กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--ธ.ออมสิน
ธนาคารออมสินโชว์ผลประกอบการปี 49 กำไรสุทธิพุ่งเฉียด 13,700 ล้านบาท ยอดเงินฝากทะลุ 600,000 ล้าน ขณะที่พอร์ตสินเชื่อกว่า 432,000 ล้าน มียอดหนี้เสียเพียงร้อยละ 3.82 ต่ำกว่าที่คาด ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เผย 4 นโยบายหลักปี 2550 ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งสู่สถาบันการออม การลงทุน บ่มเพาะและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้แข็งแกร่ง และผลักดันธุรกรรมการเงินที่ครบวงจรเพื่อให้บริการเข้าถึงประชาชนทุกระดับ
นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ผลประกอบการของ ธนาคารออมสินในปี 2549 ปรากฏว่า มีกำไรสุทธิก่อนการตรวจสอบโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน 13,669 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ที่มีกำไรสุทธิ 13,242 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.22 โดยสาเหตุหลักมาจากการที่ในปี 2549 ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิ (NII) 24,084 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2548 จำนวน 1,936 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.74 (ซึ่งมาจากการที่ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยและ เงินปันผลจำนวน 36,326 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2548 จำนวน 7,049 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและเงินรางวัลมีจำนวน 12,242 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,113 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้ธนาคารทุกแห่ง ตั้งสำรอง ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มจากเกณฑ์ปกติ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (International Accounting Standards ฉบับที่ 39) หรือ IAS39 ซึ่งจะให้ธนาคารในระบบใช้เกณฑ์ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นไป ดังนั้นในปี 2549 ธนาคารจึงได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มจากเกณฑ์ปกติเป็นจำนวนถึง 3,600 ล้านบาท สูงกว่าเกณฑ์ IAS39 ประมาณ 1,200 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิในปี 2549 อยู่ที่ 10,069 ล้านบาท ลดลงจากปี 2548 จำนวน 2,272 ล้านบาท โดยในปี 2548 ธนาคารออมสินได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามเกณฑ์เดิมเพียง 900 ล้านบาท ทำให้ปี 2548 มี กำไรสุทธิหลังหักการตั้งสำรองฯ 12,342 ล้านบาท
ทั้งนี้ ธนาคารมีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs อยู่ที่ร้อยละ 3.82 ของยอดสินเชื่อรวมคงเหลือ 432,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนที่อยู่ในระดับต่ำกว่าคาดการณ์ในระดับร้อยละ 4.00 ถือว่าธนาคารออมสินมีสัดส่วนหนี้ NPLs อยู่ในระดับต่ำ แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพของธนาคาร
“หากจะนับยอดหนี้ NPLs ที่ทุกสถาบันการเงินต้องรายงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทยตามเกณฑ์ IAS39 ซึ่งเป็นการรายงานยอด NPLs net (นำยอด NPLs คงค้างหักด้วยเงินสำรองของ NPLs ทั้งหมด) ซึ่งปัจจุบันธนาคารออมสินได้กันสำรองครบ 100% โดยไม่หักมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสด ที่คาดว่าจะได้รับจากลูกหนี้หรือจากหลักประกัน ทำให้ยอด NPLs net ของธนาคารออมสินเท่ากับ ร้อยละ 0” นายกรพจน์ กล่าว
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวต่อไปว่า สำหรับในด้านเงินฝาก ณ สิ้นปี 2549 ธนาคาร มียอดเงินฝากคงเหลือ 614,233 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 30,982 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.31 ขณะที่ ปี 2548 มีเงินฝากเพิ่มขึ้นสุทธิเพียง 3,022 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.52 ขณะที่สินทรัพย์รวมอยู่ที่ 711,492 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31,420 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.62 ซึ่งสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นมาจากเงินฝาก โดยที่ส่วนของทุนอยู่ที่ 76,667 ล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนของทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ร้อยละ 22.26 เป็นอัตราส่วนที่สูงเมื่อเทียบในระบบธนาคาร
“ในปี 2549 เป็นอีกปีที่ธนาคารออมสินมีอัตราการขยายตัวที่ดีในแทบทุกด้าน ซึ่งเกิดจากการวาง กลยุทธ์ที่ครอบคลุมในทุกด้าน การบริหารงานที่มีประสิทธิภาพที่นำไปสู่เป้าหมาย และความร่วมมือร่วมใจ ของพนักงานทุกคน ที่นำนโยบายของธนาคารทั้งในเชิงสังคมและธุรกิจไปปรับใช้ในการทำงาน ซึ่งอัตราส่วนทางการเงินเกือบทุกด้านสะท้อนการทำงานอย่างหนักของพนักงานทุกคนได้เป็นอย่างดี โดยผลการดำเนินงานข้างต้นไม่เพียงสะท้อนฐานะทางการเงินที่มั่นคง แต่ยังแสดงออกถึงศักยภาพของธนาคารที่โดดเด่นด้วยบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจด้านต่างๆ ” นายกรพจน์ กล่าว
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานในปี 2550 ธนาคาร ได้กำหนดนโยบายหลัก 4 ด้าน ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นสถาบันที่มั่นคงของประเทศ เพื่อการออม การลงทุน การสร้างเศรษฐกิจชุมชน การพัฒนาประเทศ และการบริการทางการเงินที่ครบวงจรแก่ประชาชนทุกระดับ ทั่วประเทศ” ดังต่อไปนี้
1. นโยบายส่งเสริมการออมและสร้างวินัยทางการเงิน มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจด้านการออมให้มีความหลากหลายและครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกกลุ่ม ด้วยการทำประชาสัมพันธ์และการตลาดเชิงรุก พร้อมทั้ง จัดกิจกรรมส่งเสริมการออมและสร้างวินัยทางการเงิน
2. นโยบายส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับฐานรากตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นสนับสนุนเงินทุนหรือเงินกู้ยืมแก่ลูกค้าในระดับฐานรากและวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพลูกค้าฐานราก การสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินชุมชน
3. นโยบายเพิ่มและขยายการให้บริการและธุรกรรมทางการเงิน มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจและบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ขยายขอบเขตธุรกรรมในส่วนที่ธนาคารยังไม่ชำนาญ ขยายสินเชื่อข้อตกลงกับหน่วยงาน และให้สินเชื่อต่อยอดแก่ลูกค้าชั้นดี ดำเนินการพ่วงผลิตภัณฑ์ (Cross Selling) รวมถึงการขยายช่องทางให้บริการในรูปแบบสาขา หน่วยให้บริการ รถเคลื่อนที่ และช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งเพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เพื่อสนับสนุนการลงทุนพัฒนาประเทศ
4. นโยบายเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขัน มุ่งเน้นการบริหารและพัฒนาด้านทรัพยากรบุคคลให้เพียงพอทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ การปรับปรุงภาพลักษณ์ สำนักงานสาขาและสำนักงานใหญ่ ตลอดจนปรับปรุงประสิทธิภาพการวางแผน โดยใช้ Balanced Scorecard และ Economic Value Added การบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน พัฒนาระบบ Core Banking และระบบข้อมูลเพื่อการบริหาร
ทั้งนี้ ในปี 2550 ธนาคารออมสินตั้งเป้าหมายจะมีเงินฝากเพิ่มขึ้น 20,000 ล้านบาท ให้สินเชื่อ 142,000 ล้านบาท โดยจะเน้นสินเชื่อรายย่อยเป็นหลัก ขณะที่เงินลงทุนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10,600 ล้านบาท เพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียมประมาณ 1,700 ล้านบาท โดยคาดว่าในปี 2550 ธนาคารออมสินจะมีกำไรสุทธิในระดับที่สูงกว่า 10,000 ล้านบาท ทั้งที่ในปี 2550 จะอยู่ในภาวะที่ต้นทุนสูง เนื่องจากภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง ที่ต่อเนื่องมาจากปี 2549 และการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามเกณฑ์ IAS39
“ในปี 2550 ธนาคารออมสินจะเดินหน้าปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลให้มากยิ่งขึ้น และรุกอย่าง เต็มตัว โดยอาศัยจุดแข็งของธนาคารคือ เครือข่ายสาขากว่า 600 แห่งซึ่งครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ กับความสัมพันธ์อันดีของพนักงานธนาคารกับประชาชนในพื้นที่ ที่จะเป็นปัจจัยหนุนให้ธุรกิจสินเชื่อของธนาคารออมสินในปี 2550 ขยายตัวไปได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้จะเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอยู่ใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์อันดีกับธนาคารออมสินมาโดยตลอด” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว
สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลที่ธนาคารจะเร่งดำเนินการปล่อยกู้ในปี 2550 นี้ ได้แก่ สินเชื่อ เคหะเพิ่มยอด (GSB Plus) เป็นสินเชื่อเอนกประสงค์สำหรับลูกค้าสินเชื่อเคหะทั้งของธนาคารออมสินและสถาบันการเงินอื่นที่มีประวัติการชำระเงินดีหรือผ่อนเงินกู้ใกล้หมดแล้ว โดยธนาคารให้วงเงินสูงสุดเท่ากับวงเงินกู้เดิมหรือไม่เกินราคาประเมินหลักประกัน สินเชื่อภาครัฐเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นโครงการที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ อาทิ โครงการสร้างศูนย์เลี้ยงเด็กในชุมชน ตลาดสด ศูนย์กีฬา สถานีขนส่ง ท่าเรือ เป็นต้น ซึ่งนอกเหนือจากการให้สินเชื่อแล้วธนาคารจะคอยให้คำแนะนำในการดำเนินโครงการควบคู่ไปด้วย
นอกจากนี้ ยังมี สินเชื่อเคหะ และ สินเชื่อเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึง สินเชื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งธนาคารออมสินได้ดำเนินโครงการนี้มากว่า 7 ปีแล้ว และเร็วๆ นี้ ธนาคารจะสามารถเริ่มปล่อยสินเชื่อตามโครงการปรับโครงสร้างหนี้ครูตามวิทยฐานะตามนโยบายของรัฐบาล โดยที่ธนาคารได้ผ่อนคลายเงื่อนไขหลักเกณฑ์เดิมเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้น
“อย่างไรก็ตาม ธนาคารออมสินจะยังคงบทบาท ด้านสังคม ที่มุ่งเน้นสนับสนุนสินเชื่อควบคู่กับการจัดฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพ สนับสนุนการเปิดสถาบันการเงินชุมชน ส่งเสริมและขยายกิจกรรมการออม ในสถาบันการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ส่วน ด้านธุรกิจ จะเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งที่ได้เปิดให้บริการแล้ว และธุรกรรมการเงินใหม่ๆ เพื่อให้ธนาคารออมสินเป็นสถาบันการเงินที่สามารถให้บริการได้อย่างครบวงจรสำหรับลูกค้าทุกเพศ ทุกวัย และทุกระดับ” นายกรพจน์ กล่าวในที่สุด
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net