กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. สั่งให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ดูแลผลประโยชน์ แก้ไขข้อบกพร่องของระบบการควบคุมภายในเป็นการเร่งด่วน และให้ธนาคารนครหลวงไทยฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจาก บลจ.ไอเอ็นจี ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที ยู โดม เรสซิเดนท์เชียล คอมเพล็กซ์ (“กองทุนรวม TU-PF”) เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวม
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมสืบเนื่องจากการร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสของการบริหารจัดการกองทุนรวม TU-PF การก่อสร้างอาคารเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ และการปรับปรุงพื้นที่พลาซ่าที่ยังไม่แล้วเสร็จตามกำหนด ก.ล.ต. พบว่า บลจ.ไอเอ็นจีมีการปฏิบัติงานที่บกพร่อง ดังนี้
1. บลจ.ไอเอ็นจีไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามโครงการจัดการกองทุนรวม TU-PF โดยได้ปรับเปลี่ยนแบบแปลนก่อสร้างอาคารเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ เพื่อเพิ่มพื้นที่ส่วนพลาซ่าและลดจำนวนห้องพักลง โดยไม่ได้ขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนก่อน และ บลจ.ไอเอ็นจีได้ยินยอมให้มีการแก้ไขสัญญาเพื่อให้กองทุนรวม TU-PF ตกลงรับมอบทรัพย์สินที่เช่าซึ่งมีส่วนที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ และให้กองทุนรวม TU-PF เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือเอง
2. บลจ.ไอเอ็นจีไม่สามารถแสดงหลักฐานการพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่จะได้รับสิทธิเช่าช่วงพื้นที่พลาซ่าและเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ ซึ่งบริษัทดังกล่าวรับจะปรับปรุงพื้นที่พลาซ่าและเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทเอง (318 ล้านบาท) เพื่อแลกกับสิทธิในการเช่าช่วงพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าบริษัทที่ บลจ.ไอเอ็นจีเลือก เพิ่งจะจัดตั้งและมีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท และมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับผู้บริหารของ บลจ.ไอเอ็นจี และในปัจจุบันบริษัทดังกล่าวก็ไม่สามารถปรับปรุงพื้นที่พลาซ่าให้แล้วเสร็จตามกำหนด
3. บลจ.ไอเอ็นจีดำเนินการให้กองทุนรวม TU-PF จ่ายเงินจำนวน 10 ล้านบาทให้แก่บริษัทที่ปรับปรุงพื้นที่พลาซ่า โดยที่กองทุนรวม TU-PF ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามสัญญาดังกล่าว
4. การรับมอบงานก่อสร้างในส่วนของเฟอร์นิเจอร์ในอาคารหอพักนักศึกษาไม่ครบถ้วนตามที่ได้ระบุไว้ในเอกสาร โดยไม่มีหลักฐานประกอบการวิเคราะห์หรือตัดสินใจในการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งทำให้กองทุนรวม TU-PF อาจมีปัญหาส่งมอบทรัพย์สินคืนให้ผู้ให้เช่าทรัพย์สินไม่ครบเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการเช่า 30 ปี
5. บลจ.ไอเอ็นจี และบริษัทที่จะได้รับสิทธิเช่าช่วงฯ ร่วมกันรับเงินมัดจำค่าเช่าพื้นที่พลาซ่า ทั้งๆ ที่บริษัทที่จะได้รับสิทธิเช่าช่วงฯ ยังไม่ได้รับสิทธิเช่าช่วงพื้นที่พลาซ่า และไม่พบว่าเงินมัดจำดังกล่าวเข้าบัญชีของกองทุนรวม TU-PF
6. การปรับปรุงพลาซ่าและเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ไม่แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2552 และไม่สามารถจัดหาผลประโยชน์ได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 ตามกำหนด แต่ บลจ.ไอเอ็นจีไม่ได้เปิดเผยข้อมูลนี้ต่อผู้ถือหน่วยลงทุน จนกระทั่ง ก.ล.ต. สั่งให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว
การปฏิบัติงานที่บกพร่องของ บลจ.ไอเอ็นจี ตามที่ ก.ล.ต. ตรวจพบข้างต้น สามารถสรุปได้ว่า
1. บลจ.ไอเอ็นจีมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับระบบงานและมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายหลักทรัพย์ กล่าวคือ (1) ไม่มีการสอบทานการปฏิบัติงานของพนักงาน และ (2) แผนตรวจสอบการปฏิบัติงาน (audit plan) ของ บลจ.ไอเอ็นจี ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ถึง พ.ศ. 2552 ไม่มีการตรวจสอบการจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และ
2. ธนาคารนครหลวงไทยมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับ (1) ระบบในการกำกับดูแลให้บริษัทจัดการปฏิบัติให้เป็นไปตามโครงการจัดการกองทุนรวม และ (2) ระบบควบคุมการรับจ่ายทรัพย์สินของกองทุนรวมเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่กองทุนรวม
ก.ล.ต. จึงสั่งการให้ บลจ.ไอเอ็นจี และธนาคารนครหลวงไทย แก้ไขข้อบกพร่องของระบบการควบคุมภายในเป็นการเร่งด่วน และให้ธนาคารนครหลวงไทยปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 127(5) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจาก บลจ.ไอเอ็นจี เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวม TU-PF โดยรวม
นอกจากนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติมอีก เพื่อดำเนินการกับการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องต่อไป
ก่อนหน้านี้ ก.ล.ต. ได้ลงโทษภาคทัณฑ์และเปรียบเทียบปรับนายมาริษ ท่าราบ ในฐานะกรรมการผู้จัดการและผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ของ บลจ.ไอเอ็นจี และเปรียบเทียบปรับ บลจ.ไอเอ็นจี กรณีไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามโครงการจัดการกองทุนรวม TU-PF รวมทั้งปรับธนาคารนครหลวงไทย ในฐานะผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม TU-PF ที่ไม่ดูแลให้ บลจ.ไอเอ็นจีปฏิบัติหน้าที่ตามโครงการจัดการกองทุนรวม