กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--สวทช.
ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.
ผู้เชี่ยวชาญด้านดับเพลิงระบุ สูดเขม่าควันยางรถยนต์ทำหายใจขัด ชี้! ระเบิดรถบรรทุกน้ำมันจากภายนอกเป็นไปได้ยาก แนะประชาชนดับไฟยางรถยนต์ด้วย “น้ำ-โฟม” ทีละเส้นง่ายกว่าดับทั้งกองยาง
จากกรณีศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ประกาศมาตรการกระชับพื้นที่กดดันผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและทหารหลายจุดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ คือ การเผายางรถยนต์ ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงการนำรถบรรทุกน้ำมันมาจอดระหว่างแนวปะทะของทั้งสองฝ่ายนั้น ก็สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดระเบิดได้เช่นกัน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายฉาดเฉลียว บุนนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านดับเพลิงและผจญเพลิง ได้ออกมาให้ความรู้ว่า การเผายางรถยนต์ส่งผลกระทบในเรื่องสภาพอากาศอย่างเห็นได้ชัด เพราะการเผาไหม้ของยางรถยนต์จะใช้เวลาในการเผานานกว่าเชื้อเพลิงอย่างอื่นหลายเท่า อีกทั้งเขม่าควันจากยางรถยนต์จะเห็นได้ชัดว่าเป็นกลุ่มควันสีดำลอยไปตามอากาศ ซึ่งหากสูดดมเข้าไปย่อมทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จากการเผา (Carbon monoxide : CO) เมื่อหายใจเข้าไปแล้ว ก๊าซนี้จะรวมตัวกับฮีโมโกลบิน (Haemoglobin) ในเม็ดเลือดแดงได้มากกว่าออกซิเจนถึง 200-250 เท่า เกิดเป็นคาร์บอกซีฮีโมโกลบิน (Carboxyhaemoglobin : CoHb) ซึ่งลดความสามารถของเลือดในการเป็นตัวนำออกซิเจนจากปอดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย หรือทำให้ออกซิเจนในเลือดน้อยลง ส่งผลให้ผู้ที่หายใจเข้าไปมีอาการหายใจขัดและอึดอัดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก ดังนั้น ประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงจึงควรหลีกเลี่ยงการสูดดมเขม่าควันดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย โดยไม่ควรอยู่ใต้ลม
ทั้งนี้วิธีป้องกันของประชาชนคือ หากอยู่ในจุดที่ดับไฟจากการเผายางได้ แนะนำให้ใช้วิธีเขี่ยยางที่สุมกันอยู่หลายวงออกมาทีละเส้น ให้ยางวางในลักษณะแนวราบ จากนั้นใช้น้ำดับโดยราดน้ำไปรอบๆ ยางเพียงไม่กี่ขันก็สามารถดับไฟได้ หรือใช้โฟมฉีดไปรอบๆ ยางรถยนต์ก็ดับไฟได้เช่นกัน
“สำหรับการนำรถบรรทุกน้ำมันมาจอดในแนวปะทะของทั้งสองฝ่ายนั้น ในแง่ความไม่ปลอดภัยนั้นก็ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดระเบิดด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง แต่โดยหลักการการยิงปะทัด หรือตะไลไม่สามารถทำให้ถังน้ำมันชำรุดหรือระเบิดได้ หรือหากเป็นเครื่องยิงที่มีอานุภาพมากกว่านั้น เช่น เอ็ม 79 หรือ อาร์พีจี ก็ไม่สามารถทำให้รถบรรทุกน้ำมันระเบิดจากการยิงภายนอกได้ เพียงแต่อาจจะทำให้ถังชำรุดไปบ้าง และหากชำรุด จะเป็นรูรั่ว น้ำมันไหลออกมาแล้วถูกจุดไฟ การไหม้ก็จะเป็นลักษณะไหม้ลามจุดที่น้ำมันไหลไป หรือเป็นเหมือนทะเลเพลิงเท่านั้น ทั้งนี้วิธีการดับเพลิงก็สามารถทำได้โดยการระดมฉีดน้ำจากที่ไกลเข้าไปควบคุมเพลิงได้ไม่ยาก” นายฉาดเฉลียวกล่าว
ด้าน รศ.ดร.ศิริรัตน์ จิตการค้า วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาให้ความรู้ถึงอันตรายจากการเผายางรถยนต์ว่า ยางรถยนต์ มีไฮโดรคาร์บอน (ซึ่งเป็นองค์ประกอบประเภทเดียวกับสารประกอบในน้ำมัน) เป็นองค์ประกอบอยู่ถึง 50-60% ซึ่งแฝงตัวอยู่ในรูปของยางที่เป็นวัตถุดิบ จึงถือเป็นแหล่งพลังงานแหล่งใหญ่เลยทีเดียว โดยการเผายางรถยนต์ 1 เส้น จะให้ความร้อนออกมามากกว่าการเผาน้ำมันทั่วไปที่มีน้ำหนักเท่ากันถึง 1.25 เท่า พูดง่ายๆ คือ น้ำมันติดไฟง่ายกว่า แต่ปลดปล่อยความร้อนออกมาน้อยกว่า แต่น้ำมันลุกลามได้ไวกว่า เนื่องจากน้ำมันมีความหนาแน่นน้อยกว่า จึงไหม้อย่างรวดเร็วกว่าแต่ดับได้ง่ายกว่า ในขณะที่ยางรถยนต์ มีเนื้อยางที่มีความหนาแน่นมากกว่า ติดไฟยากกว่า แต่เมื่อจุดติดแล้ว จะให้ความร้อนสูงมากกว่า และดับได้ยากกว่า มีอำนาจและเวลาในการทำลายล้างมากกว่า
“นอกจากนี้ส่วนประกอบสำคัญหลักๆ ของยางรถยนต์ ไม่ได้มีแค่ยางสังเคราะห์ และ ยางธรรมชาติ แต่ยังมี ผงถ่านคาร์บอน(carbon black) น้ำมัน (Extender oil) ลวด และสารเคมี เช่น ซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide: ZnO) และ ซัลเฟอร์ (Sulfur : S) เป็นองค์ประกอบ ดังนั้น เมื่อยางรถยนต์เกิดการเผาไหม้จึงไม่ได้ปล่อยแค่เขม่าควัน ฝุ่นละออง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ แต่ยังปล่อยสารพิษอีกมากมาย เช่น ก๊าซที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) ที่มีกลิ่นเหม็นรุนแรง อีกทั้งก๊าซชนิดนี้ยังมีภาวะเป็นกรด เมื่อสูดหายใจเข้าร่างกายอาจก่อให้เกิดการกัดกร่อนเนื้อเยื่อที่บริเวณทางเดินหายใจได้ อีกทั้งยางสังเคราะห์ที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นยางชนิด สไตรีน-บิวทาไดอีน (Styrene-Butadiene Rubber : SBR) เมื่อเผาไหม้จะเกิดก๊าซพิษสไตรีนออกไซด์ ซึ่งนอกจากจะเป็นสารก่อมะเร็งแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหารอีกด้วย จึงนับว่าเป็นอันตรายมาก ”
รศ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าวว่า ส่วนกรณีรถน้ำมันที่ผู้ชุมนุมนำมาจอดขวางนั้น เชื่อว่าจะไม่ระเบิด เนื่องจากรถน้ำมันทั่วไปจะมีอุปกรณ์ความปลอดภัยอยู่แล้ว โดยหากมีการเอาไฟไปหล่อไว้ที่ถังน้ำมัน ถังจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ น้ำมันภายในจะเริ่มมีการขยายตัว และไอน้ำมันพยายามหาทางออก ซึ่งวาล์วด้านบนตัวถังรถจะทำหน้าที่ปล่อยความดันออก ทำให้ไอน้ำมันพ่นขึ้นด้านบน จึงไม่เกิดการระเบิด แต่จะเกิดไฟไหม้คล้ายลูกไฟขนาดใหญ่พุ่งสู่ด้านบน จนกระทั่งไอน้ำมันหมด การเผาไหม้จะเบาลง และเริ่มไหม้ตัวรถแทน ทั้งนี้หากวาล์วดังกล่าวมีการรั่วไหล ไอน้ำมันอาจสามารถรั่วซึมออกมาและลอยกระจัดกระจายไปทั่ว หากบริเวณนั้นมีการจุดไฟก็จะก่อให้เกิดไฟลุกพรึบไปทั่ว จนเมื่อไอน้ำมันหายหมด ไฟก็จะดับ ซึ่งการเผาไหม้ของรถน้ำมันเช่นนี้จะเป็นอันตราย หากรถน้ำมันตั้งอยู่ใกล้อาคารบ้านเรือน ไฟอาจจะไหม้ลุกลามได้ แต่หากเป็นที่โล่งความเสียหายก็จะไม่มากนัก
“สำหรับกรณีของรถแก๊สนั้น ถ้าเป็นรถแก๊สเอ็นจีวีที่โดนความร้อนสูง ก๊าซที่ขยายตัวจะถูกวาล์วนิรภัยปล่อยออกด้านบน ทำให้เกิดเสียงดังคล้ายระเบิด ซึ่งจะไม่มีผลให้เกิดการลุกไหม้อย่างรุนแรง หรือระเบิดออกเป็นชิ้นส่วน แต่จะทำให้เกิดเสียงระเบิดที่ดังมาก เรียกว่า ช็อคเวฟ (shock wave) มีผลทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้แก้วหูแตก แก้วหูดับ และกระจกแตก เท่านั้น ดังเช่น เหตุการณ์การระเบิดของรถแก๊สเอ็นจีวีที่ปั๊มแก๊สบริเวณบางนาตราดเมื่อปี 2552 มีผลให้เด็กปั๊มได้รับบาดเจ็บแก้วหูแตก ผู้คนที่อยู่ใกล้เคียงมีอาหารหูดับ และกระจกร้านค้าแตกหมด” รศ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย