กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--บีโอไอ
บีโอไอ จับมือศูนย์ความเป็นเลิศทางฟิสิกส์ แหล่งรวมอาจารย์จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และเครือข่ายคณะวิศวกรรมศาสตร์ นำผล R&D ช่วยพัฒนาชิ้นส่วนไทย คาดมีผลงานใช้จริงเชิงพาณิชย์ได้ถึง 10 ผลงาน หนุนผู้ประกอบการไทยบุกตลาดต่างประเทศ
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภายในงานซับคอนไทยแลนด์ 2010 (SUBCON Thailand 2010) ปีนี้ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 — 15 พฤษภาคม 2553 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค หน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือหน่วย BUILD (BOI Unit for Industrial Linkage Development) จะร่วมกับเครือข่ายคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภายใต้โครงการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีแก่ภาคอุตสาหกรรม (ITAP) ของสวทช. และศูนย์ความเป็นเลิศทางฟิสิกส์ หรือเทพเซ็นเตอร์ (Thep Center: Thailand Center of Excellence in Physics) ซึ่งเป็นแหล่งรวมอาจารย์ด้านฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เชียงใหม่ ม.สงขลา ม.บูรพา เป็นต้น จัดกิจกรรมพิเศษเพื่อนำความรู้ทางด้านวิศวกรรมและฟิสิกส์ รวมถึงผลงานด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) นำไปต่อยอดสำหรับช่วยให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น
โดยภายในงานจะมีการเจรจาจับคู่ร่วมกันระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย และ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และศูนย์เทพเซ็นเตอร์ เพื่อร่วมกันจัดทำ R&D หรือนำผลงาน R&D ที่มีอยู่แล้ว มาใช้สำหรับพัฒนาการผลิตสินค้าให้ใช้ได้จริง คาดว่าภายในงานจะมีการจับคู่การพัฒนาด้านดังกล่าวได้ ไม่ต่ำกว่า 50 คู่ และจะมีผลงานที่จะนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ได้ไม่ต่ำกว่า 10 ผลงาน เช่น การเพิ่มคุณสมบัติในการยึดติด และการเคลือบผิวด้วยเทคโนโลยีทางฟิสิกส์ เป็นต้น
“การจัดงานปีนี้จะเป็นครั้งสำคัญสำหรับความร่วมมือระหว่างหน่วย BUILD และภาคสถาบันการศึกษา รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการนำผลการวิจัย และพัฒนา มาช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตชิ้นส่วนที่มีศักยภาพ ตรงความต้องการของบริษัทผู้ซื้อมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และขยายตลาดของสินค้าจากผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศ” นางอรรชกา กล่าว
นางอรรชกา กล่าวเพิ่มเติมว่า งานซับคอนไทยแลนด์ 2010 ปีนี้ ยังมีการจัดสัมมนาในหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจ มากถึง 13 หัวข้อ ตลอดทั้ง 3 วัน โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ มาร่วมบรรยายให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการไทย อาทิ บีโอไอ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม กระทรวงพาณิชย์ ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด มหาชน และสมาคมบริหารงานจัดซื้อและซัพพลายเชนแห่งประเทศไทย
หัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน บทบาทบีโอไอกับการส่งเสริมเอสเอ็มอีไทย การเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันและสร้างทางเลือกใหม่ กลยุทธ์การขอสินเชื่อกับเอสเอ็มอีแบงก์ ยุทธการปั้นเอสเอ็มอีไทยบุกอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสไดร์ และกลยุทธ์เพิ่มโอกาสแก่เอสเอ็มอีไทยให้ก้าวไกลสู่อาเซียน เป็นต้น