ก.ยุติธรรมประกาศผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2549

ข่าวทั่วไป Monday July 9, 2007 10:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--กระทรวงยุติธรรม
สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 ที่ รร.ริชมอนด์ นนทบุรี นายชาญชัญ ลิขิตจิตถะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นของกระทรวงยุติธรรมประจำปี พ.ศ.2549 และประกาศนียบัตรผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ซึ่งสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ จัดขึ้น โดยมีบุคลากรจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเข้าร่วมกว่า 200 คน
รมว.ยุติธรรม ให้โอกาสและมอบนโยบายแก่บุคลากรโดย กล่าวว่า รัฐบาลนี้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนากระบวนการยุติธรรมของประเทศและเล็งเห็นว่า กระบวนการยุติธรรม คือโครงสร้างพื้นฐานของสังคม ที่จะต้องเร่งรัดให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ จึงมีการกำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ เพื่อให้มีการกำหนดแผนการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีการดำเนินการไปในทิศทางที่มีความสอดคล้องกันและนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การสร้างความสงบเรียบร้อยและความผาสุกให้บังเกิดแก่สังคมไทย
นายชาญชัย กล่าวว่า บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความยุติธรรมในสังคม การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน และสามารถเข้าใจวัตถุประสงค์ของการบริหารงานยุติธรรมของประเทศในภาพรวมแบบบูรณาการได้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะส่งผลโดยตรงต่อประชาชนและสังคม การดำเนินการส่วนหนึ่งจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ รวมทั้งการวิจัยทางสังคมศาสตร์และนิติศาสตร์ เพราะการวิจัยเปรียบเสมือนเข็มทิศที่จะชี้นำให้กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบดำเนินไปในทิศทางที่เหมาะสม
ทั้งนี้ผลงานวิจัยดีเด่นของกระทรวงยุติธรรม ประจำปี 2549 ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “รูปแบบและวิธีการกระทำความผิดที่มีลักษณะเป็นคดีพิเศษและมาตรการในการป้องกันปราบปรามประเภทคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ” โดย สำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลชมเชยอีก 4 รางวัลได้แก่ งานวิจัยเรื่อง 1) “รูปแบบการกระทำความผิดและวิธีการดำเนินคดีพิเศษด้านคดีทรัพย์สินทางปัญญาและมาตรการป้องกันปราบปราม คดีพิเศษ 25/2547 กรณีปลอมเครื่องหมายการค้าสินค้ารองเท้า กระเป๋าชนิดต่าง ๆ” โดย สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ 2) “ทัศนะของพันธมิตรราชทัณฑ์ต่อการนำประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในงานราชทัณฑ์” โดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านอาชญาวิทยา สำนักวิจัยและพัฒนาระบบงานราชทัณฑ์ กรมราชทัณฑ์ 3) “รูปแบบและวิธีการกระทำผิดที่มีลักษณะเป็นคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ : ศึกษากรณีค้าหญิงและเด็ก-คดีพิเศษที่ (ปกปิด/2548)” โดย สำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ 4) “เบื้องหลังชีวิตของอาชญากรมืออาชีพ” โดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านอาชญาวิทยา สำนักวิจัยและพัฒนาระบบงานราชทัณฑ์ กรมราชทัณฑ์
นอกจากนี้ได้มอบประกาศนียบัตรแก่บุคลากรจากหน่วยงานต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรม จำนวน 147 ราย ที่ผ่านการอบรม หลักสูตร “การพัฒนาศักยภาพนักวิจัยในกระบวนการยุติธรรม” หลักสูตร “การพัฒนาศักยภาพผู้ช่วยนักวิจัยในกระบวนการยุติธรรม” หลักสูตรนักบริหารกิจการยุติธรรม : กระบวนการยุติธรรมทางแพ่งและพาณิชย์ และหลักสูตรหลักกระบวนการยุติธรรม.
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ