กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--กระทรวงพลังงาน
กระทรวงพลังงาน เผยการใช้น้ำมันดีเซลและเบนซินเดือนแรกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากผลของราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปปรับลดลง อย่างไรก็ตามมีข่าวดีประเทศสามารถลดการนำเข้าน้ำมันดิบและรายจ่ายออกนอกประเทศลงได้ และพบว่ายอดส่งออกน้ำมันต้นปีสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 13,000 ล้านบาท ส่วนราคาน้ำมันสำเร็จรูปในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการซื้อน้ำมันก่อนเทศกาลตรุษจีน
นายเมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า การใช้น้ำมันปี 2550 ผ่านมาแล้ว 1 เดือน ในเดือนมกราคม 2550 ปริมาณการใช้น้ำมันสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2549 การใช้ดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 จากเดิมเฉลี่ยวันละ 52 ล้านลิตร เป็นวันละ 53.1 ล้านลิตร ส่วนปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินรวม ออกเทน 95 ออกเทน 91 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จากเดิมเฉลี่ยวันละ 19.5 ล้านลิตร เป็นวันละ 19.7 ล้านลิตร
ปัจจัยสำคัญทำให้การใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากเดือนมกราคมที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลลดลง 2 ครั้ง รวม 80 สตางค์ต่อลิตร เช่นเดียวกับการใช้น้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการลดราคาน้ำมันถึง 3 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 1.30 บาทต่อลิตร แต่เมื่อแยกประเภทน้ำมัน จะพบว่า การใช้น้ำมันเบนซิน 91 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 มาอยู่ที่ระดับ 12.7 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่การใช้เบนซิน 95 พบว่าลดลง 20.4% มาอยู่ที่ระดับ 3.7 ล้านลิตรต่อวัน เนื่องจากประชาชนหันมาใช้เชื้อเพลิงที่ถูกกว่าคือ เบนซิน 91 รวมทั้งประชาชนส่วนหนึ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) ในรถยนต์เพิ่มขึ้น 40.2% อยู่ที่ระดับ 1.46 ล้านกิโลกรัมต่อวัน และการหันไปใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (NGV) เพิ่มสูงขึ้น 57.9% หรือเฉลี่ยวันละ 13.7 ล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งมียอดติดตั้งเพิ่มสูงขึ้น 149% เพิ่มจากเดือนมกราคม 2549 จำนวน 10,818 คัน มาอยู่ที่ระดับ 26,933 คัน ในเดือนมกราคม 2550 และผลจากการเปิดสถานีให้บริการก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็น 104 สถานี สำหรับแก๊สโซฮอล์ มีการใช้ 3.4 ล้านลิตรต่อวัน การใช้ไม่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีจำนวนเอทานอลจำกัด ส่วนดีเซลบี 5เพิ่มขึ้นจาก 0.048 เป็น 0.46 ล้านลิตรต่อวัน
อย่างไรก็ตาม แม้การใช้น้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้น แต่การนำเข้าน้ำมันดิบเดือนแรกของปี 2550 ยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยลดลงร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2549 จากวันละ 826,000 บาร์เรล เหลือวันละ 712,000 บาร์เรล และทำให้มูลค่าการนำเข้าลดลง 24.6% จาก 62,078 ล้านบาท เหลือเพียง 46,799 ล้านบาท ส่วนการส่งออกน้ำมันก็สามารถสร้างรายได้กลับคืนให้ประเทศคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 13,047 ล้นบาท แบ่งเป็นส่งออกน้ำมันดิบ มูลค่าทั้งสิ้น 4,407 ล้านบาท และการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป มูลค่าทั้งสิ้น 8,640 ล้านบาท
ภาพรวมของการใช้น้ำมันกำลังจะเปลี่ยนไปตามนโยบายของกระทรวงพลังงานในการส่งเสริมพลังงานทดแทน เห็นได้จากการใช้น้ำมันเบนซิน 95 ลดลง เพราะประชาชนหันมาใช้แก๊สโซฮอล์ ดีเซลบี 5 และ NGV มากขึ้น และในปีนี้กระทรวงพลังงานก็มีนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และเร่งผลักดันการผลิตดีเซลบี 5 ซึ่งในอนาคตจะทำให้ประเทศสามารถลดการพึ่งพาการใช้นำเข้าน้ำมันลงได้อีกจำนวนมาก ส่งผลให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานสูงขึ้นเรื่อยๆ นายเมตตา กล่าว
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า การผลิตพลังงานไฟฟ้าในเดือนมกราคม 2550 อยู่ที่ระดับ 11,291 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปี 2549 5% โดยความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ในเดือนแรกของปีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม เวลา 19.00 น. อยู่ที่ระดับ 19,755 เมกะวัตต์
ด้านราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เดือนมกราคมที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงจากเดือนธันวาคม 2549 7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 8.07 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ โดยน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 51.69 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และเบรนท์ อยู่ที่ระดับ 54.23 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากสภาพความอบอุ่นในประเทศสหรัฐอเมริกายังมีต่อเนื่อง ประกอบกับโอเปคยังไม่ลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมนอกเหนือจากมติลดกำลังการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ที่จะลดลงอีก 500,000 ลิตร และผลของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สหประชาชาติคาดว่าจะชะลอตัวลง
ทั้งนี้ ผลของราคาน้ำมันดิบลดลงทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวลดลงเช่นกัน ทั้งเบนซินออกเทน 95 และ 92 ลดลงจากเดือนธันวาคม 2549 6.57 และ 6.71 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ มาอยู่ที่ระดับ 61.59 และ 60.31 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดีเซล ลดลง 3.86 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 66.07 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปัจจัยหลักที่มีผลต่อราคาน้ำมันดีเซล เนื่องจากประเทศจีนได้ชะลอการเข้าซื้อในตลาดเพราะความต้องการใช้ในประเทศลดลง โดยลดปริมาณการนำเข้าจากเดือนธันวาคม 2549 ประมาณ 10,000 ตัน มาอยู่ที่ระดับ 30,000 ตัน
จากราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับลดลง ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศลดลง 3 ครั้ง ดีเซลลดลง 2 ครั้ง ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ออกเทน 91 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 31 มกราคม 2550 อยู่ที่ระดับ 25.19 24.39 และ 22.54 บาทต่อลิตร ตามลำดับ
ราคาน้ำมันเดือนกุมภาพันธ์ 2550 (1-14 ก.พ.2550) ราคาน้ำมันสำเร็จรูปเบนซิน 95 และ 92 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.10 และ 3.23 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 64.70 และ 63.54 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยปัจจัยหลักที่สำคัญมาจาก จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ไต้หวัน และเกาหลี เข้าซื้อน้ำมันเบนซินก่อนเทศกาลตรุษจีน (วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2550) เช่นเดียวกับน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.21 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 71.29 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากอุณหภูมิในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐลดต่ำลงทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น และอุปทานน้ำมันดีเซลในเดือนมีนาคม 2550 อาจตึงตัวเนื่องจากโรงกลั่นในภูมิภาคโดยเฉพาะไต้หวันและอินเดียอยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุงประจำปี นอกจากนี้ราคา LPG ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ได้อ่อนตัวลงจากเดือนมกราคมที่ผ่านมา จากระดับ 547 เหรียญสหรัฐต่อตัน มาอยู่ที่ระดับ 526 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชดเชยอยู่ที่ระดับ 1.61 บาทต่อกิโลกรัม