เยาวชนร่วมโชว์พลังไอเดียเด็ด “เพื่อเรา เพื่อโลก” ในโครงการแฟนต้ายุวทูต

ข่าวทั่วไป Wednesday May 19, 2010 11:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ และแล้วก็ถึงเวลาที่ทุกคนรอคอย สำหรับโฉมหน้าทีมเยาวชน 10 ทีมของแต่ละภาคจาก 6 ภาค ที่ผ่านเข้าสู่โค้งสุดท้ายในรอบตัดเชือกของ “โครงการแฟนต้ายุวทูตแห่งประเทศไทยครั้งที่ 14 ประจำปี 2552 - 2553” ที่จัดขึ้นโดย กลุ่มธุรกิจ โคคา - โคลา ในประเทศไทย ประกอบด้วย บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด, บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) ซึ่งได้เดินทางทั่วไทยเปิดเวทีเฟ้นหาผู้ที่เหมาะสมที่จะเป็นแฟนต้ายุวทูตแห่งประเทศไทย รุ่นที่ 14 เป็นเวลากว่าครึ่งปี ภายใต้หัวข้อ “ร่วมทำสิ่งดีๆ ที่แตกต่าง เพื่อเรา...เพื่อโลก” โดยคัดเลือกจาก 180 ทีมทั่วประเทศจนขณะนี้เหลือเพียง 60 ทีมตัวเต็ง ที่คัดกรองแล้วว่าฝีไม้ลายมือเด็ดดวงจริงๆ ซึ่งในรอบตัดสินภายในแต่ละภาคจะต้องมาประชันไอเดียกันอีกครั้งกับการบ้านชิ้นใหญ่ นั่นคือ โครงการที่นำมาประกวด ที่แต่ละทีมจะได้แสดงศักยภาพของตน หลังจากนำโครงการไปปฏิบัติจริงให้เป็นรูปธรรม ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน ผ่านการนำเสนอและตอบคำถามจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ...ซึ่งโครงการของแต่ละทีมที่ผ่านสู่เข้ารอบสุดท้าย ขอบอกว่าท้าท้ายและน่าสนใจจริงๆ ไม่เชื่อไปดูกัน… เริ่มที่ส่วนกรุงเทพฯ น้องหมิว — ด.ญ.ศิริขวัญ ทุมมานนท์, น้องนัทจัง — ด.ญ.ณัฐธิดา มหากิจ และน้องแนนแนน — ด.ญ.สริณรา ทังสุบุตร ในชื่อทีม “”We Mighty Girl” จากโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ได้เล่าถึงโครงการ “ออมสินสุขภาพ” ด้วยแววตามุ่งมั่นว่า “เพราะสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ ปัจจุบันคนละเลยที่จะใส่ใจสุขภาพของตนเอง นับวันเด็กไทยเป็นโรคอ้วนมากขึ้น เพราะรับประทานแต่อาหารขยะ ดังนั้น พวกเราจึงคิดโครงการนี้ขึ้น เพื่อชักชวนให้คนหันมารักและดูแลสุขภาพ จะได้มีร่างกายที่แข็งแรง โดยจะมีแจกแบบบันทึกสุขภาพออมสินทาง http://www.materdei.ac.th/oamsinhealth/ เพื่อให้จดบันทึก ซึ่งจะมีเกณฑ์การให้คะแนนสิ่งที่ควรและไม่ควรทำ พร้อมให้ความรู้ในเรื่องเบรนยิมหรือการบริหารสมอง เพราะร่างกายดีแล้ว สมองต้องดีด้วย รวมไปถึงแนะนำเมนูสุขภาพที่เพื่อนๆ ที่ร่วมโครงการน่าจะรับประทานเป็นประจำ อาทิ น้ำพริกปลาทู ต้มจืดหมูสับ เป็นต้น ขณะนี้มีคนร่วมโครงการทั้งสิ้น 1,200 คนโดยแบ่งเป็นระดับชั้น และทุก 6 เดือนจะมีการให้รางวัลผู้ที่ชนะในการดูแลสุขภาพตนเองด้วยค่ะ” ด้านเยาวชนภาคกลางอย่าง น้องโอ - ด.ช.พลศรุต แตงนวลจันทร์, น้องกิ๊บ - ด.ญ.อินทิรา สิงห์เถื่อน และน้องเอ็ม - ด.ช.ณัฐกานต์ พราหมณโชติ มาในชื่อทีมเก๋ๆ “อีแซวพื้นบ้าน” จากโรงเรียนเลาขวัญราษฎร์บำรุง จ.กาญจนบุรี เลือกนำเสนอโครงการ “บทเพลงพื้นบ้าน สายธารวัฒนธรรม” ที่สมาชิกในทีมถนัด กล่าวด้วยรอยยิ้มว่า “นานวันเพลงอีแซวกลับจะเลือนรางไปตามเวลา ทำให้คิดโครงการนี้ขึ้น เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยพื้นบ้านแท้ๆ จึงอยากชักชวนคนรุ่นใหม่มาหัดเพลงอีแซว ผ่านการประชาสัมพันธ์ ทำบอร์ดให้ความรู้ และเปิดชมรมเพลงอีแซวพื้นบ้าน ซึ่งตอนนี้มีสมาชิกกว่า 70 คนแล้วครับ โดยทุกคนจะต้องรู้ประวัติความเป็นมาของเพลงอีแซว ร่วมทั้งฝึกแต่งกลอน ฟังทำนอง เล่นดนตรี และไม่เพียงเพื่อนชมรมของเราจะได้สืบสานวัฒนธรรมไทย หากยังได้ฝึกการกล้าแสดงออก ไหวพริบปฏิภาณ และยังเป็นการหารายได้เสริม เพราะบางครั้งมีการจ้างไปออกงานด้วย นับเป็นการขยายผลจากโรงเรียนสู่ชุมชน พวกผมอยากเป็นตัวแทนเด็กไทยรุ่นใหม่ บอกกับเพื่อนๆว่า เพลงอีแซวไม่ยากอย่างที่คิด อยากให้หันมาใส่ใจและช่วยกันอนุรักษ์ให้อยู่คู่สังคมไทยต่อไปครับ” ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขอทำโครงการในหัวข้อยาเสพติด ที่ชื่อว่า “รักบึงร่วมใจต้านภัยยาเสพติด” โดย น้องเฟรม — ด.ญ.ทักษพร ณ ลำปาง, น้องเกมส์ — ด.ช.ศิริศักดิ์ มิตพมา และน้องมิ้นท์ — ด.ญ.อักษรศิริ ธรรมคุณ แห่งทีม “บึงโขงหลงร่วมใจต้านภัยยาเสพติด” จากโรงเรียนบึงโขงหลงวิทยาคม จ.หนองคาย เผยที่มาของโครงการว่า “จังหวัดหนองคาย เป็นจังหวัดชายแดน มีปัญหาเรื่องยาเสพติดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่ติดยาเสพติดหลายรูปแบบ เกิดเป็นปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ ตามมา ในฐานะที่เป็นเยาวชนและยาเสพติดถือว่าเป็นภัยใกล้ตัว จึงอยากช่วยรณรงค์ให้คนละเลิกยาเสพติด โดยเริ่มจากการทำตัวเองให้เป็นตัวอย่างที่ดี จากกลุ่มเล็กๆ เพียง 3 คน ขยายสู่วงกว้าง ผ่านกิจกรรมต่างๆ เริ่มจากง่ายๆ ด้วยการชวนเพื่อนไปเดินรณรงค์ จัดกิจกรรมเก็บขยะ เล่นกีฬาร่วมกัน เช่น แบดมินตัน หรือไปช่วยเลี้ยงเด็กที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็ก เพื่อให้เยาวชนในชุมชนมีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทำในช่วงปิดเทอม จะได้ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดหรืออบายมุข” ส่วนสาวเหนือ น้องจอย — ด.ญ.ศจี คันธยศ จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่, น้องลูกพลับ - ด.ญ.ไอรดา ทิพยเนตร จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่, และน้องมน — ด.ญ.ธนพร กันทะวงค์ จากโรงเรียนวชิราลัย จ.เชียงใหม่ ที่ต่างโรงเรียนแต่ร่วมทีมประกวดในชื่อ “ต้นกล้า ล้านนา” ขอโชว์โครงการ “น้ำแก้วน้อย ช่วยเรา ช่วยโลก ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากคุณแม่ว่า “โครงการของพวกเราได้แรงบันดาลใจมาจากวันหนึ่งที่พวกเราไปบ้านเพื่อนๆ กัน แล้วปรากฏว่าน้ำดื่มบนโต๊ะอาหารเหลือ ซึ่งคุณแม่ได้เตือนก่อนหน้านี้แล้วว่าให้ใช้แก้วใบเล็กใส่น้ำ จะได้ไม่เหลือทิ้ง พวกเราจึงนำไอเดียนี้มาทำโครงการประกวดแฟนต้ายุวทูต ซึ่งต้องการรณรงค์เรื่องการใช้น้ำ โดยมุ่งหวังให้คนใช้น้ำอย่างประหยัด โดยเลือกใช้ภาชนะที่เหมาะสมในการบริโภคอุปโภคน้ำ นอกจากนั้น พวกเราจะไปขอความร่วมมือจากทางประปา เพื่อนำข้อมูลการผลิตน้ำประปามาเผยแพร่ เพื่อให้เป็นความรู้และเข้าใจกระบวนการผลิตน้ำ และให้ทราบว่าน้ำประปาสะอาด สามารถนำมาดื่มได้ด้วยค่ะ เราจะได้มีน้ำสะอาดใช้นานๆ ค่ะ” สำหรับน้องๆ ภาคตะวันออกก็ไม่น้อยหน้า เพราะ น้องอีฟ — ด.ญ.ณัฐกานต์ จันทร์แดง, น้องมุก — ด.ญ.ปรียาภรณ์ วจีสัจจะ และน้องบี — ด.ญ.ณัฐมล ธนะภูมิชัย รวมพลังในชื่อทีม “ลูกเตรียมน้อม” จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า จ.สมุทรปราการ เข้าร่วมประกวดพร้อมโครงการดีๆ อย่าง “ธนาคารขยะ” กล่าวว่า “โครงการของพวกเราจะให้เพื่อนๆ ผู้ใหญ่ในชุมชน หรือผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการ นำขยะมาฝากไว้ที่พวกเรา และพวกเราจะนำขยะต่างๆ เหล่านี้ไปขาย เมื่อได้เงินมาก็จะนำไปให้กับผู้ที่เอาขยะมาฝากไว้ค่ะ จุดประสงค์ของโครงการ เพื่อช่วยลดโลกร้อน ลดปริมาณขยะที่กระจัดกระจาย และเป็นการเพิ่มรายได้ สำหรับเพื่อนๆ นักเรียนก็สามารถเก็บเงินไว้เป็นทุนการศึกษาได้ค่ะ พวกเราใช้วิธีการบอกต่อ และประชาสัมพันธ์ตามเสียงตามสายของโรงเรียน คาดว่าน่าจะได้รับผลตอบรับที่ดี เพราะแถวๆ โรงเรียนของเรามีชุมชน และมีขยะเยอะค่ะ” ท้ายสุด กับเยาวชนตัวน้อยจากภาคใต้ ทีม “ยุวทูตศรีตรัง” จากโรงเรียนปัญญาวิทย์ จ.ตรัง ก็มาพร้อมโครงการที่น่าสนใจ อย่าง “ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่” โดย น้องกาย — ด.ช. มนต์เทพ มุสิกะรังษี, น้องแบงค์ — ด.ช.พัสกร เสียมไหม และน้องอั๊ต — ด.ช.วิทวัส ทองรุ่ง เผยว่า “หลายคนฟังโครงการแล้วแล้วอยากที่จะรู้ว่า เรื่องเล็กๆ ที่จะทำให้เป็นเรื่องใหญ่นั้นคืออะไร เรื่องเล็กๆที่ว่านั้น คือเรื่องการนำเหรียญสตางค์มาใช้จ่ายให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันเรานำเหรียญสตางค์มาใช้น้อยลง เราต้องสูญเสียทรัพยากรในการผลิตเหรียญสตางค์ ทั้งเหรียญ 25 สตางค์ เหรียญ 50 สตางค์ ทุกปีเราต้องผลิตเหรียญสตางค์ใหม่ขึ้นมาใช้ประมาณ 10-15 ล้านเหรียญ แต่มีการใช้จ่ายกันจริงไม่ถึงล้านเหรียญ ซึ่งเหรียญที่หายไปนั้น เกิดจากการเก็บ ไม่กล้านำไปใช้จ่าย อายที่จะใช้จ่าย กลัวแม่ค้าว่า กลัวว่าคนอื่นจะดูถูก จึงทำให้ต้องผลิตเหรียญสตางค์มาชดเชยในส่วนที่ถูกเก็บไว้ คิดดูสิว่าเราต้องสูญเสียทรัพยากรไปเท่าไหร่ต่อปี สมัยก่อนเราจะเห็นคุณค่าของเหรียญสตางค์กันมาก นั้นเพราะว่าเรามีการปลูกฝั่งให้รู้จักคุณค่าของเงิน ไม่ว่าจะเป็นเหรียญบาท เศษเหรียญ หรือธนบัตร ล้วนมีคุณค่าในตัวทั้งสิ้น แต่ปัจจุบัน เราต่างคิดว่าเหรียญสตางค์ คือภาระที่เราต้องดูแล พวกเราจึงคิดโครงการขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของเหรียญสตางค์เหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา แม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่มันคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพราะช่วยลดการใช้ทรัพยากรที่ต้องสูญเปล่าไป” ทีมไหนจะเป็นผู้คว้าตำแหน่งแฟนต้ายุวทูตปีนี้ไปครอง ต้องติดตามในรอบชิงชนะเลิศ...กำหนดจัด วันที่ 5-6 มิถุนายน 2553 ในส่วนกรุงเทพฯ และภาคกลาง ที่เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน, วันที่ 12-13 มิถุนายน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เดอะมอลล์ โคราช, วันที่ 19-20 มิถุนายน ภาคเหนือ ที่เซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต, วันที่ 26-27 มิถุนายน ภาคตะวันออก ที่เซ็นทรัล เฟสติวัล พัทยา บีช และปิดท้ายที่ภาคใต้ วันที่ 3-4 กรกฎาคม ที่โอเดียน แฟชั่นมอลล์ หาดใหญ่ อย่าลืมไปชม ไปเชียร์กันน้า...สอบถามเพิ่มเติมโทร. 0-2984-2745 และ 0-2984-2742 หรือ www.fyathai.com หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด โทร. 0-2434-8300, 0-2434-8547 คุณสุจินดา, คุณแสงนภา, คุณปิติยา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ