MPA NIDA เตือนแบงก์ชาติรับมือบาทแข็งแนะตรึงดอกเบี้ยนโยบายรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

ข่าวทั่วไป Tuesday May 11, 2010 14:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า หรือ MPA NIDA เตือนรับมือเงินบาทแข็งค่า กระทบส่งออกในครึ่งปีหลัง หลังต่างชาติหนีวิกฤติเศรษฐกิจประเทศกรีซลามยุโรป โยกเงินลงทุนเข้าตลาดหุ้น-ตลาดเงินเอเชีย แนะแบงก์ชาติตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึงปลายปี รอดูท่าทีเศรษฐกิจโลกและปัจจัยการเมืองในไทย หวั่นซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (MPA NIDA) เปิดเผยว่า จากปัญหาวิกฤติทางการเงินของประเทศกรีซ ที่มีหนี้สาธารณะสูงถึง 115% ของจีดีพี ทำให้ต้องขอเข้ารับการช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และสหภาพยุโรป (อียู) จนกระทั่งลุกลามสู่ประเทศสเปนและโปรตุเกส ส่งผลให้สถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือประกาศปรับลดอันดับเครดิตของประเทศเหล่านี้ลง ทำให้มีความเป็นไปได้ที่นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดเงินยุโรป อาจจะโยกเงินและเพิ่มสัดส่วนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดเงินเอเชียแทน เพื่อหาผลตอบแทนจากการลงทุนมากขึ้น ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ค่าเงินสกุลเอเชียมีทิศทางแข็งค่ามากขึ้นจากการไหลเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งรวมถึงค่าเงินบาทของไทยที่อาจแข็งค่าขึ้นจากระดับปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 32.33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และหากค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ามากเกินไปย่อมส่งผลต่อการส่งออกที่ประเทศไทยยังต้องพึ่งพิงในสัดส่วนที่สูงถึง 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการพยุงเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ให้เป็นไปตามอัตราการเติบโตเป้าหมายในระดับ 4.5% “ผลกระทบที่เกิดจากวิกฤติการเงินของยุโรป อาจจะไม่กระทบโดยตรงกับประเทศไทย แต่ยังต้องจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งตลาดหุ้น อัตราดอกเบี้ย การส่งออก และค่าเงินบาท โดยเฉพาะเรื่องของค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หลังต่างชาติโยกเงินเข้ามาลงทุนในตลาดเอเชียและในไทยมากขึ้น ซึ่งแบงก์ชาติอาจจะเข้ามาดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไปจนส่งผลเสียต่อการแข่งขันในการส่งออกสินค้าของไทย” รศ.ดร.มนตรี กล่าว ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA NIDA กล่าวว่า ขณะทิ่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลังเชื่อว่ายังอยู่ในภาวะทรงตัว และเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนี้จากปัจจุบันที่ 1.25% จนกว่าจะถึงไตรมาส 4 เนื่องจากยังต้องรอประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองและวิกฤติการเงินของยุโรป ที่ส่งผลต่อเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่อาจเติบโตต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (ในนามหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป) โทร. 02-248-7967-8 ต่อ 118 Email address : c_mastermind@hotmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ