กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เปิดเผยว่า กรณีเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมบริเวณพื้นที่ราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียงในช่วงเดือนเมษายน — พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา ส่งผลให้สถานประกอบการ อาคาร ศูนย์การค้า และธนาคาร ฯลฯ ในกรุงเทพมหานครได้รับความเสียหาย จำนวนทั้งสิ้น 35 แห่ง สำนักงาน คปภ. ได้มีการประชุมหารือร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัย เพื่อวางกรอบและหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยในเบื้องต้นพอสรุปได้ดังนี้
1. สำนักงาน คปภ. ได้มีการกำหนดเขตการรับประกันภัยในกรุงเทพมหานคร โดยจัดเป็นบล็อกประกันภัย จำนวนทั้งสิ้น 1,610 บล็อก ซึ่งแต่ละบล็อกจะมีข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับการประกันภัย สามารถสืบค้นได้โดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ จากสถานการณ์ความไม่สงบดังกล่าว ที่มีผลกระทบต่อพื้นที่รับประกันภัย แยกออกเป็นรายใหญ่และรายย่อยรวม 7 บล็อกหลัก และสามารถระบุการเอาประกันภัยของทรัพย์สินหรืออาคารที่ได้รับความเสียหายได้ นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้บริษัทประกันภัยสำรวจผลกระทบทั้งหมดจากเหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง
2. ทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบครั้งนี้ ที่ได้รับรายงานมีการ ทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินไว้กับบริษัทประกันภัย จำนวน 30 บริษัท แต่มีการซื้อประกันภัยคุ้มครอง ภัยก่อการร้ายไว้เพียง 6 บริษัท ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินความเสียหาย ได้แก่
บริษัทที่ 1 - บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกันภัยบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) มูลค่า 3,500 ล้านบาท ซึ่งมีการประกันภัยต่อต่างประเทศ และขณะนี้ได้ส่งบริษัท McCalain ผู้สำรวจภัยรายใหญ่เข้าสำรวจความเสียหายแล้ว
บริษัทที่ 2 — บริษัทเทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกันภัยห้างสรรพสินค้าเซน มูลค่า 3,300 ล้านบาท อยู่ระหว่างการประเมินมูลค่าความเสียหาย
บริษัทที่ 3 — บริษัทนวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกันภัยบริษัทโรงแรม เพรสซิเดนซ์ และทาวเวอร์ จำกัด มูลค่า 200 ล้านบาท
บริษัทที่ 4 — บริษัทสยามซิตี้ประกันภัย จำกัด รับประกันภัยธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) มูลค่า 60 ล้านบาท (5 ล้านบาท/สาขา)
บริษัทที่ 5 — บริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกันภัยธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และสาขาทั่วประเทศ มูลค่า 200 ล้านบาท
บริษัทที่ 6 — บริษัทเมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกันภัยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
สำหรับการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก มีการทำประกันภัยไว้กับ 2 บริษัท ได้แก่
บริษัทที่ 1 - บริษัทเทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกันภัยบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) /ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ มูลค่า 6,147 ล้านบาท
บริษัทที่ 2 — บริษัทแอ๊กซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกันภัยรายย่อยในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จำนวน 3 ราย คือ แฟชั่นสตูดิโอ มูลค่า 135 ล้านบาท ห้างจัสปาล มูลค่า 351 ล้านบาท และบริษัทเพียรเจริญจิวเวลรี่เฮ้าส์ จำกัด มูลค่า 120,000 บาท
3. ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ได้รับความเสียหาย ได้มีการทำประกันอัคคีภัย และประกัน ความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน(IAR)ไว้ แต่ไม่ซื้อความคุ้มครองสำหรับภัยก่อการร้าย ดังนั้น สำนักงาน คปภ.จึงได้ขอความร่วมมือกับสมาคมประกันวินาศภัย และบริษัทประกันวินาศภัย ให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย โดยพิจารณาเป็นรายๆไป โดยสรุปการดำเนินการ ดังนี้
3.1 สำรวจความเสียหาย โดยเน้นกลุ่มรายย่อย (ทุนประกันภัยไม่เกิน 5 ล้านบาท)ก่อน โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 3 มิถุนายน 2553 และจะสรุปรวบรวมความเสียหายทั้งหมดได้ภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2553 เพื่อพิจารณาการให้ความช่วยเหลือ
3.2 ความช่วยเหลือจะพิจารณาเป็นรายๆไป โดยมีหลักเกณฑ์ให้บริษัทพิจารณาจำนวนผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายของแต่ละบริษัท ทั้งนี้ให้คำนึงถึงความสามารถและฐานะการเงินของบริษัทประกันภัยด้วย
3.3 บริษัทจะเจรจากับบริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศเพื่อขอความช่วยเหลือในกรณีที่มิได้ซื้อความคุ้มครองภัยก่อการร้าย
3.4 ขอให้รัฐบาลใช้มาตรการทางภาษีเพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับบริษัทประกันภัยในการ ให้ความช่วยเหลือดังกล่าว โดยสามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณเงินได้ เพื่อเสียภาษีประจำปี
4. ในกรณีของการประกันชีวิต จากการสำรวจพบว่า ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีการทำประกันภัยไว้กับบริษัทประกันชีวิต จำนวน 9 บริษัท รวมทั้งสิ้น 17 กรมธรรม์ มูลค่าผลประโยชน์มรณกรรมรวม 2.3 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186
ฝ่ายสื่อสารองค์กร
โทร : 0-2513-1680
โทรสาร : 0-2513-1437