ไฟป่า ภัยร้ายในช่วงหน้าแล้ง

ข่าวทั่วไป Monday March 12, 2007 11:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--ปภ.
ในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ฤดูร้อน หรือหน้าแล้ง และอิทธิพลปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้มาเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ประกอบกับ ลักษณะอากาศโดยทั่วไปมีความแห้งแล้ง ลมกระโชกแรง ทำให้เพิ่มโอกาสและความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยและไฟป่าในช่วงดังกล่าว ซึ่งปรากฎการณ์เอลนิโญนี้ยังส่งผลกระทบให้ฤดูกาลไฟป่ากินระยะเวลายาวนานและรุนแรงกว่าทุกปี ดังเช่น การเกิดไฟป่าขึ้นในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศ ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันพิษ ฝุ่นละออง ทำให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ไม่ดี ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้สัญจรไปมาในพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดไฟป่าในช่วงหน้าแล้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอนำเสนอสาเหตุและวิธีการป้องกัน
ไฟป่า ในช่วงหน้าแล้ง รวมทั้งวิธีการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและปลอดภัยเมื่อเกิดไฟป่า เพื่อลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอันเกิดจากไฟป่า ดังนี้
สาเหตุที่ทำให้เกิดไฟป่า
สถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นในช่วงหน้าแล้งนี้ มีสาเหตุมาจากธรรมชาติและจากการกระทำของมนุษย์ ไฟป่าที่เกิดจากธรรมชาติมาจากหลายสาเหตุ เช่น ฟ้าผ่า กิ่งไม้เสียดสีกัน ภูเขาไฟระเบิด ก้อนหินกระทบกัน การลุกไหม้ในตัวเองของสิ่งมีชีวิต และจากสภาพความแห้งแล้งของธรรมชาติเอง เป็นต้น ส่วนใหญ่พบว่า
ไฟป่าเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์นั่นเอง ได้แก่
1. การหาของป่า ถือเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดไฟป่าในประเทศไทย เป็นเพราะหลายคนใช้วิธีการจุดไฟเพื่อหาของป่า เช่น ตีผึ้ง เก็บไข่มดแดง ผักหวาน หน่อไม้ เห็ด ใบตองตึง เก็บฟืน แล้วมักลืมดับไฟให้สนิทก่อนออกจากป่า
2. การล่าสัตว์ ผู้ที่เข้าป่าเพื่อการล่าสัตว์ มักนิยมจุดไฟเพื่อให้สัตว์หนีออกจากที่ซ่อน แล้วลืมดับไฟให้สนิทก่อนออกจากป่าก็จะทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้นได้
3. การเผาไร่ เผากำจัดวัชพืชเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูก โดยไม่ได้ทำแนวกันไฟและควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดทำให้ไฟลุกลามเข้าไปไหม้ป่าที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
4. การเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรมักจุดไฟเผาหญ้าในบริเวณใกล้พื้นที่ป่าไม้ เพื่อให้หญ้าแตกใบอ่อนเป็นอาหารของสัตว์ แล้วมักลืมดับไฟให้สนิทก่อน ทำให้ไฟลุกลามไหม้ป่าได้
5. การเข้าไปท่องเที่ยวในป่า นักท่องเที่ยวมักก่อกองไฟในการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อใช้ชีวิตในป่า เช่นการหุงต้มอาหาร การจุดไฟให้แสงสว่างและให้ความอบอุ่น แล้วดับไม่สนิทเกิดเป็นไฟป่าได้ในที่สุด
6. การลักลอบตัดไม้ การเผาทางให้โล่งเตียนเพื่อความสะดวกในการลากไม้
7. การความขัดแย้ง ชาวบ้านอาจเกิดความขัดแย้งกับหน่วยราชการในพื้นที่แล้วแกล้งจุดไฟเผาป่า
การป้องกันการเกิดไฟป่า
ในแต่ละครั้งที่เกิดไฟป่าขึ้นก่อให้เกิดความสูญเสียมากมายต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยาจุลินทรีย์ในดินถูกความร้อนทำลายจนดินขาดความสมบูรณ์ทำให้ความสามารถในซึมซับน้ำของดินลดลง สัตว์และพืชตายและบางชนิดสูญพันธ์ นอกจากนี้ ควันและก๊าซพิษของไฟป่ายังทำให้เกิดภาวะมลพิษ และปรากฎการณ์เรือนกระจกขึ้นได้ และยังเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนด้วย เนื่องจากเวลาเกิดไฟป่าควันไฟจะปกคลุมเส้นทางการจราจร ทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางลดลง จึงก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้มากขึ้น ดังนั้น กรมป้องกัน ฯ จึงขอให้ทุกคนช่วยกันป้องกันการเกิดไฟป่า ดังต่อไปนี้
เพื่อเป็นการบรรเทาความรุนแรงของปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นในช่วงหน้าแล้งนี้ ขอให้ประชาชนงดเว้นการเผาตอซังข้าวในที่นา และงดการเผาเศษวัสดุ ใบไม้ และกิ่งไม้ เพราะเมื่อจุดไฟทิ้งไว้แล้วดับไฟไม่สนิท ไฟอาจลุมลามจนเป็นสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนและไฟป่าได้ สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องเผาขย ควรคอยควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด โดยจัดเตรียมน้ำไว้ใกล้ๆ เพื่อป้องกันไฟลุกลามไปติดบริเวณบ้านเรือน
ส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวป่าควรศึกษาวิธีการใช้ไฟในป่าหรือการก่อกองไฟในป่าไม้ เมื่อท่านมีความรู้ในเรื่องการป้องกันอันตรายเรื่องไฟป่าแล้ว ท่านควรบอกกล่าวหรือตักเตือนผู้ร่วมทางหรือคณะท่องเที่ยวที่มาด้วยกัน เพื่อจะได้ปฏิบัติตนให้ถูกต้อง เช่น ไม่ทิ้งก้นบุหรี่ลงในพื้นดินโดยไม่ดับเสียก่อน ตรวจดูกองไฟให้ดับสนิท ก่อนออกจากพื้นที่ เป็นต้น
หากพบเหตุการณ์ไฟป่า ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิง เจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่า หรือเจ้าหน้าที่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในจังหวัด เพื่อประสานการระงับไฟป่าไปยังศูนย์ฯในพื้นที่ทุกอำเภอ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และในระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่ควรช่วยกันดับไฟไปก่อนลุกลามใหญ่โต แต่ต้องระมัดระวังและคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองด้วย
นอกจากจะร่วมกันป้องกันการเกิดไฟป่าแล้ว ทุกคนควรช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในหน้าแล้งนี้ โดยเฉพาะสถานการณ์ภัยแล้ง การขาดน้ำในการอุปโภคบริโภค ด้วยการช่วยกันประหยัดน้ำโดยเริ่มจากการใช้น้ำในชีวิตประจำวัน และควรร่วมกันระมัดระวังไม่ให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นทั้งจากไฟป่า และไฟไหม้อาคารบ้านเรือน เพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์ความแห้งแล้งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมว่า
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ โทร./โทรสาร. 0-2243-0674 e-mail : public @ disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ