กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
ซานโฮเซ่ แคลิฟอร์เนีย: ไอบีเอ็มเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการวิจัยครั้งสำคัญ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้องค์กรธุรกิจและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อประโยชน์ต่อการหาแนวทางการพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากรได้แบบ 360 องศา
โครงการวิจัยดังกล่าวของไอบีเอ็ม ใช้วิธีรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากหลายแหล่งที่ไม่เคยถูกจัดเก็บมาก่อน เพื่อจำลองความสัมพันธ์ ความเกี่ยวข้องของสาเหตุและผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เกษตรกรรม คมนาคม การวางผังเมือง นิสัยในการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ตลอดจนสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ ชีวิตครอบครัวของประชากรในหลาย ๆ ภาคส่วน และนำข้อมูลดังกล่าวนั้นมาใช้เพื่อวิเคราะห์ คาดการณ์ หรือเสนอแนะสิ่งที่ควรปฏิบัติและหลีกเลี่ยงโดยใช้วิธีการอ้างอิงจากข้อมูลที่เกี่ยวโยงถึงกันในแง่มุม มิติต่าง ๆ
ดร. มาร์ติน เซพัลเวด้า ผู้เชี่ยวชาญและรองประธานฝ่ายบริการสุขภาพของไอบีเอ็ม กล่าวว่า “ปัจจุบัน ความสามารถในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำได้เพียงแค่แง่มุมหรือมิติใด มิติหนึ่งเท่านั้น เช่น การเสนอแนะวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อสุขลักษณะที่ดีหรือปรับปรุงระบบทางการแพทย์หรือสาธารณสุขที่มีอยู่ ทั้งนี้เพราะเราไม่สามารถนำข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกันมาวิเคราะห์และทำการเชื่อมโยงกันได้แบบรอบด้าน รวมทั้งสามารถวิเคราะห์ได้ว่าบทบาทของแต่ละปัจจัยนั้น ๆ จะทำงานเกี่ยวโยงกันอย่างไร” นอกจาก ดร. มาร์ติน ยังกล่าวเสริมอีกว่า “ภายหลังจากการเริ่มต้นโครงการดังกล่าวนี้เอง เราหวังว่าผลที่ได้จากโครงการนี้จะช่วยเปิดโอกาสให้ประชาชนโดยทั่วไป ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถทำความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่า ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา จะมีบทบาทและทำงานเกี่ยวข้องกันอย่างไร รวมทั้งจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อสุขภาพโดยรวมของประชากร นอกจากนั้นแล้ว โครงการนี้ยังช่วยให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกันเพื่อหาวิธีปรับปรุงขั้นตอนการตัดสินใจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมให้ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นอีกด้วย"
ในสหรัฐอเมริกา โรคเรื้อรังสำคัญต่าง ๆ เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน เป็นต้นเหตุสำคัญถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของการเสียชีวิตของประชากรอเมริกัน อีกทั้งยังเกี่ยวโยงกับค่ารักษาพยาบาลซึ่งสูงถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ในแต่ละปี นอกจากนั้น หากวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งแล้ว จะพบว่าปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ มากมายที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยรวม เช่น การคลัง การวางผังเมือง พฤติกรรมส่วนบุคคล แนวโน้มการแพร่กระจายของโรค การค้นคว้าวิจัยทางด้านสาธารณสุข ฯลฯ เป็นต้น แต่ข้อมูลจากปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวยังไม่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์และเชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ได้แบบรอบด้าน ดังนั้น การทำความเข้าใจและการวิเคราะห์ปัจจัยที่เชื่อมโยงกันนี้จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ต่อไปเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวม
ในภาพ — นักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มได้แก่ นาย พอล แมกกลิโอ และ แพท เซลิงเจอร์ กำลังทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในหลาย ๆ ด้าน เช่น ดร. เคลวิน กรุมบาค ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเภสัชกรรมที่เกี่ยวกับครอบครัวและชุมชน จากมหาวิทยาลัย UCSF (University of California, San Francisco) ในการหาวิธีนำเทคโนโลยีไปใช้เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของสังคมที่เกี่ยวโยงกับโรคอ้วนในเด็ก
ในปัจจุบัน ข้อจำกัดอย่างหนึ่งก็คือ เรามักทำได้เพียงแค่การเชื่อมโยงเหตุและผลเท่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดในหลาย ๆ ด้าน ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันนี้ ทุกคนทราบดีว่าโรคอ้วนมีความเกี่ยวข้องกับอาหารฟาสต์ฟู้ดหรือการขาดการออกกำลังกาย แต่ในอีกทางหนึ่ง การวิเคราะห์ผลกระทบจากปัจจัยอื่น ๆ แบบรอบด้านเพื่อหาวิธีจัดการกับปัญหาดังกล่าวก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน เช่น การเปิดสาขาใหม่ของร้านอาหารต่าง ๆ ในเขตชุมชน หรือการขยายเส้นทางรถประจำทางในเขตที่อยู่อาศัยที่ครอบครัวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่สามี-ภรรยาทำงานนอกบ้านทั้งคู่ เป็นต้น ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ มีความเชื่อมโยงต่อกันที่ซับซ้อน และต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพอย่างรอบด้านแบบ 360 องศา รวมถึงนำแบบจำลองขั้นสูงที่นักวิจัยของไอบีเอ็มพัฒนา เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยสามารถคาดการณ์ในระหว่างการริเริ่มพัฒนาโครงการว่า โครงการใดบ้างที่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด ก่อนที่จะเลือกตัดสินใจดำเนินการกับโครงการนั้นๆ
นายแกรี่ อัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์แผนกอุบัติเหตุและเวชบำบัดวิกฤติ สถาบันการแพทย์ไฟน์เบิร์ก มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น กล่าวว่า "การบริหารจัดการสุขภาพแบบองค์รวม ไม่ว่าจะทำขึ้นเพื่อผู้ป่วยเพียงคนเดียวหรือสำหรับประชากรทั้งหมด นับเป็นความท้าทายที่ซับซ้อนมาก เพราะทุกวันนี้ แม้ว่าปัจจัยทางด้านวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม จะมีบทบาทอย่างมาก แต่ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยก็ยังคงเป็นช่องทางหลักในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในปัจจุบัน ดังนั้นปัจจัยที่ซับซ้อนทั้งหมดเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องนำมาผูกโยงให้เกิดประโยชน์ในเชิงบวกโดยเฉพาะในขั้นตอนการสนทนาระหว่างแพทย์และผู้ป่วย และด้วยเหตุนี้ ผมจึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ไอบีเอ็มได้ลงมือทำโครงการวิจัยดังกล่าวที่จะช่วยผสานรวมปัจจัยที่แตกต่างและค่อนข้างขัดแย้งกันให้สามารถมาทำงานเชื่อมโยงกันให้เกิดประโยชน์ได้ และเปิดโอกาสให้การกำหนดแนวทางการรักษาพยาบาลและการปรับปรุงสุขภาพของผู้ป่วยทำได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น"
ประโยชน์ที่ได้จากโครงการวิจัยดังกล่าวของไอบีเอ็ม นอกจากจะช่วยนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับโครงการหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนแล้ว ยังมีส่วนเสนอแนะประเภทของการลงทุนที่อาจจำเป็น รวมถึงลำดับความสำคัญของมาตรการต่าง ๆ ได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น ในการสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้ประชาชนตัดสินใจเลือกสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โครงการนี้อาจจำลองรูปแบบต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ พิจารณา เช่น แบบจำลองเพื่อกระตุ้นให้ผู้ค้าปลีกเปิดร้านสาขาใกล้กับแหล่งชุมชนหรือจุดต่อรถสำคัญ ๆ เพื่อให้ประชาชนที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวสามารถเดินทางไปยังร้านค้าดังกล่าวได้สะดวกยิ่งขึ้น หรือ การให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของฉลากอาหารที่เกี่ยวโยงกับแนวทางด้านการตลาด พฤติกรรมการซื้อ หรือคุณภาพของอาหารกลางวันในโรงเรียน เพื่อเอาชนะปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาโรคอ้วนในเด็ก เป็นต้น
นาย พอล แมกลิโอ นักวิทยาศาสตร์ประจำสถาบันวิจัยอัลมาเดนของไอบีเอ็ม กล่าวว่า "ในหลายๆ เคสที่เรามีข้อมูลและรูปแบบต่างๆ อยู่ เราเพียงแค่ต้องนำเอาสิ่งเหล่านี้มาประกอบเข้าด้วยกันในลักษณะที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงในวงกว้าง และหามาตรการในด้านต่าง ๆ ที่จะช่วยปรับปรุงสุขภาพของประชาชนและชุมชน อย่างไรก็ตาม นี่คือความท้าทายครั้งใหญ่ทั้งในแง่ของสังคมและเทคโนโลยี แต่เราเชื่อมั่นว่าด้วยความรู้ ความเชี่ยวชาญของเราในด้านเทคโนโลยี ตลอดจนความแข็งแกร่งในด้านบริการทางด้านไอที การสร้างแบบจำลองประมวลผล คณิตศาสตร์ และระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ จะช่วยตอบโจทย์ที่สำคัญเหล่านี้ได้"
ไอบีเอ็มมีแผนที่จะทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและนโยบายสาธารณะ แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข นักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแบบจำลอง ผู้นำอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย และหน่วยงานอื่นๆ ต่อไปภายใต้โครงการความร่วมมือในครั้งนี้ ในเบื้องต้น โครงการนี้จะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาโรคอ้วนในเด็กก่อนเป็นอันดับแรก
ชมวีดิโอคลิปเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวผ่านยูทิวบ์ สามารถเข้าไปที่ http://www.youtube.com/watch?v=_uoKu9i3c_Q
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวภายใต้ชื่อ ‘สแปลช’ สามารถเข้าไปที่บล็อก asmarterplanet.com หรือ www.research.ibm.com
เผยแพร่โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
วีระกิจ โล่ทองเพชร โทรศัพท์: 02 273 4117 อีเมล์:werakit@th.ibm.com