กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--สมาพันธ์ช่วยภาครัฐลดปัญหาแอลกอฮอล์
มาตรการห้ามโฆษณาอย่างสิ้นเชิงและยิ่งยวด ทั้งห้ามเร่ขาย ห้ามชิม ห้ามแสดงสินค้า ภายใต้ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระหน่ำธุรกิจสุราพื้นบ้านและไวน์ไทยสิ้นซาก เกษตรกรหนี้สินรุงรังจากหลายสถาบันการเงิน ไร่ผลไม้ ธัญพืช วัตถุดิบชั้นเยี่ยมของสุราพื้นบ้านและไวน์ไทยค้างเติ่ง ทั้งระบบสูญเสียกว่า 16,000 ล้านบาท ชาวไร่บ่นท้อแท้เคยปลูกพืชเศรษฐกิจอยู่ดีดี ถูกกระตุ้นให้หันมาปลูกผลไม้เพื่อรองรับธุรกิจสุราพื้นบ้านและไวน์ไทย กลับขาดทุนย่อยยับ ใครจะรับผิดชอบชีวิตและครอบครัว
สมาพันธ์ช่วยภาครัฐลดปัญหาแอลกอฮอล์แห่งชาติ (สชอ.) ร่วมกับเครือข่ายสุราพื้นบ้านและไวน์ไทย ประชุมระดมความคิดเห็นเรื่อง “วิกฤติสุราชุมชนและไวน์ไทย ภายใต้ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” โดยมีผู้ผลิตสุราชุมชนและไวน์ไทยกว่า 100 ราย ทั่วประเทศเข้าร่วม
นายประพล มิลินทจินดา ประธานคณะทำงานด้านบริหารและประสานงาน สมาพันธ์ช่วยภาครัฐลดปัญหาแอลกอฮอล์แห่งชาติ (สชอ.) กล่าวว่า “สชอ. จัดเวทีนี้เพื่อให้เครือข่ายสุราพื้นบ้านและไวน์ไทยได้มีช่องทางในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้รับรู้ปัญหาของทั้งระบบ ซึ่งในอนาคตผู้บริโภคควรจะได้รับรู้กระบวนการของการผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เวทีนี้จึงเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสุราพื้นบ้านและไวน์ไทยได้ทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และระดมความคิดเห็นเพื่อปกป้องเศรษฐกิจชุมชน ปกป้องภูมิปัญญาไทย และทำให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง”
ดร.เจริญ เจริญชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านสุราพื้นบ้านและไวน์ไทย ให้ข้อมูลด้านพัฒนาการของสุราพื้นบ้านและไวน์ไทยว่า กฎหมายห้ามผลิตสุราเริ่มในปี 2493 และมีการปรับเปลี่ยน ผ่อนคลาย มาตลอด ยุคที่บูมที่สุดคือเมื่อปลายปี 2545 ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ให้ผลิตสุราแช่ได้ ทำให้มีผู้สนใจขออนุญาตผลิตเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเป็นช่วงที่รัฐบาลส่งเสริมโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ แม้กลุ่มเกษตรกรที่ไม่เคยทำสุรา ก็ได้รับคำแนะนำให้มาผลิตไวน์หรือสาโท ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความรู้
และประสบการณ์ ในช่วงปลายปี 2545 จึงเป็นช่วงบูมของสุราแช่ โดยมีงานเทศกาลสุราแช่ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้ผลิตจำนวนมากไปร่วมออกงาน และจำหน่ายสาโทได้เป็นจำนวนมาก สุราชุมชนที่จำหน่าย ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี และล่าสุดกฎหมายห้ามอย่างสิ้นเชิงและยิ่งยวดก็หวนกลับมาซึ่งไม่ต่างจากพระราชบัญญัติสุราครั้งแรก ในปี 2493 และทำให้มองได้ว่า การออกกฎหมาย แต่ละครั้งเกิดจากกลุ่มบุคคลกลุ่มเดียวเท่านั้น มาตรการที่กำหนดจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคม
นายวิสุทธิ์ โลหิตนาวี นายกสมาคมผู้ประกอบการไวน์ไทย กล่าวถึง ผลกระทบจากพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อธุรกิจไวน์ไทย ว่า “ขณะนี้ เป็นสถานการณ์ที่น่าเหนื่อยใจ การห้ามโฆษณามันกว้างมาก หมายรวมถึงป้ายต่างๆ อย่างที่พวกเราทำไวน์ ของเราสถานที่ท่องเที่ยวด้วย นักท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หนึ่งของพวกเรา ก่อนหน้านี้ไวน์ไทยกำลังเติบโตไปด้วยดี เพราะผู้ประกอบการมีการปรับปรุงตลอดเวลา มาชะงักตอนที่ทาง อย. มีคำสั่งห้ามไม่ให้โฆษณา ถือว่าตอนนี้ผลกระทบเกิดขึ้นแล้ว เราสูญเสียโอกาสทางธุรกิจแล้วครับ”
ผู้ผลิตสุราชุมชนและไวน์ไทยกล่าวถึงสภาพปัญหาของอุตสาหกรรมชุมชนว่า ในอดีตรัฐบาลได้ส่งเสริมให้เกิดการผลิตสุราชุมชนอย่างล้นตลาด โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการผลิตและการตลาดอย่างจริงจังมีปัญหาการแข่งขันด้านราคากับเหล้าโรง ผู้ผลิตไม่คำนึงถึงคุณภาพของสุรา เนื่องจากต้องการลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด การกีดกันช่องทางการจัดจำหน่ายของผู้ผลิตรายย่อยจากบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ กล่าวคือ บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ได้ออกคำสั่งห้ามว่า ถ้าตัวแทนจำหน่ายจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชาวบ้าน ก็ต้องยุติการจำหน่ายสินค้าของบริษัท ขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาล เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายของภาครัฐ จากเดิมที่เคยมีการจัดงานเทศกาลต่างๆ เช่น เทศกาลสุราแช่ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคคนไทย และการส่งออกไวน์และสุราพื้นบ้าน
พวกเรากำลังถูกรังแกจากภาครัฐ สุราชุมชนกำลังอยู่ในภาวะคับขัน ทั้งต้องต่อสู้กันเอง ต่อสู้กับรายใหญ่ และต่อสู้กับการถูกรังแกจากรัฐฯ จากปัญหาทั้งหมด ส่งผลให้ผู้ผลิตไวน์และ สุราพื้นบ้านรายย่อย ต้องแบกรับภาระหนี้สินจากการลงทุนกว่า 16,000 ล้านบาท และมีการ ปิดกิจการลงอย่างมาก จำนวนผู้ผลิตไวน์ลดลงจาก 2,000 ราย เหลือเพียง 250 ราย หรือลดลง 13% จำนวนผู้ผลิตสุรารายย่อยลดลงจาก 8,500 ราย เหลือเพียง 350 ราย หรือลดลง 96%
นายสมบูรณ์ แก้วเกรียงไกร เลขาธิการสมาคมสุราแช่สุรากลั่นพื้นบ้านภาคอีสาน กล่าวว่า สุราชุมชนกว่า 6,000 รายในปัจจุบัน เหลือที่ดำเนินการอยู่จริงๆประมาณ 1,000 กว่าราย ผมโทรไปหาพี่น้องเท่าที่มีรายชื่ออยู่ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่บอกว่ายังไม่ปิดกิจการ(ตามนิตินัย) แต่ไม่ได้ดำเนินการใดๆต่อเนื่อง มีบ้างที่สรรพสามิตมาบังคับให้เคลื่อนไหวบ้าง เช่นซื้อแสตมป์โรงละ 100, 200, 300, 500 ดวง มิเช่นนั้นจะไม่ต่อใบอนุญาตให้ นายวิมล สุขประเสริฐ จากห้างหุ้นส่วนจำกัด เทคนิคไวน์เนอรี จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า การห้ามโฆษณาโดยสิ้นเชิง ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถประชาสัมพันธ์สินค้าของตัวเองให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถขายสินค้าได้ และในที่สุดต้องขาดทุน ปิดกิจการ เป็นหนี้ธนาคาร ขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบลูกโซ่ต่อไปยังเกษตรกร ทำให้เกษตรกรขาดรายได้จากการขายธัญพืชเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสุราพื้นบ้าน
“ประมวลผลกระทบได้ว่า การห้ามเร่ขาย ห้ามแสดงสินค้า ห้ามประกวดสินค้า การกำหนดเวลา/ สถานที่ขาย ทำให้สุราชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นสินค้าหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลล่มสลาย ซึ่งมิได้หมายความเพียงแค่ ผู้ผลิตกว่า 8,000 ราย ที่ต้องแบกรับภาระหนี้สินรวมมูลค่าแล้วกว่า 16,000 ล้านบาท หรือคนอีก 300,000 รายที่ต้องตกงาน แต่ยังทำให้ระบบของความเป็นชุมชนเข้มแข็งอ่อนแอ ภูมิปัญญาไทยสูญหาย เศรษฐกิจชุมชนล้มละลาย ของเถื่อนที่เคยทำให้ถูกต้องตามกฎหมายจะกลับมา เพราะวิถีชุมชนเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ จากเคยพัฒนา ส่งเสริมให้สินค้ามีคุณภาพ มี แบรนดิ้ง และมีช่องทางในการจำหน่ายสำหรับสุราชุมชน พ.ร.บ. นี้กลับมาปิดช่องทางจำหน่าย ซึ่งทำให้การเดินทางของสุราชุมชนต้องย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง และยิ่งย่ำแย่หนักกว่าเดิม”
สรุปข้อเสนอที่ผู้ผลิตสุราเตรียมจะยื่นให้กับคณะกรรมมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันนี้คือ การระบุใน พ.ร.บ. ว่า ยกเว้นสุราชุมชนและไวน์ไทยในทุกข้อมาตรา
หรือ เปลี่ยนจากห้ามมาเป็นการควบคุมในปัญหาต่างๆ เช่น ห้ามเร่ขาย ห้ามชิม ห้ามแสดงสินค้า โดยระบุในมาตราให้ยกเว้นสุราชุมชนและไวน์ไทย สำหรับการพิจารณาขึ้นภาษีเพื่อควบคุมการผลิต ปัจจุบันผู้ผลิตสุราพื้นบ้านรายย่อยต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงอยู่แล้ว ข้อเสนอแนะคือให้เก็บภาษีตามกำลังการผลิต หรือหากรัฐตัดสินใจไม่สนับสนุนและต้องการให้เหล้าชุมชนหมดไป ก็ขอให้แก้ปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้นของสุราชุมชน 6-7 พันราย (ผู้เกี่ยวข้องอีก 300,000คน) ที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากนโยบายของรัฐที่ผิดพลาด และช่วยหาอาชีพใหม่ให้ด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ คุณอุมา พลอยบุตร์ (โต๊ะ) โทรศัพท์ 08 7704 4507, 08 5813 9816
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net