ปตท. ส่งเสริมการใช้ก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ทดแทนการใช้ CNG ในพื้นที่ห่างไกลแนวท่อ ส่งก๊าซฯ และสถานีบริการหลัก NGV (Mother Station)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 17, 2010 15:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--ปตท. นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง “โครงการทดลองพัฒนาก๊าซชีวภาพที่ได้จากมูลสัตว์เพื่อการคมนาคม จังหวัดเชียงใหม่” ระหว่าง ปตท. โดย นายวิชัย พรกีรติวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ และ บริษัท ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) โดย นายกิตติ ชีวะเกตุ กรรมการผู้จัดการ นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยถึงสาระสำคัญของสัญญาฯ ว่า ปตท. และ บริษัท ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) จะร่วมมือกันในการดำเนินโครงการทดลองพัฒนาก๊าซชีวภาพที่ได้จากมูลสัตว์เพื่อการคมนาคม โดย บริษัท ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้ผลิตและปรับปรุงคุณภาพก๊าซชีวภาพจากมูลสุกรของโรงเลี้ยงสัตว์ บริษัท มงคล แอนด์ ซันส์ฟาร์ม จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นก๊าซชีวภาพอัด หรือ Compressed Bio-methane Gas (CBG) ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในยานยนต์ ตามมาตรฐานและข้อกำหนดของ กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน โดย ปตท. จะรับซื้อก๊าซชีวภาพอัดในราคาที่เหมาะสมจากบริษัทฯ เพื่อนำไปจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ทดแทนการใช้ก๊าซ CNG ในพื้นที่ห่างไกลแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีบริการหลัก NGV (Mother Station) ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความสามารถในการผลิตก๊าซชีวภาพอัดประมาณ 6.5 ตันต่อวัน ทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลประมาณ 6,400 ลิตรต่อวัน หรือ ก๊าซหุงต้ม (LPG) ประมาณ 5,000 กิโลกรัมต่อวัน นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือกันในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยให้ประชาชนมีทางเลือก และได้รับความสะดวกในการใช้พลังงานทดแทนเป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะราคาน้ำมันที่มีความผันผวนตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกและลดภาระการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศแล้ว ยังจะทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากมูลสุกร โดยการนำของเสียที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้วมาทำให้เกิดคุณค่า ส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการฟาร์มเลี้ยงสัตว์อย่างมีคุณภาพครบวงจร ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนอีกด้วย โทรศัพท์ 0-2537-3217 ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โทรสาร 0-2537-3211 14 พฤษภาคม 2553

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ