กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
กทม. รณรงค์ลดปริมาณถุงพลาสติก จัดโครงการ “กรุงเทพฯ สดใส ไร้ถุงพลาสติก” ร่วมกับห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และร้านสะดวกซื้อ พร้อมรณรงค์ให้ตลาดนัดจตุจักรเป็นพื้นที่นำร่องปลอดถุงพลาสติก ภายใต้แนวคิด “No Bag No Baht” เริ่ม 5 มิ.ย. 53 เป็นต้นไป
นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2553 ซึ่งมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม เกี่ยวกับโครงการกรุงเทพฯ สดใส ไร้ถุงพลาสติก ซึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการศูนย์การค้าห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ ลงนามในบันทึกข้อตกลง “โครงการลดการใช้ถุงพลาสติก ลดขยะ เพื่อลดโลกร้อน” โดยเริ่มโครงการเมื่อวันที่ 22 เม.ย.53 ซึ่งเป็นวันคุ้มครองโลก (Earth Day) โดยดำเนินการจัดกิจกรรม “กรุงเทพฯ สดใส ไร้ถุงพลาสติก” เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนลดการใช้ถุงพลาสติก ภายใน 45 วัน นับตั้งแต่ 22 เม.ย. — 5 มิ.ย. 53 ซึ่งมีร้านค้าชั้นนำเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวในเบื้องต้น จำนวน 14 แห่ง อาทิ เดอะมอลล์ บิ๊กซี แม็คโคร ซีพีออล การบินไทย ฟู้ดแลนด์
ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อต่างๆ ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ป้ายแบนเนอร์ และ จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องที่ตลาดนัดจตุจักร เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 53 ที่ผ่านมา จากการสำรวจข้อมูลการใช้ถุงพลาสติกจากผู้ค้าในตลาดนัดสวนจตุจักร พบว่า ร้านค้าจำนวน 8,491 ราย ใช้ถุงพลาสติก จำนวน 566,388 ใบต่อวัน
ในส่วนของกรุงเทพมหานครจะเริ่มรณรงค์ให้ตลาดนัดจตุจักรเป็นผู้นำในการลดใช้ถุงพลาสติกของประเทศไทย ตั้งแต่วันที 5 มิ.ย. 53 เป็นต้นไป ภายใต้แนวคิด “No Bag No Baht” นำร่องเป็นพื้นที่ปลอดถุงพลาสติก โดยมอบส่วนลด 1 บาทให้กับผู้ซื้อหากไม่รับถุงพลาสติกจากผู้ขาย พร้อมลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเรื่องลดการใช้ถุงพลาสติก เพื่อสภาพแวดล้อมที่ดีและนำไปสู่การเป็นผู้นำในการลดการใช้ถุงพลาสติกระดับประเทศ โดยร้านค้าที่เข้าร่วมรายการ “ไม่เอาถุงลด 1 บาท” จะแสดงสัญลักษณ์ติดไว้ ในที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน ทั้งนี้กรุงเทพมหานครเชื่อว่า หากคนไทยทุกคนลดใช้ถุงพลาสติกเพียงสัปดาห์ละ 1 วัน จะช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกได้มากกว่า 100 ล้านใบต่อปี และหากชาวกรุงเทพฯ ลดการใช้ถุงพลาสติกจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเก็บขยะได้วันละ 1.78 ล้านบาท หรือคิดเป็น 650 ล้านบาทต่อปี