กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--กองงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
“ประเทศไทยต้องขยับตัวให้เร็วและทันเหตุการณ์ ถ้ายังต้องการจะรักษาบทบาทสำคัญในภูมิภาคนี้เอาไว้ และอยากจะคงฐานะศูนย์กลางการผลิตและการบริการ” ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
วันนี้ซึ่งเป็นวันแรกของการทำงานภายหลังเกิด “วิกฤติ 19 พฤษภา” นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้จัดเวทีสัมมนาที่มีผู้เข้าร่วมฟังซึ่งล้วนเป็นกลุ่มนักธุรกิจราว 300 คน เพื่อประกาศสิทธิพิเศษที่มีทั้งด้านภาษี และด้านศูนย์บริหารเงิน เพื่อจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคในประเทศไทย
สิทธิพิเศษใหม่ที่จะมีผลตั้งแต่วันอังคารที่ 1 มิถุนายนนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้บริษัทเหล่านั้นสามารถแข่งขันได้มากขึ้น ด้วยภาษีที่ต่ำกว่า รวมถึงการอำนวยความสะดวก การลดงานด้านเอกสาร และขั้นตอนอื่นๆ
การสัมมนานี้จัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐเข้าร่วมงานประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมสรรพากร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้บริหารจากธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
รมช. ประดิษฐ์ กล่าวว่า “ถึงแม้ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลจะประสบกับวิกฤติทางการเมืองที่รุนแรง แต่เราก็แสดงให้ภาคธุรกิจต่างประเทศได้เห็นว่า รัฐบาลไทยยังคงทำงานด้านเศรษฐกิจอยู่อย่างต่อเนื่อง และสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นได้ก็คือการนำเสนอสิทธิพิเศษที่มีความหลากหลายนี้ออกมาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายกระทรวง รวมถึงหน่วยงานอิสระอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย”
นายประดิษฐ์ ยังได้กล่าวต่อว่า “เราจะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 15 ปี ให้กับบริษัทที่เข้ามาตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคในประเทศไทย โดยเขาไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ที่ได้รับจากต่างประเทศจากการให้บริการของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคในประเทศไทย และจะจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียงร้อยละ 10 จากรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย”
“นอกจากนั้น สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคของไทย ก็จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 15 เป็นเวลา 8 ปี” นายประดิษฐ์ กล่าว
นายประดิษฐ์ ยังได้กล่าวต่อว่า “สิทธิพิเศษที่ประเทศไทยมอบให้กับการเข้ามาตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคนี้ ถือว่าเป็นแพ็คเกจที่จูงใจมากที่สุดในภูมิภาคนี้”
“เราต้องการจะดึงดูดบริษัทที่มีสำนักงานปฎิบัติการภูมิภาคเหล่านี้ เพราะพวกเขาจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจอย่างมากมาย”
“เราจะทำให้หลายๆ อย่างง่ายขึ้น เพื่อให้บริษัทสามารถเข้าเกณฑ์การเป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ด้วยการผ่อนปรนให้บริษัทสามารถทยอยตั้งบริษัทในเครือ หรือสาขาในต่างประเทศ 3 แห่ง ภายใน 5 ปี และเราจะทำให้การทำงานง่ายขึ้นอีกด้วยการลดขั้นตอนที่เกิดจากระบบราชการ และกฎระเบียบที่ไม่เอื้อประโยชน์ รวมถึงเราจะสร้างแรงจูงใจด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้มากขึ้นด้วย” นายประดิษฐ์ กล่าว
สำหรับประเภทของการให้บริการในการตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ประกอบด้วย ธุรกิจการบริหารงานทั่วไป การวางแผนธุรกิจและการประสานงานทางธุรกิจ ธุรกิจการจัดการวัตถุดิบและชิ้นส่วน ธุรกิจการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ธุรกิจด้านการสนับสนุนด้านเทคนิค ธุรกิจการส่งเสริมด้านการตลาดและการขาย ธุรกิจด้านการบริหารงานบุคคลและการฝึกอบรมในภูมิภาค ธุรกิจการให้คำปรึกษาด้านการเงิน ธุรกิจการวิเคราะห์และวิจัยด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ธุรกิจการจัดการและควบคุมสินเชื่อ และธุรกิจการให้บริการสนับสนุนอื่นๆ ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศ
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะให้การสนับสนุนนโยบายนี้ ด้วยการผ่อนปรนเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการดำเนินธุรกรรมเงินตราสกุลต่างประเทศของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคให้มีความง่ายขึ้น
“เราจะมีการผ่อนปรนเงื่อนไขการดำเนินงานของศูนย์บริหารเงิน เช่น จะอนุญาตให้โอน กู้หรือยืมเงินสำหรับธุรกิจในเครือเป็นเงินตราต่างประเทศได้โดยไม่ต้องแปลงเป็นเงินบาทซึ่งทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว
นายสถิตย์ กล่าวอีกว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนยังได้ลดงานด้านเอกสารที่เคยขอจากบริษัทต่างๆ รวมถึงลดระยะเวลาในการพิจารณาขอรับสิทธิพิเศษ และอื่นๆ ลงอีกด้วย
นายประดิษฐ์ กล่าวว่า “การเข้ามาตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคในประเทศไทยของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ จะสร้างประโยชน์อย่างมหาศาลต่อประเทศ เพราะจะมีผู้บริหารต่างชาติที่มีรายได้สูงย้ายเข้ามาในไทย ทำให้มีความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น รวมถึงมีการจับจ่ายใช้สอย และซื้อสินค้าที่สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และการท่องเที่ยวของไทย เนื่องจากจะมีการจัดงานระดับนานาชาติในเมืองไทยมากขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ของบริษัทนั้นๆ ก็จะมีการเดินทางไปมากับสำนักงานภูมิภาคอยู่ตลอดเวลา”
นายประดิษฐ์กล่าวว่า ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดก็คือ การที่มีบริษัทข้ามชาติเข้ามาตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคในไทยจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับพนักงานคนไทยได้ก้าวไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นในระดับภูมิภาค มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความรับผิดชอบสูงขึ้นด้วย
นายประดิษฐ์ กล่าวว่า ”การดำเนินงานของเราจะต้องตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของภาคธุรกิจได้ และเราต้องทำให้มันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมโครงการนี้จึงได้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชน และหน่วยงานรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมสรรพากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รวมถึง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย”
“ในอีก 5 ปีข้างหน้า เมื่อกำแพงการค้าภายในภูมิภาคอาเซียนพังทลายลง ก็จะทำให้บริษัทต่างๆ ทำงานได้ง่ายขึ้นในประเทศที่เขาเลือกที่จะตั้งเป็นสำนักงานภูมิภาค ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องขยับตัวให้เร็ว และทันต่อเหตุการณ์ ถ้าหากเรายังต้องการจะรักษาบทบาทสำคัญในภูมิภาคนี้เอาไว้ และอยากจะคงฐานะของความเป็นศูนย์กลางทางด้านการผลิตและการบริการต่อไป” นายประดิษฐ์ กล่าว
สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อกองงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์)
โทรศัพท์ 02-271 2526 หรือ นายไพโรจน์