สรุปภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ ประจำเดือนเมษายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 12, 2010 16:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--ตลท. ในเดือนเมษายน 2553 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ปรับตัวค่อนข้างผันผวนและ ณ สิ้นเดือน ปรับลดลงร้อยละ 3.11 จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 763.51 จุด เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน สวนทางกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาคที่ปรับสูงขึ้นในเดือนนี้จากเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาในตลาดหุ้นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง สำหรับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ปรับลดลงมาอยู่ที่ 6,176,814.29 ล้านบาท ตามทิศทางของ SET Index ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ในเดือนเมษายน 2553 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 24,935.01 ล้านบาท ทรงตัวในระดับสูงและใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของเดือนมีนาคม 2553 โดยในเดือนเมษายน 2553 นักลงทุนต่างประเทศ นักลงทุนสถาบันในประเทศ และบริษัทหลักทรัพย์มีฐานะขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนบุคคลทั่วไปเป็นผู้ซื้อสุทธิ โดยนักลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ขายสุทธิที่มูลค่า 4,092 ล้านบาท หลังจากเป็นผู้ซื้อสุทธิในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา และมีสัดส่วนการซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 24.58 ของมูลค่าการซื้อขายรวม ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุดในรอบ 13 เดือน สำหรับประเภทของหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายพบว่า มีการกระจุกตัวในหลักทรัพย์ขนาดใหญ่มากขึ้น โดยสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายของหุ้นกลุ่ม SET10 เพิ่มมาอยู่ที่ร้อยละ 46 สูงสุดในรอบ 9 เดือน มูลค่าการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ในเดือนเมษายน 2553 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 19,427 สัญญา เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งเกิดจากปริมาณการซื้อขายของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures เป็นสำคัญ การระดมทุนในเดือนเมษายน 2553 บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนในรูปตราสารทุนรวม 125.61 ล้านบาท โดยเป็นการระดมทุนในตลาดรองเท่านั้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนของ บมจ. เอฟโวลูชั่น แคปปิตอล มูลค่า 85.80 ล้านบาท สำหรับมูลค่าการระดมทุนในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 อยู่ที่ 10,744 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.72 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1. ภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ไทย ในเดือนเมษายน 2553 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ปรับตัวลดลงจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงจนกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดย SET Index ปิดที่ระดับ 763.51 จุด ลดลงร้อยละ 3.11 จากเดือนก่อนหน้า โดย SET Index มีการเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน โดยปรับตัวสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกจากปัจจัยสนับสนุนด้านปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีและเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามายังตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า แต่กลับปรับตัวลดลงในช่วงที่เหลือของเดือนจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงขึ้น การปรับลดของ SET Index สวนทางกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาคที่ปรับสูงขึ้นตามสัญญาณของพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแรง เช่น การประกาศตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 1/2553 ของจีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ซึ่งขยายตัวในเกณฑ์สูงที่ร้อยละ 11.90 7.80 และ 13.10 ตามลำดับ จากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า (ที่มา: Bloomberg) รวมทั้งจากเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ยังไหลเข้ามาในตลาดหุ้นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ SET Index ที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ค่าอัตราส่วนระหว่างราคาหลักทรัพย์ ณ เวลาปัจจุบันและกำไรสุทธิต่อหุ้นคาดการณ์ (Forward P/E ratio) ของไทยปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 11.9 เท่า เป็น 11.3 เท่า ซึ่งต่ำกว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับ 13.5 — 16.8 เท่า ด้านดัชนีตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai Index) ปิดที่ 205.13 จุด ลดลงร้อยละ 3.44 จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) รวมของ SET และ mai ณ สิ้นเดือนเมษายน มีมูลค่า 6,176,814.29 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.08 จากเดือนก่อนหน้า ตามการปรับลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์เป็นสำคัญ 2. ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ ในเดือนเมษายน 2553 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันทรงตัวในระดับสูงและใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของเดือนมีนาคม 2553 โดยมูลค่าการซื้อขายอยู่ในระดับสูงในช่วงสัปดาห์ที่ 1 -3 ของเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อนปรับลดลงในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน โดยการซื้อขายหลักทรัพย์ใน SET และ mai มีมูลค่ารวม 408,830.17 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวัน 24,935.01 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.07 จากเดือนมีนาคม 2553 อย่างไรก็ตาม มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.72 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2552 และยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยรายวันของทั้งปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ 18,226.25 ล้านบาท เมื่อพิจารณามูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์รวมของ SET และ mai แยกตามประเภทนักลงทุน พบว่า ในเดือนเมษายน 2553 นักลงทุนบุคคลทั่วไปมีมูลค่าซื้อสุทธิ 9,698.46 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนประเภทอื่นเป็นผู้ขายสุทธิ โดยนักลงทุนต่างประเทศมีฐานะเป็นผู้ขายสุทธิ 4,092.49 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเปลี่ยนสถานะจากการซื้อสุทธิต่อเนื่องในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ — มีนาคม 2553 ในส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศและบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ขายสุทธิด้วยมูลค่าขายสุทธิ 4,334.46 ล้านบาท และ 1,271.85 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21.20 ในเดือนก่อนหน้า เป็นร้อยละ 24.58 ของมูลค่าการซื้อขายรวม ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุดในรอบ 13 เดือน ด้านมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์แยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า ในเดือนเมษายน 2553 สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในหมวดพลังงาน ธนาคารพาณิชย์ และปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย มาอยู่ที่ร้อยละ 31.70 26.67 และ 8.46 ตามลำดับ ทั้งนี้สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการย้ายหมวดธุรกิจของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) ซึ่งเคยถูกจัดอยู่ในหมวดธุรกิจการเกษตร (Agribusiness) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 เป็นต้นมา สำหรับสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายแยกตามกลุ่มหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) พบว่ามูลค่าการซื้อขายเกิดการกระจุกตัวในหลักทรัพย์ขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น โดยสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด 10 อันดับแรก (SET10) ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 38.32 ในเดือนมีนาคม 2553 เป็นร้อยละ 45.88 โดยทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 9 เดือนนับจากเดือนสิงหาคม 2552 ขณะที่สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุดอันดับ 31-50 (SET31-50) ปรับตัวลดลงอย่างมากจากร้อยละ 12.43 ในเดือนก่อนหน้า มาอยู่ร้อยละ 6.86 3. จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนมีนาคม 2553 ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นและเป็นสถิติสูงสุดใหม่ตั้งแต่ตลาดเปิดทำการซื้อขาย หลังจากมีแนวโน้มลดลงในช่วง 4 เดือนก่อนหน้า โดยมีจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนทั้งสิ้น 146,445 บัญชี ทั้งนี้สัดส่วนของบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือน (Active Rate) อยู่ที่ร้อยละ 25.70 และมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อบัญชีอยู่ที่ 3.75 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่มีสัดส่วนของบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนอยู่ที่ร้อยละ 19.35 และมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อบัญชีอยู่ที่ 2.59 ล้านบาท สำหรับจำนวนบัญชีการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตและมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต พบว่ามีการปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยในเดือนมีนาคม 2553 จำนวนบัญชีอินเทอร์เน็ตที่มีการซื้อขายในเดือนเท่ากับ 54,650 บัญชี เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.46 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2553 โดยมีมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น 118,414.67 ล้านบาท ทั้งนี้สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตต่อมูลค่าการซื้อขายรวมในเดือนมีนาคม 2553 อยู่ที่ร้อยละ 21.57 เพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 20.35 ในเดือนก่อนหน้า 4. สรุปภาวะตลาดอนุพันธ์ ในเดือนเมษายน 2553 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 19,427 สัญญา เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.09 จากเดือนมีนาคม 2553 ที่สำคัญจาก SET50 Index Futures ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.56 และการซื้อขาย Single Stock Futures ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.46 เป็นสำคัญ โดยในเดือนเมษายน 2553 มีปริมาณการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์รวม 349,679 สัญญา เพิ่มขึ้นร้อยละ4.20 เดือนมีนาคม 2553 นอกจากนี้ ในเดือนเมษายน 2553 SET50 Index Options มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 13,942 สัญญา ซึ่งเป็นปริมาณการซื้อขายสูงสุดในรอบ 11 เดือนนับจากที่เคยสูงสุดที่ 14,905 สัญญาในเดือนมิถุนายน 2552 ขณะที่ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันของ Gold Futures ในเดือนนี้อยู่ที่ 2,483 สัญญา เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.63 จากเดือนมีนาคม 2553 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความสนใจของนักลงทุนที่มากขึ้นตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นจาก 1,109.50 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยเอานซ์ (Troy Ounce) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 เป็น 1,175.25 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อ Troy Ounce ณ สิ้นเดือนเมษายน 2553 5. ภาพรวมการระดมทุน ในเดือนเมษายน 2553 บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนทั้งหมด 125.61 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 95.61 จากเดือนก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.20 จากเดือนเมษายน 2552 โดยในเดือนเมษายน 2553 มีเพียงการระดมทุนในตลาดรองเท่านั้น โดยการระดมทุนส่วนใหญ่เกิดจากการระดมทุนของบริษัท เอฟโวลูชั่น แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (E) มูลค่า 85.80 ล้านบาท ซึ่งเป็นการระดมทุนจากผู้ถือหุ้นในวงจำกัด (PP) และการระดมทุนของบริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) (PTTAR) มูลค่า 24.17 ล้านบาท ซึ่งเป็นการระดมทุนจากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิ์ (XE) ขณะที่ภาพรวมการระดมทุนในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่า 10,743.81 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.72 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จัดทำโดยฝ่ายวางแผนกลยุทธ์องค์กร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. S-E-T Call Center 0-2229-2222 ติดต่อส่วนประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229—2036 / กนกวรรณ เข็มมาลัย โทร. 0-2229—2048 / ณัฐยา เมืองแมน โทร. 0-2229-2043

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ