กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ สำนักงานให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการเยอรมัน (GTZ) ขยายกรอบความร่วมมือในเฟสที่ 3 หวังพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยอย่างยั่งยืน เสริมสร้างขีดสามารถการแข่งขันด้านการตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า นับตั้งแต่ปี 2545 วว. และ GTZ ได้ร่วมกันจัดทำโครงการ “การส่งเสริมการให้บริการที่ปรึกษาทางวิชาการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีการผลิตและกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร” มีเป้าหมายหลักในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร โดยให้บริการด้านที่ปรึกษาและข้อมูลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างครบวงจร บัดนี้ ทั้งสองหน่วยงานจะได้ขยายกรอบความร่วมมือสู่ระยะที่ 3 ซึ่งจะได้ขยายขอบเขตการให้บริการแก่กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารขนาดกลางและขนาดย่อมให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการได้อย่างยั่งยืน
“...ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตอาหารมากกว่า 8,000 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อม ถึงร้อยละ 97 อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมเหล่านี้ ยังคงประสบปัญหาต่างๆ ทั้งด้านเงินทุน การเข้าถึงเทคโนโลยี กระบวนการผลิต การตลาด การขาดแคลนเครื่องจักรที่เหมาะสม ตลอดจนการสูญเสียวัตถุดิบในระหว่างการผลิต ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต ....ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา วว. ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนการผลิตของผู้ประกอบการอาหารส่งออกมากกว่า 20 ราย ให้นำเทคโนโลยีต่างๆ ไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพการผลิตของผู้ประกอบการอาหารไทย ช่วยให้สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในและต่างประเทศ...” ผู้ว่าการ วว.กล่าว
น.ส.พิศมัย เจนวนิชปัญจกุล รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนา วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นเป้าหมายของโครงการฯ นั้นล้วนเป็นอุตสาหกรรมอาหารที่มีบทบาทต่อประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปผักผลไม้ อุตสาหกรรมชากาแฟ และอุตสาหกรรมอาหารพร้อมบริโภค ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญของทั้ง วว.และ GTZ พร้อมที่จะให้บริการเป็นที่ปรึกษาแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งในด้านของการออกแบบและพัฒนาเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร การพัฒนากระบวนการ/เทคโนโลยีการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร การปรับปรุงกระบวนการผลิต รวมทั้งการให้คำปรึกษาในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพต่างๆ ตลอดจนยังให้บริการทางด้านข้อมูลข่าวสารด้านอาหารผ่านเว็บไซด์ www. tistr-foodprocess.net รวมทั้งโครงการฯ ยังได้จัดทำจดหมายข่าวรายเดือนให้กับสมาชิกที่มีกว่า 300ราย ได้ติดตามความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมอาหารอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร สนใจติดต่อขอรับบริการสามารถบริการได้ที่ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร วว. โทร 0 25779000 (ในวันและเวลาราชการ)
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net