ฝ่ายวิจัย ธนาคารทหารไทย คาดกนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องอีกร้อยละ 0.25 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ข่าวทั่วไป Monday February 26, 2007 10:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--ธนาคารทหารไทย
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบแรกในวันที่ 17 มกราคม 2550 ได้ประกาศ อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ที่ร้อยละ 4.75 ลดลงจากอัตราปิดในวันก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.9375 ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายหลังจากวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วงกว่า 2 ปี ที่ผ่านมา และ ในการประชุมวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ฝ่ายวิจัย ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) คาดว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องอีกร้อยละ 0.25 โดยมีเหตุผลสนับสนุน ดังนี้
แรงกดดันด้านเงินเฟ้อผ่อนคลายลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคม 2550 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 ชะลอลงจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากร้อยละ 1.5 ของเดือนก่อนหน้า และคาดว่าในไตรมาสแรกของปี 2550 อัตราเงินเฟ้อน่าจะชะลอลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการปรับลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดำเนินไปได้โดยไม่ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นลบ
ความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจมีมากขึ้น สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนธันวาคม 2549 ขยายตัวในเกณฑ์ต่ำต่อเนื่อง การผลิตและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตามอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับลดลง ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2550 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ลดลงมาอยู่ที่ 79.9 ซึ่งเป็นการปรับลดติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 นับตั้งแต่เดือนต.ค. 49
อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯมีแนวโน้มทรงตัวต่อไปอีกระยะหนึ่ง จากการที่อัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่ลดลงสู่ระดับที่น่าพอใจ และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังบ่งชี้ถึงการเติบโตทั้งด้านการผลิตและการบริโภค รวมถึงตลาดแรงงานยังคงเติบโตค่อนข้างดี แม้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์จะมีสัญญาณชะลอลงมากก็ตาม ดังนั้น การที่ FED ยังตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 5.25 ต่อไปอย่างน้อยที่สุดในครึ่งแรกของปี 2550 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเริ่มปรับลดลงตั้งแต่ต้นปี ทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯเพิ่มขึ้น นำไปสู่การลดแรงจูงใจของเงินทุนไหลเข้า และชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ซึ่งเป็นผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น สนับสนุนให้ กนง. สามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้ อย่างต่อเนื่องในการประชุมครั้งที่ 2 ของปี โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากร้อยละ 4.75 สู่ระดับร้อยละ 4.50 และเชื่อว่า มีโอกาสปรับลดลงได้อีกร้อยละ 0.25-0.50 เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอลงมาก ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.0-4.25 ณ สิ้นปี
สำหรับ อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะมีทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงร้อยละ 0.25-0.50 ตามความเหมาะสมและสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง แต่ยังไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อย่างไรก็ดี หากมีสัญญาณว่าอุปสงค์ภายในประเทศเริ่มขยายตัว โดยเฉพาะด้านการลงทุน เพราะในปี 2549 พบว่าหลายอุตสาหกรรมมีการผลิตเต็มกำลังการผลิตแล้ว แต่สินเชื่อกลับชะลอตัว เพราะผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจว่าจะสามารถรองรับการลงทุนใหม่ได้หรือไม่ โดยฐานสินเชื่อในเดือนมกราคม 2550 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ร้อยละ 1.2 ทั้งนี้ในไตรมาสแรกของปี 2550 คาดว่าสินเชื่อจะยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยแวดล้อมด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย และมีแนวโน้มที่ความต้องการสินเชื่อจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจดีขึ้นและสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและผู้บริโภค ซึ่งก็คาดว่า ธนาคารพาณิชย์จะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงได้ เพื่อกระตุ้นการเติบโตของสินเชื่อ
ธนาคารทหารไทย: ร่วมคิด เพื่อทุกก้าวของชีวิต
TMB Bank: Better Partner, Better Value

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ