กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากเอกสารรายงานของหน่วยงาน ความปลอดภัยด้านอาหารประจำสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority : EFSA) แจ้งว่า
คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกมาตรการให้ประเทศสมาชิกทั้ง 27 ประเทศ ตรวจเข้มเพื่อหาการปนเปื้อนของสารเมลามีนในสินค้าประเภท wheat gluten, corn gluten, soy protein, rice bran และ rice protein concentrate ที่นำเข้าจากประเทศที่สาม โดยเฉพาะจากจีน โดยให้ประเทศสมาชิกรายงานผลการตรวจเข้าระบบ Rapid Alert System for Food and Feed (RASFF) และกำหนดค่าปนเปื้อนเมลามีนที่อนุโลมให้มนุษย์และสัตว์เลี้ยงบริโภคได้ต่อวัน (Tolerable Daily Intake : TDI) ที่ระดับ 0.5 mg/kg body weight perday โดยค่า TDI ดังกล่าว จะครอบคลุมสาร ammeline ammelide และ cyanuri acid ซึ่งเป็นสารประเภทเดียวกับเมลานีน นอกจากนี้ ตามระเบียบ Commission Directive EC No.2002/72 of 6 August 2002 ได้กำหนดค่า TDI ของสารเมลามีนในภาชนะที่สัมผัสอาหารที่ระดับ 30 mg/kg ด้วย
การออกมาตรการดังกล่าวของอียูเป็นผลสืบเนื่องจากหน่วยงาน U.S.Food and Drug (USFDA) ของสหรัฐฯ ตรวจพบการปนเปื้อนของสารเมลามีนในสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่นำเข้าจากจีน ส่งผลให้สุนัขและแมวในสหรัฐฯ และแอฟริกาใต้ที่บริโภคอาหารสัตว์เลี้ยงดังกล่าวล้มป่วยและตายเป็นจำนวนมาก USFDA จึงประกาศระงับการนำเข้ากลูเต็นที่ผลิตจากแป้งสาลี (Wheat Gluten) ที่นำเข้าจากจีน
ค่า TDI ของสารเมลามีนที่อนุโลมให้มนุษย์และสัตว์เลี้ยงบริโภคได้ต่อวันดังกล่าว เป็นค่าที่ตั้งขึ้นเป็นการชั่วคราวและสอดคล้องกับค่า TDI ที่ USFDA กำหนด ซึ่งหากภายหลังอียูมีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัดแล้ว จะมีการปรับลดค่าดังกล่าวให้สอดคล้องกับผลการวิจัยนั้น ๆ นอกจากนี้ EFSA แจ้งว่ายังมีการใช้เมลามีนผสมในอาหารสำเร็จรูป เช่น ขนมปัง เส้นพาสต้า พิซซ่า อาหารสำหรับเด็ก และอาหารสำหรับผู้แพ้กลูเต็นด้วย คณะกรรมาธิการยุโรปจึงออกมาตรการให้ประเทศสมาชิกทั้ง 27 ประเทศ ตรวจเข้มเพื่อหาการปนเปื้อนของสารเมลามีนในสินค้าประเภท wheat gluten, corn gluten, soy protein, rice bran และ rice protein concentrate ที่นำเข้าจากประเทศที่สาม โดยเฉพาะจากจีน โดยให้ประเทศสมาชิกรายงานผลการตรวจเข้าระบบ Rapid Alert System for Food and Feed (RASFF)
ในปี 2549 ไทยส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไปอียู มูลค่า 2,660 ล้านบาท ปี 2550 (ม.ค. — พ.ค.) มูลค่า 1,041 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในส่วนของวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ไทยนำเข้า ได้แก่ Wheat gluten และปลาป่น ซึ่งไทยนำเข้าจากจีนในปริมาณไม่มากนัก และหน่วยงานตรวจสอบของไทย ได้แก่ กรมประมง และกรมปศุสัตว์ก็ได้มีการตรวจสอบการปนเปื้อนอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมลามีนซึ่งเป็นสารที่กรมปศุสัตว์ห้ามนำเข้าอยู่แล้ว อย่างไรก็ดีเพื่อความมั่นใจว่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่นำเข้าจะไม่มีสารเมลามีนปนเปื้อน
ผู้ประกอบการควรขอใบรับรองการตรวจสอบสารเมลามีนในสินค้าประเภท wheat gluten จากประเทศผู้ส่งออกด้วย เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกันรวมทั้งป้องกันการถูกตรวจเข้ม ณ ด่านนำเข้าของอียูด้วย อธิบดีกล่าวในท้ายสุด