โครงการอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ข่าวทั่วไป Monday May 10, 2010 15:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--สถาบันพระปกเกล้า หลักการและเหตุผล ในรอบ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา สื่อโสตทัศน์ภาพยนตร์เป็นสื่อที่ครองใจชาวโลกมากที่สุด และมีบทบาทต่อโลกมากที่สุด แต่สื่อภาพยนตร์กลับถูกปล่อยปละละเลยให้สูญหายไปมากที่สุด กล่าวได้ว่ากว่าครึ่งหนึ่งของภาพยนตร์ที่ผลิตกันขึ้นทั่วโลกได้สูญหายไปหมดแล้ว เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าภาพยนตร์มักถูกมองว่าเป็นเรื่องของความบันเทิง ฉาบฉวย ไม่มีคุณค่าสำคัญ หรือเป็นงานศิลปะสูงส่ง จึงมักถูกทำลายทิ้งไปทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา ประกอบกับฟิล์มภาพยนตร์เป็นวัสดุที่ละเอียดอ่อน และบอบบาง เสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพได้ง่ายดาย หากไม่ได้รับการดูแลรักษาให้ถูกต้อง หอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นสำนักหนึ่งของกรมศิลปากร ทำหน้าที่ในการแสวงหา รวบรวมภาพยนตร์ต่างๆ ซึ่งเป็นผลผลิตของชาติและมีค่าควรได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของชาติ และเพื่อให้บริการแก่สาธารณชนได้ใช้ประโยชน์จากภาพยนตร์เหล่านั้นตลอดไป ในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๒ หอภาพยนตร์แห่งชาติ ได้ยกฐานะเป็น (องค์การมหาชน) นับแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน หอภาพยนตร์แห่งชาติสามารถแสวงหาฟิล์มภาพยนตร์เพื่อออนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของชาติได้เป็นจำนวนกว่า ๖๐, ๐๐๐ ม้วน แต่สามารถอนุรักษ์ไว้ได้แล้วประมาณ ๑๕,๐๐๐ ม้วน นั่นหมายความว่า ยังมีฟิล์มภาพยนตร์ที่กำลังรอการซ่อมสงวนรักษา เหมือนคนไข้คอยหมอ และขณะที่เรากำลังพูดถึงการอนุรักษ์ภาพยนตร์ จะมีฟิล์มภาพยนตร์เสื่อมสภาพเหมือนคนไข้ที่ตายไปก่อนได้รับการรักษาตลอดเวลา ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าจำนวนเจ้าหน้าที่และงบประมาณของหอภาพยนตร์ไม่สมดุลกับปริมาณภาพยนตร์ที่รอคอยการอนุรักษ์ หอภาพยนตร์แห่งชาติมีภาพยนตร์อันทรงคุณค่าอย่างยิ่งและกำลังจะเสื่อมสภาพชุดหนึ่ง คือ ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพยนตร์ชุดดังกล่าวมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งพระราชพิธี พระราชกรณียกิจ การเสด็จประพาสอย่างเป็นทางการและส่วนพระองค์ทั่วพระราชอาณาจักร และนานาประเทศ รวมทั้งภาพยนตร์ประเภทดำเนินเรื่อง จากหลักฐานพบว่าภาพยนตร์ ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถ่ายทำมีจำนวนมากถึง ๕๐๐ ม้วน เกือบทั้งหมดเป็นฟิล์มภาพยนตร์ขนาด ๑๖ มิลลิเมตร ขาว-ดำ มีความยาวม้วนละประมาณ ๔๐๐ ฟุต ซึ่งกินเวลาฉายม้วนละประมาณ ๑๕ นาที น่าเสียดายว่าฟิล์มภาพยนตร์ส่วนพระองค์ได้สูญหายไปจำนวนหนึ่ง หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติและประทับในต่างประเทศ ภายหลังหอภาพยนตร์แห่งชาติ สามารถรวบรวมฟิล์มภาพยนตร์ส่วนพระองค์ไว้ได้ประมาณ ๓๐๐ ม้วน และคงเหลือฟิล์มอีกประมาณ ๑๐๐ ม้วนที่ยังคงสภาพพอที่จะซ่อมแซม สงวนรักษา และอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของชาติ ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระราชจริยวัตร ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ รวมถึงประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และสังคมร่วมสมัย วัตถุประสงค์ ๑ เพื่อเทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพด้านภาพยนตร์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒ เพื่ออนุรักษ์ต้นฉบับฟิล์มภาพยนตร์ส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ โดยการทำสำเนาฟิล์มต้นฉบับขึ้นใหม่ทั้งหมด และจัดเก็บพร้อมกับต้นฉบับเดิมไว้ในห้องเย็นเก็บรักษาฟิล์มภาพยนตร์ของหอภาพยนตร์แห่งชาติ ๓ เพื่อทำสำเนาเป็นสื่อสมัยใหม่ พร้อมการจัดทำข้อมูลสาสรสนเทศ สำหรับให้บริการเพื่อการศึกษาค้นคว้าแก่สาธารณชน ๔ เพื่อต่อยอดไปผลิตเป็นสื่อวีดิทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ สำหรับเผยแพร่สู่สาธารณชนต่อไป ผู้รับผิดชอบโครงการ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) (นายโดม สุขวงศ์ และคณะ) วิธีการดำเนินการ ๑ ตรวจสภาพฟิล์มภาพยนตร์อย่างละเอียด ๒ ซ่อมแซมและฟื้นฟูสภาพฟิล์มภาพยนตร์ที่มีอาการเสื่อมสภาพ ตามหลักวิชาการที่เหมาะสม ๓ พิมพ์ถ่ายทอดฟิล์มภาพยนตร์ต้นฉบับที่ยังมีสภาพดีเป็นฟิล์มสำเนาเนกาทีฟ ๑๖ มม. และสำเนาโพสิทีฟ ๑๖ มม. ๔ ทำสำเนาเป็นสื่อดิจิทัลเพื่อให้บริการศึกษาค้นคว้าแก่สาธารณชน ระยะเวลาในการดำเนินงาน ๖ เดือน (ตุลาคม ๒๕๕๒ — มีนาคม ๒๕๕๓) ผลผลิต สำเนาฟิล์มภาพยนตร์ส่วนพระองค์ที่ได้รับการอนุรักษ์แล้ว ในรูปแบบ DVD จำนวน ๓ ชุด / ๑ เรื่อง ผลที่คาดว่าจะได้รับ ๑. ต้นฉบับฟิล์มภาพยนตร์ส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้รับการอนุรักษ์อย่างถูกวิธีและเก็บรักษาไว้เป็นมรดกภาพยนตร์ที่สำคัญที่สุดชุดหนึ่งของชาติสืบไป ๒. นักศึกษาและนักวิชาการได้ใช้ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ที่ได้รับการอนุรักษ์แล้ว เป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยวิทยาการด้านต่างๆ ๓. เพื่อเผยแพร่พระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพด้านภาพยนตร์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้พสกนิกรชาวไทยได้รับทราบ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ