ไตรมาสแรก PRANDA รายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 28.92 % ผลจากการ ขยายแบรนด์ ในจีน อินเดีย ยุโรป และการฟื้นตัวในสหรัฐฯ อังกฤษ และเยอรมนี

ข่าวทั่วไป Tuesday May 25, 2010 11:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--แพรนด้า จิวเวลรี่ ไตรมาสแรก PRANDA รายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 28.92 % ผลจากการ ขยายแบรนด์ ในจีน อินเดีย ยุโรป และการฟื้นตัวในสหรัฐอังกฤษ และเยอรมนี รายงานข่าวจาก บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินการของบริษัท และบริษัทย่อย ในงวด 3 เดือนแรกของปี 2553 มีรายได้จากการขายจำนวน 1,017.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 228.17 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.92 โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าวมีปัจจัยสำคัญมาจากการพัฒนาแบรนด์ของตนเองและขยายตลาดใหม่ในประเทศ จีน อินเดีย และยุโรป รวมทั้งการฟื้นตัวในตลาดอเมริกา อังกฤษ และเยอรมนี พร้อมทั้งได้มีการปรับ กลยุทธ์กลุ่มสินค้า โดยการปรับสัดส่วนการผลิตเครื่องประดับทองต่อเครื่องประดับเงินเป็น 20:80 ทำให้สามารถรักษาฐานลูกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้าใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและในทวีปยุโรป โดยเมื่อหักต้นทุนขายแล้วทำให้มีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ในระดับ 39.49% ใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในการขาย และบริหารลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 57.10 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการลดลงร้อยละ 20.80 เนื่องจากไม่มีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ รวมทั้งได้มีการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีกำไรจากการดำเนินงาน 184.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 135.11 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 274.95 อย่างไรก็ตามจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร รวมทั้งค่าใช้จ่ายทางการเงินที่ลดลงทำให้บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 36.37 ล้านบาท เป็น 90.23 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 148.07 จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเนื่องอันเริ่มต้นจากปี 2551 และถึงแม้ว่าจะมีสัญญานการฟื้นตัวช่วงกลางปี 2552 อันเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงแฝงอยู่อย่างมีนัยสำคัญ แต่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศไทยยังคงมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตเกินกว่า 10% ต่อปีมาตลอด 5 ปีย้อนหลัง ประกอบกับรัฐบาลยังให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับโดยพิจารณาได้จากการยกเว้น VAT ให้แก่พลอยนำเข้าทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าพลอยระดับโลก รวมถึงการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเปิดตลาดใหม่ และการให้สินเชื่อพิเศษแก่อุตสาหกรรมฯ ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ และภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการแข่งขัน จึงมีความมั่นใจได้ว่าอุตสาหกรรมฯ นี้สามารถเติบโตในระยะยาวได้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ในปัจจุบันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีคู่แข่งที่สำคัญได้แก่ จีน และ อินเดีย ซึ่งผลิตสินค้าประเภทแรงงานฝีมือเช่นเดียวกับประเทศไทย ดังนั้นบริษัทฯ จึงตระหนักถึงสภาพการแข่งขัน และมองเห็นแนวโน้มของอุตสาหกรรมฯ อย่างชัดเจน จึงได้มุ่งขยายจากการเป็นผู้ผลิตสินค้าเครื่องประดับอัญมณีกลุ่มกลาง-สูง (Medium-High End) ให้กับแบรนด์ระดับโลกมาเป็น "บริษัทแบรนด์เครื่องประดับอัญมณีระดับโลก" (World Class Jewelry Brand Company) ซึ่งมีฐานการจัดจำหน่ายและค้าปลีกกระจายไปตามภูมิภาคที่สำคัญของโลก ส่งผลให้ผลการดำเนินการของบริษัทฯ และบริษัทย่อยสำหรับไตรมาสที่ 1 /2553 มียอดขายเพิ่มขึ้นดังกล่าวข้างต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ