จากจังหวัด “แก้จน-อยู่ดีมีสุข” รูปธรรมสู่สังคมพอเพียง

ข่าวทั่วไป Wednesday January 24, 2007 17:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--สกว.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
สกว. เดินหน้าร่วมกับอีก 4 องค์กรภาคีขยายผล “จังหวัดนำร่องแก้จน” จาก 12 เป็น 20 จังหวัด ภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน การพัฒนาชุมชนและสุขภาวะ สภาพัฒน์ฯ สนใจการทำข้อมูลครัวเรือนและ “แผนชุมชน”ที่มีประสิทธิภาพของจังหวัดนำร่องบูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจน อาจใช้เป็นต้นแบบเคลื่อนยุทธศาสตร์ “อยู่ดีมีสุข” ระดับจังหวัด “โฆสิต” ย้ำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแก้ปัญหาความยากจนได้ มีตัวอย่างเป็นรูปธรรม สิ่งสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจและตั้งใจ “จะทำ” หรือ “ไม่ทำ”
ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนและสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สกว. ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน กระทรวงมหาดไทย และ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ดำเนินโครงการนำร่องบูรณาการจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาความยากจน และประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เกิดวิธีการทำงานร่วมกันด้วยดีของภาครัฐและภาคประชาชนที่มีภาควิชาการเป็นกลไกเชื่อมโยง เกิดกระบวนการเก็บข้อมูลครัวเรือนอย่างเป็นระบบและนำไปสู่การจัดทำ “แผนชุมชน”ที่มีประสิทธิภาพ ใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายการพัฒนาชุมชนหรือการจัดบริการภาครัฐที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน
ซึ่งในระดับพื้นที่หลายชุมชนยังดำเนินการต่อยอดไปได้เอง จากระบบการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และภาควิชาการ ซึ่งภาควิชาการเข้าไปเป็นกลไกให้เกิดความร่วมมือ เพราะประชาชนจะทำอย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ต้องมีความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการผลักดันการพัฒนาในพื้นที่ให้เกิดเป็นรูปธรรม เช่น การนำข้อมูลจากแผนชุมชนไปแก้ปัญหาดินถล่มที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นต้น
ดร.สีลาภรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ สกว.ร่วมกับ องค์กรภาคีที่สนใจอีก 4 องค์กร คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการขยายผลจังหวัดนำร่องจาก 12 เป็น 20 จังหวัด ภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน การพัฒนาชุมชนและสุขภาวะ
ทั้งนี้ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด ซึ่งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาพัฒน์ฯ สนใจกระบวนการเก็บข้อมูลครัวเรือนและการจัดทำแผนชุมชนที่มีคุณภาพของจังหวัดในโครงการดังกล่าว ซึ่งได้มานำเสนอบทเรียนและประสบการณ์ อาทิ กาฬสินธุ์ อุทัยธานี นครปฐม ฯลฯ อาจนำไปใช้ต้นแบบในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “อยู่ดีมีสุข” ระดับจังหวัดอีกทางหนึ่ง
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนประเทศในทิศทางเศรษฐกิจพอเพียงและกำลังเคลื่อนต่อด้วยยุทธศาสตร์สังคมอยู่ดีมีสุขในระดับจังหวัด ซึ่งตนเห็นว่าควรใช้แผนชุมชนต่อไป แต่อาจไม่จำเป็นต้องทำทุกครอบครัว ใช้การวิเคราะห์จากผู้สมัครใจแทน เพราะคำว่า “อยู่ดีมีสุข” คือ คนที่พอใจจะทำหรือไม่ทำ จึงไม่ควรมีกรอบอะไรมากมาย
การพัฒนาชนบทในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาทำให้ชนบทเปลี่ยนแปลงไปมาก คนชนบทมีทางเลือกมากขึ้น จึงไม่แปลกที่มีคนจำนวนน้อยที่สมัครใจอยู่ในภาคเกษตร บทบาทของภาครัฐคือทำอย่างไรจะสามารถจัดบริการภาครัฐที่เหมาะสมกับคนชนบทที่หลากหลายเหล่านี้ การแก้ไขจึงควรมีการวิเคราะห์ทั้งเชิงพื้นที่และ “คน” เพราะไม่มีใครรู้ดีเท่ากับตัวผู้เป็นเจ้าของปัญหาและความต้องการนั้น ๆ เอง ซึ่งในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมีตัวอย่างรูปธรรมของคนเหล่านี้จำนวนมาก และเป็นคนที่พึ่งตนเองก่อน
“เศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่ใช่เรื่องของรูปธรรมหรือนามธรรม แต่อยู่ที่ว่าอยากทำหรือไม่อยากทำ เป็นเรื่องของ “ความคิด” ไม่ใช่ “สตางค์” ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง”
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ขบวนการที่เป็นกลไกหลักในการสร้างจังหวัดอยู่ดีมีสุข คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่จะต้องไปทำหน้าที่หลักในการเชื่อมประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในระดับพื้นที่รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งต้องมีการทบทวนและมองไปสู่เป้าหมายเดียวกันนั่นคือ “คน”ในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายและมีความต้องการแตกต่างกัน โดยใช้ “แผนชุมชน” เป็นแกนหลักในการประสานความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งมีตัวอย่างชัดเจนจากจังหวัดนำร่องในโครงการบูรณาการจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ของ สกว. การดำเนินการของจังหวัดจึงต้องรุกมากขึ้น (speed) นำแผนชุมชนที่ได้ไปถามย้ำยืนยันจากชุมชนว่าเป็นแผนที่มาจากความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง และหน่วยงานภาครัฐจะเข้ามาสนับสนุนได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม จากการระดมความคิดเห็นเพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด พบว่า หัวใจของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “อยู่ดีมีสุข” ระดับจังหวัด ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมที่เชื่อมประสานกันทั้งส่วนกลางไปจนถึงชุมชน มีการจัดเวทีสร้างความเข้าใจระดมสมองและยกระดับอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการ แผนงานและระบบข้อมูลครัวเรือนเป็นเครื่องมือในการบริหาร ที่สำคัญต้องเป็นระบบที่มีความยืดหยุ่นในการจัดทีมงานและขั้นตอนดำเนินการค้นหาความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ยังต้องสร้างความเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐกับประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณให้จังหวัดสามารถดำเนินการได้ตามยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ซึ่งจะนำไปผลักดันในระดับนโยบายและมีการนำออกมาใช้ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550
ทั้งนี้ โครงการนำร่องการบูรณาการจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาความยากจน 12 จังหวัด คือแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ อุทัยธานี อุบลราชธานี ยโสธร กาฬสินธุ์ นครพนม สมุทรสงคราม ตรัง และพัทลุง ส่วนที่ขยายเพิ่มเติมเป็น 20 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก กำแพงเพชร นครราชสีมา ชัยภูมิ ระยอง ชัยนาท สงขลา นครศรีธรรมราช .
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) โทร.02-2701350-4 ต่อ 106 e-mail pr@pr-trf.net
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ