กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--กรมการค้าต่างประเทศ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) ได้เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยภายใต้ระบบสิทธิพิเศษ GSP สหภาพยุโรปในปี 2549 กรมฯ
ได้ออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า Form A จำนวนทั้งสิ้น 281,608 ฉบับคิดเป็นมูลค่าการส่งออกกว่า 5,150.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่าการส่งออกภายใต้สิทธิ GSP ของสหภาพยุโรปมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30.99 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่ไทยได้รับคืนสิทธิ GSP ใน 6 กลุ่มสินค้า ซึ่งประกอบด้วย สินค้ากลุ่มประมง (Chapter 03) กลุ่มอาหารปรุงแต่งและเครื่องดื่ม (Chapter 16 - 24) กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกและยาง (Chapter 39 - 40) กลุ่มรองเท้า (Chapter 64 - 67) กลุ่มแก้วและเซรามิก (Chapter 68 — 70) และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือนบางรายการ (Chapter 84 — 85) เป็นต้น
สำหรับรายการสินค้าสำคัญที่ส่งออกภายใต้ระบบ GSP ไปสหภาพยุโรปยังคงเป็นสินค้าในกลุ่มเครื่องปรับอากาศ รองเท้ากีฬา เลนส์แว่นตา สับปะรดกระป๋อง และผลิตภัณฑ์ยาง โดยในปี 2549 สัดส่วนของการเข้ามาใช้สิทธิฯ ส่งออกภายใต้ระบบ GSP อยู่ในระดับร้อยละ 33.92 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเฉพาะรายการที่ได้รับสิทธิฯ
นางอภิรดีฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่มีการใช้สิทธิ GSP สหภาพยุโรปน้อยนั้น เนื่องมาจากปัจจุบันอัตราภาษี MFN และ GSP ใกล้เคียงกันมาก ประกอบกับเกณฑ์การได้แหล่งกำเนิดภายใต้ระบบ GSP ของสหภาพยุโรปที่มีความเข้มงวดสูง จึงไม่จูงใจให้ผู้ส่งออกต้องมาใช้สิทธิภายใต้ GSP
กรมการค้าต่างประเทศจึงได้เร่งผลักดันและส่งเสริมให้ผู้ส่งออกใช้สิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากรเพื่อเป็นแต้มต่อทางการค้าและการส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ โดยในปี 2550 ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ในเชิงรุกและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดประชุม/ สัมมนา และ Workshop ประเด็นน่าสนใจ อาทิ เรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้าและมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTBs) เป็นต้น
ตลอดจนข้อได้เปรียบ และโอกาสที่จะได้รับจากการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร GSP สหภาพยุโรปผ่านสื่อกลางต่างๆ ที่เข้าถึงและสามารถสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อให้ผู้ส่งออกหันมาสนใจใช้ประโยชน์จากระบบสิทธิพิเศษ GSP ของสหภาพยุโรปให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป