คาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ ของดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

ข่าวทั่วไป Tuesday May 25, 2010 17:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--มหาวิทยาลัยรังสิต คาดการณ์ผลกระทบของวิกฤตการณ์ทางการเมืองส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาสสองขยายตัวติดลบไม่ต่ำกว่า -5% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะมีกระเตื้องขึ้นในช่วงไตรมาสสี่แต่อัตราการขยายตัวไตรมาสสี่จะติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสสี่ปีที่แล้ว และยังคงไม่ปรับการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2553 ที่ระดับ 2.5-3.5% ซึ่งได้เผยแพร่การคาดการณ์ตั้งแต่ต้นปี แต่มองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตตามกรอบด้านล่าง (2.5%) มากกว่ากรอบด้านบน (3.5%) หลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ความเสียหายเบื้องต้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะต่ำกว่า 452,500 ล้านบาท คนตกงานไม่ต่ำกว่า 50,000 คน ธุรกิจท่องเที่ยวเสียหายกว่า 1.6 แสนล้านบาท ชี้ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นเป็น Failed State หรือ รัฐล้มเหลงในขณะนี้ วิจารณ์รัฐงบห้าหมื่นล้านบาทไม่เพียงพอต่อการรักษาระดับการเติบโตที่เหมาะสมพร้อมเสนอแนะมาตรการแก้ปัญหา คณบดีเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต เสนอทางการปีนี้ยังไม่ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและควรยืดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจบางมาตรการออกไปอีกอย่างน้อย ๖ เดือน หากความรุนแรงจากวิกฤตการณ์การเมืองยังเกิดขึ้นอีก ไทยอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในปีนี้ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยถึง ผลกระทบของวิกฤตการณ์ทางการเมืองต่อเศรษฐกิจไทย ว่าผลกระทบของวิกฤตการณ์ทางการเมืองเมษายน — พฤษภาคม พ.ศ. 2553 จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาสสองขยายตัวติดลบไม่ต่ำกว่า -5% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีนี้ (QoQ) ทางคณะเศรษฐศาสตร์ และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีกระเตื้องขึ้นได้ในช่วงไตรมาสสี่แต่อัตราการขยายตัวจะติดลบเมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว (YoY) และยังคงไม่ปรับการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2553 ที่ระดับ 2.5-3.5% ซึ่งได้เผยแพร่การคาดการณ์ตั้งแต่ต้นปี แต่มองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตตามกรอบด้านล่าง (2.5%) มากกว่ากรอบด้านบน (3.5%) หลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ความเสียหายเบื้องต้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะต่ำกว่า 452,000 ล้านบาท โดยที่ความเสียหายในส่วนของธุรกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยตรงไม่ต่ำกว่า 160,000 ล้านบาท ความเสียหายต่อทรัพย์สินและอาคารต่างๆ การสูญเสียโอกาสทางธุรกิจการค้ารวมทั้งความเสียหายต่อบริษัทประกันภัยไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท ความเสียหายต่อการลงทุนและการบริโภคไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท ภาคส่งออกและภาคการค้าไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท มีผลต่อการตกงานไม่ต่ำกว่า 50,000 คน ความเสียหายเหล่านี้ยังไม่รวมต้นทุนระยะยาวของประเทศทางด้านต่างๆและต้นทุนค่าเสียโอกาสจำนวนมาก รวมทั้งการสูญเสียชีวิตของผู้คนที่ไม่อาจประเมินค่าได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าน่าจะเป็นผลกระทบระยะยาวที่มีต่อประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกับกรณีที่สี่ที่ทางศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูปได้ทำคาดการณ์ไว้เมื่อเดือน ก.พ. 2553 เขากล่าวอีกว่า หากรัฐบาลไม่สามารถทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงและมีเสถียรภาพได้ หากความรุนแรงและวิกฤตการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นต่อไป ย่อมมีความเป็นได้ที่ไทยอาจได้รับการปรับลดความน่าเชื่อถือจากสถาบันจัดอันดับเครดิตอย่างมูดี้ส์ (Moody) เอสแอนด์พี (S&P) และฟิทซ์เรทติ้ง (Fitch Rating) ภายในปีนี้และจะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น ทางการจึงไม่ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน และรัฐบาลควรยืดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปอีก 6 เดือน เช่น มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ตนเห็นว่างบห้าหมื่นล้านเพื่อเยียวยาผลกระทบไม่เพียงพอ และ ข้อเสนอแนะดังนี้ (ดูเอกสารประกอบ) ส่วนค่าเงินบาทในช่วงไตรมาสสองและไตรมาสสามมีโอกาสอ่อนค่าลงจากเงินทุนไหลออกแต่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินยูโร อย่างไรก็ตาม เงินบาทจะมีความผันผวนสูงทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก โดยปัจจัยภายนอกที่ต้องจับตามอง คือ การลอยตัวของค่าเงินด่องเวียดนาม และ การเพิ่มค่าเงินหยวนของจีน สำหรับ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีความผันผวนสูงขึ้นและมีความอ่อนไหวจากปัจจัยการเมืองภายในประเทศ นักลงทุนต่างชาติน่าจะเทขายสุทธิต่อเนื่อง โอกาสที่ดัชนีจะดีดขึ้นแรงๆในระยะสั้นนั้นแทบจะไม่มี อย่างไรก็ตาม Sector ที่น่าลงทุน ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอาหารส่งออก กลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ กลุ่มพลังงาน กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น นักลงทุนไม่ควรนำเอาผลประกอบการในไตรมาสหนึ่งมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจลงทุนเพราะสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว รศ.สมเกียรติ โอสถสภา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงรายละเอียดของความเสียหายในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวว่า 1. การทำลายทรัพยากรการท่องเที่ยวในกลางกรุงเทพมหานคร คือ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ จะส่งผลกระทบต่อความต้องการมาเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีน อินเดีย ยุโรปตะวันออก และตะวันออกกลาง รวมถึงนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่นิยมการช้อปปิ้ง 2. ซากอาคาร การเผาไหม้อาจใช้เวลารื้อถอน (รวมถึงการเจรจาสิทธิต่าง ๆ) ถึง 6 เดือน กลายเป็นสิ่งอุจาดตาในกรุงเทพมหานคร เสียเปรียบในการแข่งขัน เมื่อเทียบกับฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย เซี่ยงไฮ้ 3. ตัวกำหนดชี้ขาดการท่องเที่ยวไทย คือ จะต้องไม่มีการก่อวินาศกรรมเพิ่มเติมอย่างเด็ดขาดใน 3 เดือนข้างหน้า โดยหวังว่ารัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะยกเลิกคำสั่งห้าม และลดระดับการเตือนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาประเทศไทย หากมีการก่อวินาศกรรมเพิ่มเติม การท่องเที่ยวไทยจะทรุดตัวต่อเนื่อง 4. รัฐบาลจะต้องควบคุมการก่อเหตุในต่างจังหวัดให้ได้ภายใน 3 เดือนในระดับที่ไม่มีการก่อเหตุเลย เพื่อลดพื้นที่ภัยคุกคามความรุนแรงให้ลดลง และจะช่วยลดระดับการเตือนภัยผู้มาท่องเที่ยวในไทย 5. หากรัฐบาลทำได้ และได้รับความร่วมมือในข้อ 3 และ 4 การท่องเที่ยวไทยน่าจะฟื้นตัวได้ระดับหนึ่งในปลายปี ด้วยเหตุผลดังนี้ 5.1 นักท่องเที่ยวมายังประเทศไทย 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นนักท่องเที่ยวที่มาเยือนซ้ำ เช่น เป็นความชอบถาวร (คุณภาพสินค้า) เป็นผู้มีหุ้นส่วนธุรกิจ หุ้นส่วนมิตรภาพอื่น ๆ 5.2 ห้างสรรพสินค้าอื่น ๆ เช่น ห้างสยามพารากอน ห้างเซ็นทรัลสาขาอื่น ๆ สามารถแทนที่สิ่งที่ถูกทำลายไปชั่วคราว 5.3 รัฐบาลควรสร้างแนวป้องกันล้อมรั้วให้ลดความอุจาดในบางกรณี และอาจสร้างแหล่งถูกเพลิงไหม้เป็นแหล่งเยี่ยมชมประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับอุโมงค์ในเวียดนาม 5.4 โชคดีที่เหตุเกิดในช่วง Low Season ประเทศไทยจึงมีโอกาสพลิกสถานการณ์ก่อนจะถึง High Season ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ได้กล่าวถึงประเด็นที่ว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นรัฐล้มเหลวหรือไม่ ว่า มีโอกาสน้อยมากที่ประเทศไทยจะเป็น รัฐที่ล้มเหลวในขณะนี้ เนื่องจากไทยยังมีสถาบันทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เข้มแข็งและมีความต่อเนื่องยาวนาน แม้นการบังคับใช้กฎหมาย ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศและระบบยุติธรรมอาจจะถูกสั่นคลอนด้วยวิกฤตการณ์ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่ความเป็นสถาบันยังคงดำรงอยู่แม้นจะอ่อนแอลงมาก พวกเราคนไทยทุกคนสามารถสร้างสรรค์และพัฒนาขึ้นมาใหม่ให้ดีกว่าเดิมได้ เขากล่าวอีกว่า ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐล้มเหลววัดได้จาก “Failed States Index” ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วจะพิจารณาถึงความอ่อนแอของรัฐบาลกลาง หรือความไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมดินแดนของตน การขาดการจัดสรรบริการสาธารณะ การก่ออาชญากรรม และการคอรัปชั่นอย่างกว้างขว้าง การลี้ภัยหรือการย้ายถิ่นฐานอย่างจำเป็นของประชากร หรือสัญญาเตือนของเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง เกิดการก่อจลาจลและความรุนแรงทางการเมือง เกิดภาวะสงครามกลางเมือง คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มีข้อเสนอแนะว่า 1. รัฐสภาควรแต่งตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระและเป็นกลาง สอบสวนข้อเท็จจริงจากกรณีสลายการชุมนุมและการก่อการจลาจล รวมทั้งค้นหาบุคคลสูญหายในช่วงเกิดเหตุการณ์วิกฤติด้วย 2. รัฐบาลควรประสานความร่วมมือไปยังทุกภาคส่วนเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการ และกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมและการก่อการจลาจล รวมทั้งธุรกิจที่ได้รับความเสียหายจากการสลายการชุมนุมและการก่อการจลาจล 3. รัฐสภาควรเสนอให้มีการจัดตั้งสภาเพื่อการปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ โดยให้สมาชิกของสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน เนื่องจากความขัดแย้งครั้งนี้ไม่ได้จบลงด้วยการเจรจาอย่างสันติฉะนั้น ความรุนแรงในอนาคตมีโอกาสเกิดขึ้นอีก เพื่อเป็นลดเงื่อนไขลดความเสี่ยงความรุนแรงนองเลือดและสงครามกลางเมืองในอนาคต จึงเห็นควรจัดตั้ง สภาเพื่อการปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ ขึ้น 4. สำหรับผู้กระทำผิดอาญาต้องมีการพิจารณาคดีตามกระบวนการยุติธรรม สำหรับผู้ละเมิด พ.ร.ก. โดยเป็นเพียงคดีทางการเมืองควรพิจารณานิรโทษกรรม เป็นที่น่าเสียใจและเสียดายที่วิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งนี้จบลงด้วยความรุนแรงและนองเลือดถือเป็นเหตุการณ์ทางการเมือง ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด (85 ศพ) เป็นประวัติการณ์ หากทุกฝ่ายร่วมกัน สานเสวนาเพื่อให้เกิดสันติธรรมตั้งแต่แรกด้วยความจริงใจ เราก็จะสามารถหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ได้ ดร. อนุสรณ์ กล่าวสรุปว่า ความรุนแรงทางการเมืองไม่ว่ากรณีใดๆเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันหลีกเลี่ยงเพราะส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยวในระดับสูงและจะมีผลยืดเยื้อต่อเนื่องต่อไปอีกหลายปี ความขัดแย้งของกลุ่มชนชั้นนำในชาตินำมาสู่ความเดือดร้อนต่อประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งโดยตรง สิ่งนี้สามารถแก้ไขได้โดยพลักดันให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดขึ้นทั้งประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและการเมือง ต้องมีการปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่างๆที่จะนำมาสู่ความขัดแย้งและสภาพอนาธิปไตยอีกรอบหนึ่ง การปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้านจะเป็นทางรอดของประเทศ ข้อมูลประกอบเรื่อง ดัชนีรัฐล้มเหลว (Failed States Index) กลุ่มตัวชี้วัดทางสังคม 1) แรงกัดดันทางประชากรศาสตร์ (Demographic pressures): ในตัวชี้วัดนี้จะรวมถึงปัญหาที่เกิดจากประชากรที่หนาแน่น ซึ่งจะรวมถึงความสัมพันธ์กับปัจจัยที่สำคัญต่างๆ ที่ใช้ในการดำรงชีวิต นอกจากนี้ยังรวมไปถึงประเด็นปัญหาด้านการควบคุมบังคับในการนับถือศาสนา การพังทลายของสิ่งแวดล้อม ประเด็นปัญหาทางประวัติศาสตร์ และความขัดแย้งตามแนวชายแดน 2) การย้ายถิ่นฐานของประชาชนจำนวนมาก (Massive movement of refugees and internally displaced peoples): ในตัวชี้วัดนี้จะพิจารณาถึง ประเด็นปัญหาของการเคลื่อนย้ายชุมชนขนาดใหญ่ที่มีสาเหตุมาจากการขาดแคลน อาหาร ขาดน้ำสะอาด ภัยธรรมชาติ หรือ การแย่งชิงที่ดิน อันนำไปสู่ผลที่คุกคามต่อประเด็นปัญหาด้านความมั่นคงมนุษย์และมนุษยธรรม ทั้งที่เป็นปัญหาภายในประเทศและระหว่างประเทศ 3) กรณีความขัดแย้งของแต่ละกลุ่มชนที่ไม่พอใจเหตุการณ์ในอดีต (Legacy of vengeance-seeking group grievance): คนในประเทศมีความขัดแย้ง แตกแยกกันอย่างชัดเจน มีการทำร้ายแก้แค้นกัน ตัวชี้วัดนี้อยู่บนพื้นฐานของความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นในอดีต แล้วอาจนำมาเป็นเงื่อนไขในปัจจุบัน 4) ปัญหาการไหลออกของทุนมนุษย์ (Chronic and sustained human flight): ในตัวชี้วัดนี้จะครอบคลุมทั้ง การไหลออกของผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และผู้ที่ลี้ภัยทางการเมือง กลุ่มตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ 5) ความไม่ปกติของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Uneven economic development along group lines): ในตัวชี้วัดนี้จะถูกตัดสินใจบนพื้นฐานของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีความแตกต่าง ทั้งทางด้าน การศึกษา หน้าที่การงานสถานะทางเศรษฐกิจ 6) ความชัดเจน และ/หรือ ความรุนแรงของการถดถอยทางเศรษฐกิจ (Sharp and/or severe economic decline): ตัวชี้วัดนี้จะพิจารณาจาก มุมมองในทุกด้านที่ส่งผลให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงหรือหยุดชะงักงันในกะทันหัน ตัวชี้วัดทางการเมือง 7) การปกครองของรัฐที่ไร้ความเป็นธรรม (Criminalization and/or delegitimisation of the state): มีมุมมองทั้งการพิจารณาในเรื่องคอรัปชั่นและการกระทำใดๆ ที่อาจนำสู่ความไม่โปร่งใส 8) ความเสื่อมถอยของการให้บริการสาธารณะ (Progressive deterioration of public services): ใน ตัวชี้วัดนี้จะพิจารณาจาก ระดับของความสามารถของรัฐในการจัดการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและกิจการ สาธารณะต่างๆ 9) การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่แพร่หลาย (Widespread violation of human rights): ในตัว ชี้วัดนี้จะให้ความสำคัญกับ ระดับของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐที่แพร่กระจายอยู่ทั่วไปในรัฐ 10) การมีรัฐซ้อนในรัฐ (Security apparatus as ‘state within a state’): ตัวนี้สำคัญ รัฐสูญเสียอำนาจในการจัดการบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตำรวจ ทหาร บางส่วนที่ช่วยผู้ก่อการร้ายแสดงให้เห็นว่ามีรัฐซ้อนรัฐอยู่ อีกอย่างคือมีพื้นที่บางจังหวัดรัฐไม่สามารถควบคุมได้ การเมืองในสภาที่มีการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนอีกฝ่าย 11) การก่อตัวของกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางความคิด (Rise of factionalised elites): ตัวชี้วัดนี้จะพิจารณาถึงจำนวนและการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้นำต่างๆ แกนนำทางความคิดทำให้เกิดความแตกแยกในประเทศ ที่ส่งผลโดยภาพรวมต่อสถาบันหลักของประเทศ 12) การแทรกแซงกิจการภายในประเทศจากรัฐอื่น หรือ ปัจจัยภายนอก (Intervention of other states or external factors): ตัวชี้วัดนี้จะพิจารณาจากการเข้าแทรกแซงกิจการภายประเทศ จากรัฐอื่น หรือปัจจัยภายนอก ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต www.rsu.ac.th/econ โทรศัพท์ 02 — 997 — 2222 ต่อ 1238, 1239, 1251

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ