กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
ประเทศไทยตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งการผลิตรถปิคอัพทั่วโลกจาก 31% ในปี 2552 เป็น 35% ภายในปี 2558 คอนติเนนทอลย้ำ 4 เมกะเทรนด์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้แก่ความปลอดภัย ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และราคาที่ประหยัดคุ้มค่า จะเพิ่มมูลค่าให้กับรถปิคอัพในอนาคต
บริษัท คอนติเนนทอล ออโตโมทีพ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำของโลกร่วมกับสถาบันยานยนต์จัดสัมมนา “รถยนต์เพื่อการพาณิชย์: เทคโนโลยียานยนต์ล้ำสมัยที่ส่งเสริมการเป็นโปรดักส์แชมป์เปี้ยน” โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 150 คนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา โดยการสัมมนาได้นำเสนอเกี่ยวกับภาพรวมตลาดรถปิคอัพในระดับโลกและในประเทศไทยรวมถึงแนวโน้มด้านเทคโนโลยีที่ส่งเสริมรถยนต์เพื่อการพาณิชย์
การสัมมนาได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากเยอรมนี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และประเทศไทยมาเป็นผู้บรรยาย ได้แก่ มร. โธมัส แชมเบอร์ส กรรมการผู้จัดการ บริษัทคอนติเนนทอล ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด, มร. ฮาจิเมะ ยามาโมโตะ ผู้อำนวยการ บริษัท ซี เอส เอ็ม เวิลด์ไวด์ (ประเทศไทย) จำกัด,มร. ไรเนอร์ ดัวร์ไฮเดอร์ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป บริษัท คอนติเนนทอล ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด, มร. โยชิฮิโตะ อิโตะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาส่วนกลาง บริษัทคอนติเนนทอล ออโตโมทีฟ ประเทศญี่ปุ่น, มร. เวอร์เนอร์ เคิส์ทเลอร์ รองประธานอาวุโส สายงานธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในรถยนต์ ประจำภูมิภาคเอเชีย และมร. ทอร์สเทน เชิร์ฟ รองประธานธุรกิจยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์และบริการหลังการขาย บริษัทคอนติเนนทอล ออโตโมทีฟ ประเทศสิงค์โปร และได้รับเกียรติจากคุณวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
ประเทศไทยตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งการผลิตรถปิคอัพทั่วโลกจาก 31% ในปี 2552 เป็น 35% ภายในปี 2558
มร. ฮาจิเมะ ยามาโมโตะ ผู้อำนวยการ บริษัท ซี เอส เอ็ม เวิลด์ไวด์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า รถปิคอัพมีความสำคัญและเป็นส่วนเติมเต็มอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยในฐานะโปรดักส์แชมเปี้ยนมากว่า 3 ทศวรรษ ทั้งในส่วนที่ตอบสนองต่อตลาดในประเทศและเพื่อการส่งออก แม้ว่าอุปสงค์ทั่วโลกต่อรถปิคอัพขนาดกลางและขนาดเล็กจะลดลงในปี 2552 มร. ฮาจิเมะก็ยังเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อการพาณิชย์จะฟื้นคืนอย่างเต็มที่ในปี 2556
ประเทศไทยยังคงดำรงตำแหน่งผู้นำในตลาดรถปิคอัพขนาดกลาง มีการคาดการณ์ว่า ยอดการผลิตรถจะฟื้นตัวและเติบโตขึ้นอีกระหว่างปี 2552 — 2558 และในปี 2556 จะเติบโตในอัตราที่เคยสูงสุดในปี2551 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดเกิดใหม่ทั้งในทวีปเอเชียและตะวันออกกลาง รวมถึงตลาดในซีกโลกใต้อย่างออสเตรเลีย บราซิล และแอฟริกาใต้ และประเทศไทยจะเพิ่มส่วนแบ่งการผลิตรถปิคอัพในตลาดโลกจาก 31% ในปี 2552 เป็น 35% ภายในปี 2558
“เพื่อรักษาความเป็นผู้นำ ประเทศไทยจะต้องใช้โอกาสของการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกเดินหน้าพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการออกแบบเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมรวมทั้งสร้างโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ การออกแบบชิ้นส่วนภายในประเทศ และการพัฒนาทรัพยากรพลังงานทางเลือก” มร. ยามาโมโตะ กล่าวเสริม
จากการศึกษาพบว่า ผู้บริโภคจัดลำดับ ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด
แนวคิดเมกกะเทรนด์ยังคงเป็นตัวกำกับทิศทางของอุตสาหกรรมรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดด้านความปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและมีราคาที่ประหยัดคุ้มค่ายังคงมีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ มร. โธมัส แชมเบอร์ส กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอนติเนนทอล ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าผู้บริโภคจัดลำดับความต้องการความปลอดภัยของยานพาหนะอยู่ในลำดับสูงสุด รองลงมาเป็นการบริหารจัดการข้อมูลที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การขับเคลื่อนที่เฉลียวฉลาด และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงการลดมลภาวะและการประหยัดพลังงาน ซึ่งในอนาคตผู้ผลิตรถปิคอัพจะต้องปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มและข้อเรียกร้องเหล่านี้ให้ได้
ในฐานะผู้นำที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกด้านชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ คอนติเนนทอล ออโตโมทีฟ ตระหนักถึงความสำคัญของเมกกะเทรนด์ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมรถปิคอัพในประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัยและสามารถบริหรจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพที่หลากหลายของคอนติเนนทอลจะสามารถตอบโจทย์ และเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมรถปิคอัพในประเทศไทย
รถปิคอัพในอนาคตต้องเป็นรถประหยัดพลังงาน
การคมนาคมขนส่งทั่วโลกเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงมีการคาดการณ์กันว่า อัตราการใช้ทรัพยากรน้ำมันจะเพิ่มขึ้นถึง 55% ในปี 2573 ซึ่งอยู่ในจุดสูงสุดและจะเริ่มลดระดับลง รถปิคอัพในอนาคตจึงต้องลดการใช้น้ำมันได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น ยานพาหนะในอนาคตยังต้องเคร่งครัดต่อข้อกำหนดด้านการก่อมลภาวะในระดับสากลมากขึ้น กล่าวคือ ต้องควบคุมระดับของก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และก๊าซไฮโดรคาร์บอน (HC) จนบรรลุเป้าหมายสุดท้ายคือการก่อมลภาวะเป็นศูนย์ (zero emission) โดยมาตรการการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบส่งกำลังที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในระยะสั้นและระยะกลาง ทดแทนเครื่องยนต์ที่ใช้การสันดาปด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า และท้ายที่สุดเป็นพลังงานไฟฟ้าในระยะยาวเพื่อบรรลุเป้าหมายของการก่อมลภาวะเป็นศูนย์
คอนติเนนทอลเป็นที่จับตามองในเรื่องการสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรม ด้วยระบบส่งกำลังที่มีประสิทธิภาพและเทคโนโลยีอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้รถปิคอัพในอนาคตก่อมลภาวะทางอากาศน้อยลงและประหยัดพลังงานมากขึ้น
มร. ไรเนอร์ ดัวร์ไฮเดอร์ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป ประจำโรงงานระบบส่งกำลังของคอนติเนนทอลที่อมตะซิตี้ จ.ระยอง กล่าวว่า “คอนติเนนทอลมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาหัวฉีดดีเซล Piezo ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับว่าประหยัดพลังงานและสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการสร้างมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด (Emission Standard) ใหม่ และเป็นเทคโนโลยีคุณภาพระดับสูง คุณลักษณะดังกล่าวทำให้ต้นทุนระบบเครื่องยนต์ทั้งหมดลดลง ทั้งยังเป็นโซลูชั่นที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีความเหมาะสมอย่างยิ่งกับรถปิคอัพ” เทคโนโลยีหัวฉีดดีเซลคอมมอนเรล และปั๊มแรงดันสูง 3 สูบ ประสบความสำเร็จในการลดขนาดหัวฉีดและลดการรั่วซึมของปั๊มซึ่งมีผลทำให้ประหยัดพลังงานและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง คอนติเนนทอลผลิตหัวฉีด และปั๊มแรงดันสูงที่โรงงานผลิตชิ้นส่วนระบบส่งกำลังในประเทศไทย โดยเทคโนโลยีดังกล่าวยังได้มาตรฐาน Euro 6 อีกด้วย
การเพิ่มความปลอดภัยในรถปิคอัพสำคัญต่อการรักษาความเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนในอนาคต
มร.โยชิฮิโตะ อิโตะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาส่วนกลาง บริษัทคอนติเนนทอล ออโตโมทีฟ ประเทศญี่ปุ่น เน้นว่า “การเพิ่มความปลอดภัยในรถปิคอัพสำคัญต่อการรักษาความเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนในอนาคต ทั้งภาครัฐและผู้บริโภคต่างมีความต้องการตรงกันในเรื่องเทคโนโลยีที่ทำให้การขับขี่มีความปลอดภัยสูงสุด”
เทคโนโลยีของคอนติเนนทอลในเรื่องความปลอดภัยในยานยนต์และกลศาสตร์มุ่งเน้นพัฒนาและผลิตระบบอัจฉริยะที่มีบูรณาการซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับความปลอดภัยขึ้นอีกในอนาคต กล่าวคือ ระบบป้องกันก่อนเกิดเหตุและระบบป้องกันเมื่อเกิดเหตุ (active and passive safety) เต็มรูปแบบ เพือ่ให้บรรลุเป้าหมายคือการขับขี่ที่อุบัติเหตุเป็นศูนย์ (Zero Accidents) คอนติเนนทอลผลิตเบรกศักยภาพสูง ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่และระบบแสดงสถานะ (HMI) ระดับสูง ที่ช่วยปกป้องผู้ขับขี่และยานพาหนะจากอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ
ด้วยคอนติการ์ด ซึ่งเป็นปรัชญาด้านความปลอดภัยที่คอนติเนนทอลมีประสบการณ์มายาวนานกว่า 100 ปี คอนติเนนทอลได้ยกระดับเทคโนโลยีการขับขี่ปลอดภัย และบูรณาการร่วมกับวิทยาการความรู้ที่มีอยู่เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งก็คือ สามารถลดจำนวนอุบัติเหตุและอัตราการเสียชีวิตได้อย่างมีนัยยะสำคัญ เทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถลดอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งมีพันธกิจที่จะลดจำนวนการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนลงให้ได้ในแต่ละปี คอนติเนนทอลจึงเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนที่สามารถตอบสนองการขับขี่ในอุดมคติให้กับผู้ผลิตรถปิคอัพในประเทศไทยได้
ปฏิวัติการจัดการจราจรด้วยนวัตกรรม Road Tolling
นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี Road Tolling ของคอนติเนนทอลสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรแออัดคับคั่ง บริการจัดการการจราจร การเก็บค่าธรรมเนียมด่านผ่านทาง และการจัดการเดินรถ ระบบจราจรอัจฉริยะของคอนติเนนทอลจะแนะนำเส้นทางที่การจราจรคับคั่งน้อยกว่าเพื่อให้การจราจรในเขตเมืองซึ่งมีความแออัดสามารถดำเนินไปได้ ระบบดังกล่าวเป็นระบบพื้นฐานที่ติดตั้งแบบออนบอร์ดซึ่งจะเพิ่มมูลค่าให้กับบริการและจะเป็นประโยชน์ต่อต้นแบบรถปิคอัพในอนาคต
คอนติเนนทอลเป็นผู้ผลิตระบบจัดการจราจร 2 ระบบ สำหรับรถวิ่งหลายเลน (multi lane free flow) กล่าวคือ สำหรับการคมนาคมระยะใกล้ (Dedicated Short Range Communication System (DSRC-System)) ระบบดังกล่าวจะทำงานบนพื้นฐานของวิทยาการปัจจุบัน และระบบดาวเทียมการนำทางทั่วโลก (Global Navigation Satellite System (GNSS-System)) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะถูกนำมาใช้ในอนาคตโดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานน้อยลงและง่ายต่อการนำไปใช้ ความก้าวหน้าของระบบดังกล่าวมีศักยภาพมากพอที่จะปฏิวัติรูปแบบการเดินทางเก่า ๆ ด้วยการนำเสนอข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์และมีความแม่นยำสูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ถนน สภาพการจราจร และสถิติความเสี่ยงอื่น ๆ เพื่อสร้างเครือข่ายความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการใช้ถนนที่เพิ่มขึ้น
รถยนต์ในอนาคตต้องพร้อมทุกการเชื่อมต่อ ขับขี่ง่าย สะดวกสบายและชาญฉลาด
ในยุคที่อุปกรณ์สื่อสาร อาทิ สมาร์ทโฟน เครื่องเล่นอินเตอร์เน็ตแบบพกพา (mobile Internet devices (MIDs)) ได้รับความนิยมมากขึ้น ผู้บริโภคก็มีความคาดหวังที่จะสามารถเชื่อมโยงการสื่อสารถ่ายโอนข้อมูลตลอดเวลา ทั้งจากที่บ้าน ที่ทำงาน และแม้ขณะขับรถ อุตสาหกรรมยานยนต์จึงต้องพัฒนาโซลูชั่นส์ที่บูรณาการการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างไร้รอยต่อเข้ามาไว้ในยานพาหนะ ยกระดับระบบแสดงสถานะ (HMI) การเชื่อมต่อและนวัตกรรมแอพพลิเคชั่นที่นำเสนอประสบการณ์ความหรูหรา พลิกแพลงได้ และพิเศษสำหรับผู้ขับขี่
การเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ขับขี่กับยานพาหนะและระหว่างยานพาหนะกับสภาวะการขับขี่โดยรอบเป็นความก้าวหน้าที่กำลังจะขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะความสำคัญของระบบแสดงสถานะ (HMI) ในรถยนต์ คอนติเนนทอลยังคงดำเนินการออกแบบโดยใช้ผู้ขับขี่เป็นศูนย์กลาง ดังนั้น ระบบแสดงสถานะ (HMI) จึงไม่เพียงเป็นอุปกรณ์ที่แสดงข้อมูลให้ผู้ขับขี่ทราบ แต่ยังทำให้ผู้ขับขี่ได้สัมผัสถึงเทคโนโลยียานยนต์ที่เกี่ยวข้องโดยลำดับ
หน่วยควบคุม eHorizon ของคอนติเนนทอล เป็นฟังก์ชั่นการช่วยเหลืออัจฉริยะที่ปรับปรุงระบบการจัดการพลังงานและปรับเปลี่ยนเกียร์ตามความเหมาะสมกับรูปแบบโค้งหรือพื้นที่ลาดเอียงของถนนที่อยู่ตรงหน้าเพื่อให้สมรรถนะในการขับขี่สูงขึ้น
“รถปิคอัพ ถือเป็นความสำเร็จที่เชิดชูอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย คนไทยใช้รถปิคอัพเพื่อการพาณิชย์รวมถึงเพื่อวัตถุประสงค์อื่นด้วย โดยรถยนต์ประเภทนี้ได้รับการพัฒนามาอย่างยาวนาน ส่วนมากจะเป็นการพัฒนาที่เน้นหนักเรื่องการประหยัดพลังงาน ขณะนี้จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการเพิ่มมูลค่าให้กับรถปิคอัพเพื่อรักษาความเป็นโปรดักส์แชมป์เปี้ยนด้วยเทคโนโลยีที่เพิ่มความปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างชาญฉลาด” มร. โธมัส แชมเบอร์ส กรรมการผู้จัดการ บริษัทคอนติเนนทอล ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวสรุป
กลุ่มคอนติเนนทอล คอร์ปอเรชั่น เป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำลำดับต้นๆ ของโลก มียอดขายในปี 2552 มากกว่า 20 พันล้านยูโร ในฐานะที่กลุ่มคอนติเนนทอล เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญ ได้แก่ ระบบเบรก ระบบและชิ้นส่วนสำหรับระบบส่งกำลังและแชสซี หน้าปัดรถยนต์ อุปกรณ์เพิ่มความบันเทิงในรถยนต์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ ยางรถยนต์และยางสังเคราะห์ เป็นต้น กลุ่มคอนติเนนทอล มุ่งมั่นพัฒนาระบบและส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในการขับขี่สูงสุด อีกทั้งร่วมกันปกป้องสภาพแวดล้อมของโลกด้วย นอกจากนี้ คอนติเนนทอล ยังเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่เข้มแข็งในการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารที่ใช้ในยานยนต์ ปัจจุบัน กลุ่มคอนติเนนทอล คอร์ปอเรชั่น มีพนักงานประมาณ 138,000 คน ในสำนักงานใน 46 ประเทศทั่วโลก
กลุ่มยานยนต์คอนติเนนทอล เป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ลำดับต้นๆ ของโลก ประกอบด้วย 3 ส่วนธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจแชสซีและความปลอดภัย (ยอดขาย 4.4 พันล้านยูโร พนักงาน 27,000 คน) ธุรกิจระบบส่งกำลัง (ยอดขาย 3.4 พันล้านยูโร พนักงาน 24,000 คน) และธุรกิจอุปกรณ์ภายในรถยนต์ (ยอดขาย 4.4 พันล้านยูโร พนักงานมากกว่า 27,000 คน) ในปี 2552 กลุ่มยานยนต์สามารถสร้างยอดขายรวมมากกว่า 12 พันล้านยูโร กลุ่มยานยนต์ มีสำนักงานกว่า 130 แห่งทั่วโลก ในฐานะพันธมิตรของอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้มีการพัฒนาและผลิตชิ้นส่วนและระบบที่เป็นนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อยานยนต์แห่งโลกอนาคตซึ่งรถยนต์สามารถตอบสนองความต้องการส่วนบุคคล ให้ความเพลิดเพลินในการขับ มีความปลอดภัยในการขับขี่สูง อีกทั้งยังปกป้องสภาพแวดล้อมของโลกและราคาประหยัดคุ้มค่าด้วย
ธุรกิจแชสซีและความปลอดภัย พัฒนาและผลิตระบบเบรกอิเล็กทรอนิกส์ ระบบเบรกไฮดรอลิก ระบบควบคุมแชสซี เซ็นเซอร์ ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ ระบบควบคุมถุงลมนิรภัยด้วยไฟฟ้าและเซ็นเซอร์ ระบบปัดน้ำฝน เช่นเดียวกับ ระบบกันสะเทือนแบบถุงลม ความสามารถหลักของสายงานนี้คือ การบูรณาการระบบป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและระบบปกป้องหลังเกิดอุบัติเหตุไปสู่แนวคิดความปลอดภัยของคอนติการ์ด ส่วนธุรกิจระบบส่งกำลัง จะผสมผสานนวัตกรรม และระบบส่งกำลังยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ธุรกิจนี้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์หลากหลายรวมถึงหัวฉีดแก๊สโซลีนและดีเซล ระบบจัดการเครื่องยนต์ ระบบควบคุมเกียร์ เซ็นเซอร์ และแอคทูเอเตอร์ ระบบจ่ายเชื้อเพลิงและชิ้นส่วน รวมทั้งระบบสำหรับรถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า การจัดการข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจอุปกรณ์ภายในรถยนต์ ซึ่งเน้นการจัดการข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญ ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ภายในรถยนต์และหน้าปัดแสดงข้อมูล หน่วยควบคุม ระบบการเปิดปิดรถยนต์อัตโนมัติ ระบบตรวจสอบยางรถ วิทยุ ระบบมัลติมีเดียและระบบนำทาง ระบบควบคุมอุณหภูมิ เทเลมาติกส์ โมดุลที่นั่งคนขับ ผลิตภัณฑ์และบริการเสริมอื่น ๆ
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
คุณปัณรษี ไทยวัชรามาศ
บริษัท พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส จำกัด
โทรศัพท์ 0-2651-8989 ต่อ 222
อีเมล์ panarasee@prassociates.net