กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 13/2553 ซึ่งมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ ตามนโยบายรัฐบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ เมื่อ 19 พ.ย. 52 โดยให้ลูกหนี้นอกระบบลงทะเบียนกับธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ระยะแรกระหว่าง 1-30 ธ.ค. 52 และขยายเวลาต่อถึง 31 ม.ค. 53 และหลังจากนั้นดำเนินการตามขั้นตอน กระบวนการแก้ไขปัญหาต่อไปโดยจังหวัดต่างๆ และกรุงเทพมหานคร
โดยกรุงเทพมหานครทำหน้าที่ดำเนินการเจรจาประนอมหนี้ จำนวน 40,488 ราย ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่มีมูลหนี้ตั้งแต่ 50,001—200,000 บาท มูลหนี้รวม 4,728.95 ล้านบาท พร้อมจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบระดับสำนักงานเขต โดยมีผู้อำนวยการเขตเป็นผู้อำนวยการศูนย์ และหัวหน้าฝ่ายปกครอง เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งนางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบระดับกทม. ได้สั่งการให้ขยายเวลาการเจรจาประนอมหนี้จนถึง 10 พ.ค.53 และมีผลการดำเนินของสำนักงานเขต 50 สำนักงานเขต ดังนี้ ลูกหนี้ของกทม. จำนวน 40,488 ราย เชิญมาเจรจาแล้ว จำนวน 40,480 ราย คิดเป็นร้อยละ 99.97 ดำเนินการแล้ว จำนวน 40,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 98.79 ไม่มาเจรจา จำนวน 23,416 ราย คิดเป็นร้อยละ 57.83 มาเจรจา จำนวน 16,584 ราย คิดเป็นร้อยละ 40.96
สำหรับผลการเจรจาแบ่งออกเป็น กลุ่มที่เจรจาสำเร็จ จำนวน 13,590 ราย คิดเป็นร้อยละ 33.57 โดยประสงค์โอนเป็นลูกหนี้ธนาคาร 13,386 ราย คิดเป็นร้อยละ 33.06 (วงเงินที่ลูกหนี้ประสงค์ขอกู้รวม 1,480.87 ล้านบาท) และไม่ประสงค์โอนเป็นลูกหนี้ธนาคาร 204 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.50 สำหรับกลุ่มที่เจรจาไม่สำเร็จ จำนวน 1,465 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.61 และกลุ่มที่ยุติเรื่อง จำนวน 1,601 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.95 ทั้งนี้ ผลการดำเนินการเจรจาประนอมหนี้ของ 50 เขต มีลูกหนี้ซึ่งเขตออกหนังสือเชิญไปแล้ว แต่ไม่มาเจรจาฯ ตามกำหนดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 50 กทม.จึงสั่งการให้ทุกเขตจัดทำหนังสือเชิญลูกหนี้ที่ไม่ได้มาเจรจาอีกครั้งหนึ่งโดยเร็ว และให้ดำเนินการเจรจาให้แล้วเสร็จภายใน 27 พ.ค. 53
พร้อมกันนี้กรุงเทพมหานครได้จัดเตรียมแผนการดำเนินงานต่อเนื่องการฟื้นฟูปรับแนวคิดในการดำเนินชีวิตสำหรับลูกหนี้ ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือไม่สามารถผ่อนชำระหนี้กับธนาคารได้ โดยสนับสนุนให้ลูกหนี้สามารถประกอบอาชีพที่เหมาะสม มีรายได้เพียงพอและมีเงินเหลือเก็บออม สามารถชำระหนี้ได้โดยไม่เดือดร้อน ซึ่งในระยะยาวจะช่วยให้ลูกหนี้มีชีวิต ฐานะที่มั่นคง พร้อมประสานกระทรวงการคลังเพื่อให้ความช่วยเหลือผ่านโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร และให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างวินัยทางการเงินผ่านศูนย์ส่งเสริมการบริหารเงินออมครอบครัว