ลดเครียดคนเมืองด้วยสุขภาวะจากนันทนาการ

ข่าวทั่วไป Monday May 24, 2010 14:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--กรมพลศึกษา นันทนาการ เป็นกิจกรรมที่กระทำในยามว่างที่กระทำด้วยความสมัครใจ และมีความพึงพอใจ โดยกิจกรรมนั้นไม่ขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณี สังคมและวัฒนธรรม โดยผลที่ได้รับจากการทำกิจกรรมนันทนาการจะก่อให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี อีกทั้งยังเป็นพลังในการขับเคลื่อนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลและสังคมด้วย กิจกรรมนันทนาการ แบ่งเป็น 11 ประเภท ได้แก่ ศิลปหัตถกรรม (Art and Crafts) เป็นกิจกรรมประเภทการปั้น การวาดเขียน กิจกรรมต่างๆ ที่ใช้มือประดิษฐ์สิ่งของขึ้นมา อันทำให้เกิดความเพลิดเพลินบันเทิงใจ เกมและกีฬา (Games and Sports) กิจกรรมประเภทกีฬานี้ เป็นกิจกรรมที่นิยมกันแพร่หลายและเป็นกิจกรรมนันทนาการที่ให้ประโยชน์มากที่สุดแก่ผู้เข้าร่วม กิจกรรมประเภทนี้แบ่งได้ 2 ประเภท คือ - กีฬากลางแจ้ง ได้แก่ เกมกีฬาที่ใช้สนามกลางแจ้งและเล่นกลางแจ้ง เช่น ฟุตบอล รักบี้ ฯลฯ - กีฬาในร่ม มักเล่นในห้องนันทนาการ โรงยิมเนเซี่ยมหรือในร่ม เช่น เทเบิลเทนนิส บาสเกตบอล วอลเล่ย์บอล แบดมินตัน เป็นต้น การเต้นรำ (Dances) กิจกรรมการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ใช้จังหวะดนตรี เป็นกิจกรรมที่ให้ความสนุกสนาน ให้ความเพลิดเพลิน ซึ่งถือว่าเป็นนันทนาการ เช่น การเต้นรำพื้นเมือง รำโทน กิจกรรมเข้าจังหวะ และลีลาศ เป็นต้น การละคร (Drama) การแสดงต่างๆ ที่เป็นไปในแบบของการละคร จะบนเวทีหรือไม่ก็ตามผู้เล่นและผู้ดูได้รับความเพลิดเพลินก็จัดว่าเป็นกิจกรรมนันทนาการ เช่น ละครที่เล่นทุกแห่ง ภาพยนตร์โทรทัศน์ ละครกรมศิลปากร โขน หนังตะลุง มโนราห์ ลิเก หุ่นกระบอก การแต่งตัวแฟนซี ฯลฯ งานอดิเรก (Hobby) งานอดิเรกเป็นกิจกรรมนันทนาการ ที่สำคัญแขนงหนึ่ง คือเป็นสิ่งที่ช่วยให้การดำเนินชีวิตประจำวันของคนมีความสุขเพลิดเพลิน สำหรับเด็กควรได้รับการฝึกหัดให้รู้จักประกอบกิจกรรมนี้ ทั้งในโรงเรียนและทางบ้าน ช่วยสนับสนุน งานอดิเรกแบ่งได้ 3 แบบคือ - แบบงานเก็บสะสม คือ ใช้เวลาว่างในการเก็บสะสมสิ่งของต่างๆ เช่น สะสมแสตมป์ ใบไม้สี รูปภาพ ภาพวิว ภาพโบราณวัตถุ เหรียญที่ระลึก ธนบัตรเก่าๆ เครื่องลายคราม ฯลฯ - แบบงานทำประดิษฐ์ คือ ใช้เวลาว่างในการสร้างสรรค์ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ เช่น ที่รองจาน ดอกไม้ไฟ โป๊ะตะเกียง - แบบงานกสิกรรมในครัวเรือน คือ ใช้เวลาว่างในการปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงกล้วยไม้ เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ การดนตรี และร้องเพลง (Music and Singing) กิจกรรมดนตรีทุกชนิดเป็นเครื่องปลอบประโลมใจให้เพลิดเพลิน สนุกสนาน และความบันเทิงแก่ผู้เล่นและผู้ฟัง จะเป็นดนตรีสากล ดนตรีไทย ฯลฯ และรวมถึงการร้องเพลงเดี่ยว การร้องเพลงหมู่ เพลงพื้นบ้าน เพลงไทย เพลงสากล เพลงรำวง ลำตัด เพลงฉ่อย ฯลฯ กิจกรรม กลางแจ้ง/ นอกเมือง (Outdoor Recreation) เนื่องจากในเมืองมีคนอยู่หนาแน่น ที่พักผ่อนหย่อนใจไม่เพียงพอ ฉะนั้นกิจกรรมกลางแจ้งนอก สถานที่ ชมพูมิประเทศ ศึกษาธรรมชาติ ทำให้มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น และเป็นการเพิ่มความรู้ให้แก่กิจกรรมนี้ ได้แก่ ยิงนก ตกปลา ล่าสัตว์ ว่ายน้ำ เที่ยวชมป่าไม้ สัตว์ป่า เที่ยววนอุทยาน เดินเล่น เดินทางไกล ฯลฯ วรรณกรรม (อ่าน พูด เขียน) (Reading, Speaking and Writing) กิจกรรมการอ่าน พูด เขียน ในเวลาว่างทำให้เกิดประโยชน์ ให้มีความรู้ ความเพลิดเพลิน สนุกสนาน เช่น กิจกรรมการพูดคุย สนทนา โต้วาที การปาฐกถา กิจกรรมการอ่าน การอ่านหนังสือพิมพ์ หนังสือต่างๆ กิจกรรมทางการฟัง ฟังวิทยุ ฟังอภิปรายโต้วาที ฯลฯ กิจกรรมทางการเขียน เขียนบทความ นวนิยาย นิทาน กิจกรรม ทางสังคม (Social Recreation) กิจกรรมนันทนาการทางสังคม ได้แก่ กิจกรรมนันทนาการหลายประเภทที่กลุ่มคนได้ร่วมกันประกอบขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน จึงได้ร่วมประกอบกิจกรรมนันทนาการชนิดนั้นเพื่อสังคม เช่น การประชุมพบปะสังสรรค์ การสมาคมสโมสร การรับประทานเลี้ยงในโอกาสต่างๆ ฯลฯ กิจกรรมพิเศษตามเทศกาลต่างๆ (Special Event) ได้แก่ กิจกรรมที่มีการเล่นเป็นครั้งคราว แต่เป็นกิจกรรมตามประเพณีของท้องถิ่นที่ประชาชนทั่วไปปฏิบัติกัน เช่น งานวันขึ้นปีใหม่ งานวันตรุษสงกรานต์ งานเทศกาลประจำท้องถิ่น กิจกรรมทางศาสนา เช่น ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า กิจกรรมพิเศษจัดให้มีขึ้นเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้พักผ่อนหย่อนใจ สนุกสนาน และทำบุญด้วย การบริการอาสาสมัคร (Voluntary Service) ได้แก่ กิจกรรมที่บุคคลสมัครใจเข้าร่วมด้วยความสมัครใจ และเป็นกิจกรรมที่บริการอาสาสมัครแก่กลุ่มคนหรือชุมชน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เช่น กิจกรรมค่ายอาสาสมัคร การบำเพ็ญประโยชน์สาธารณสถาน การพัฒนาขุดลอกคูคลอง การปลูกป่า ฯลฯ และไม่ว่าเราจะเลือกกิจกรรมนันทนาการรูปแบบใด ในการเติมเต็มพลังแห่งความสดชื่นและผ่อนคลายให้กับตัวเอง ... กิจกรรมนันทนาการดังกล่าวก็เป็นพื้นฐานในการปรับระดับและยกคุณภาพชีวิตและสุขภาพชีวิต พร้อมๆ ไปกับการสร้างความสุขให้เกิดขึ้นจากทางร่างกายและจิตใจในระยะยาวอย่างแท้จริง. ผู้ที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับนันทนาการหรือแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2550-2554) สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมพลศึกษา สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ www.osrd.go.th โทร.02-214-0134 ต่อ 4500-1

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ