รับจำนวน 180 คน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.mbainnovation.ru.ac.th หรือ โทร.0-2310-8234