กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--โอเอซิส มีเดีย
สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ร่วมกับ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัดทำรายงาน "ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน" หรือ Home Construction Cost Index (HCCI) ในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นรายไตรมาส โดยจัดทำครั้งแรกสำหรับข้อมูลประจำไตรมาส 1 ปี 2553 การจัดทำครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้วัดสถานการณ์ต้นทุนค่าก่อสร้างบ้าน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนของผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัย และประกอบการตัดสินใจสร้างบ้านของประชาชนทั่วไป และใช้เป็นฐานข้อมูลในการหาแนวโน้มหรือคาดการสถานการณ์การเติบโตของธุรกิจ รวมถึงสะท้อนภาวะเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งดัชนีดังกล่าวในหลาย ๆ ประเทศถือเป็นดัชนีสำคัญที่ใช้ประกอบการวิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ โดยทางสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน และศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์จะทำการรายงานดัชนีดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นอีกข้อมูลหนึ่งสำหรับผู้บริโภค และผู้ประกอบการที่สามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจปลูกสร้างบ้าน และการดำเนินธุรกิจในอนาคต
การจัดทำดัชนีดังกล่าวนอกจากจะเป็นความร่วมมือของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน และศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์แล้ว ยังได้รับความร่วมมือจาก สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอาคารชุดไทย ร่วมให้คำปรึกษาหารือก่อนที่จะจัดทำดัชนีดังกล่าวขึ้น โดยดัชนีค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน จะทำการเก็บข้อมูลและสำรวจเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้วัดความเคลื่อนไหวของค่าก่อสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งจากการทำดัชนีดังกล่าวโดยภาพรวมรายปี ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกปีตามดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง
โดยในปีฐาน 2543 ดัชนีมีค่าเท่ากับ 100.0 และปรับเพิ่มขึ้นเป็น 104.5 ในปี 2544 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนมีค่าดัชนีเท่ากับ 111.8 ในปี 2547 และ 125.4 ในปี 2551 ขณะที่ดัชนีปีล่าสุดคือปี 2552 ดัชนีมีค่าเท่ากับ 126.4 ในปี 2552 โดยจากกราฟจะสังเกตเห็นได้ว่าดัชนีของราคาวัสดุก่อสร้างจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วกว่าดัชนีค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน เนื่องจากที่ผ่านทั้งในส่วนของราคาน้ำมัน เหล็ก และวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ มีการปรับตัวสูงขึ้น และมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้านเองไม่ได้ปรับราคาบ้านเพิ่มมากนัก นอกจากนี้ในสัดส่วนในการคำนวนดัชนีจะมีความแตกต่างกัน อาทิ ราคาเหล็กจะมีสัดส่วน 26% สำหรับการคำนวนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง แต่จะมีสัดส่วนเพียง 11% เมื่อนำมาคำนวนดัชนีค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน
ในส่วนของตัวเลขรายไตรมาส ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ดัชนีค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานจะอยู่ที่ 127.7 ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 จะพบว่าดัชนีไม่ได้มีการปรับตัวสูงขึ้นมากนัก เนื่องจากก่อนหน้านี้ราคาวัสดุก่อสร้างมีการปรับตัวสูงขึ้นมากแล้ว ขณะเดียวกันผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้านเองก็ไม่ได้มีการปรับราคาบ้านมากนัก ขณะที่ในไตรมาสที่ 2 คาดว่าดัชนีน่าจะยังทรงตัว หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย