คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2550 มีมติเห็นชอบแก้ไขประกาศและเห็นชอบในหลักการ เกี่ยวกับการจัดการกองทุนรวม

ข่าวทั่วไป Thursday May 10, 2007 08:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--ก.ล.ต.
คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2550 มีมติเห็นชอบแก้ไขประกาศและเห็นชอบในหลักการ เกี่ยวกับการจัดการกองทุนรวม ดังนี้
1) แก้ไขประกาศอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมปรับรูปแบบการให้บริการจาก “สำนักบริการ” เป็น “สำนักงานสาขาเต็มรูปแบบ” และ “สำนักงานสาขาออนไลน์”
คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติอนุมัติการแก้ไขประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการขออนุญาต และการอนุญาตให้บริษัทจัดการมีสำนักงานสาขา โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้การขอมีสำนักงานสาขาสามารถทำได้สะดวกขึ้น และปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการจาก “สำนักบริการ” ซึ่งให้บริการเฉพาะด้านการตลาด ได้แก่ รับคำขอเปิดบัญชีซื้อขายหน่วยลงทุนเพื่อส่งต่อให้สำนักงานใหญ่พิจารณาอนุมัติ แจกจ่ายหนังสือชี้ชวน ให้คำแนะนำ และรับส่งคำสั่งซื้อขายหน่วยลงทุน มาเป็น “สำนักงานสาขาเต็มรูปแบบ” และ “สำนักงานสาขาออนไลน์” โดย “สำนักงานสาขาเต็มรูปแบบ” สามารถให้บริการแก่ผู้ลงทุนได้เสมือนสำนักงานใหญ่ ทั้งด้านการตลาด การจัดการลงทุน และด้านปฏิบัติการ รวมถึงการพิจารณาอนุมัติเปิดบัญชีซื้อขายหน่วยลงทุน ส่วน “สำนักงานสาขาออนไลน์” จะมีกรอบการให้บริการเฉพาะด้านการตลาดเหมือนสำนักบริการเดิมแต่จะต้องจัดให้มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และระบบเชื่อมโยงระบบงานกับสำนักงานใหญ่ เพื่อให้ลูกค้าส่งคำสั่งซื้อขายได้ด้วยตนเอง และต้องมีผู้ติดต่อผู้ลงทุนประจำอย่างน้อย 1 คน ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Web Cam) ก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อขยายช่องทางการประกอบธุรกิจให้มีศักยภาพ เข้าถึงผู้ลงทุนได้อย่างกว้างขวาง รองรับธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ บริษัทจัดการสามารถยื่นคำขออนุญาตจัดตั้งสำนักงานสาขาเต็มรูปแบบและสำนักงานสาขาออนไลน์ล่วงหน้า 15 วันทำการก่อนเริ่มเปิดดำเนินการ และหาก ก.ล.ต. ไม่แจ้งปฏิเสธภายใน 15 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานครบถ้วน ให้ถือว่าได้รับอนุญาต
2) การแบ่งชนิดหน่วยลงทุนเป็นหลายชนิดในกองทุนรวมเดียวกัน (multi-class)
คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบหลักการเกี่ยวกับการแบ่งชนิดหน่วยลงทุนเป็นหลายชนิดในกองทุนรวมเดียวกันได้ (multi-class) โดยอนุญาตให้มีการแบ่งชนิดหน่วยลงทุน (class) ตามสิทธิประโยชน์ในผลตอบแทน ดังนี้
(1) แบ่งชนิดตามค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม
(2) แบ่งชนิดตามนโยบายการจ่ายเงินปันผล
(3) แบ่งชนิดตามระยะเวลาการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
(4) แบ่งชนิดตามผลประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุน
(5) อื่นๆ ตามที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.
ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทางเลือกในการจัดตั้งกองทุนรวมและตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุน ซึ่งสามารถยอมรับความเสี่ยงและมีความต้องการในผลตอบแทนที่แตกต่างกัน โดยการอนุญาตดังกล่าวจะใช้เฉพาะกับกองทุนใหม่เท่านั้น ซึ่งหลักการของ multi-class ดังกล่าวได้รับความสนับสนุนด้วยดีจากทั้งสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม และตัวแทนบริษัทจัดการ และคาดว่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวในธุรกิจกองทุนรวมได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ