รัฐบาลไทยเอาจริงกับการแก้ปัญหาอนามัยและสิ่งแวดล้อมจัดการประชุมระดับภูมิภาค

ข่าวทั่วไป Tuesday August 14, 2007 11:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--นาราซีซเท็ม
Ministerial Regional Forum on Environment and Health
in Southeast and East Asian Countries
8-9 August 2007, Bangkok, Thailand.
รัฐบาลไทยจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ผนึกกำลังกับรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกอีก 13 ประเทศ องค์การอนามัยโลก (WHO) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) จัดให้มีการประชุมรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมฯ เพื่อหาหนทางบรรเทาปัญหาอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่ประชากรใน 2 ภูมิภาคกำลังประสบอยู่
นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานการแถลงข่าวสรุปผลการประชุมรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกครั้งที่ 1 เปิดเผยว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกที่สามารถนำรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมจากรัฐบาลถึง 14 ประเทศจาก 2 ภูมิภาคมาพบกันเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพราะผลที่เกิดจากสภาวะแวดล้อมย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนมากจากโรคไข้เลือดออก ไข้มาลาเรียที่เกิดจากการที่มียุงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากโลกร้อนขึ้น ไข้หวัดนกก็เป็นหนึ่งในส่วนของสิ่งแวดล้อมที่มากระทบต่อสุขภาพ ในขณะเดียวกันทางด้านสิ่งแวดล้อมต้องคำนึงว่า ในการแก้ไขคุณภาพของสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าประเทศจะรวยหรือจนแค่ไหนก็กำลังตกอยู่ในสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เกิดความเสียหายกับเศรษฐกิจและสังคม
ในการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดให้รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงสิ่งแวดล้อม จาก 14 ประเทศมาพบกันในครั้งแรกนี้จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมและดำเนินการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีในฐานะองค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งในการพระราชทานเงินทุนจำนวน 100 ล้านบาทเพื่อจัดตั้งกองทุนฝึกอบรมด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมให้แก่บุคลากรในไทยและประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งเรื่องนี้ผู้แทนจากรัฐบาลทั้ง 14 ประเทศต่างพากันชื่นชมในน้ำพระทัยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ เป็นอย่างมาก และหวังว่าประเทศไทยจะเป็นฝ่ายเลขาธิการของการประชุมระดับรัฐมนตรีทั้ง
2 กระทรวงจาก14 ประเทศ ซึ่งทางไทยต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้กับประเทศที่อาจจะยังไม่สามารถเริ่มต้นได้ด้วยตนเองในเรื่องอนามัยและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในตอนนี้ประเทศไทยมีประสบการณ์มากพอ ตลอดจนมีเทคโนโลยี และการสื่อสารที่ดีพอสำหรับการเป็นเลขาธิการได้
สำหรับ “ปฏิญญากรุงเทพ” ที่รัฐมนตรี 2 กระทรวงจาก 14 ประเทศให้การรับรองนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข โดยปฏิญญากรุงเทพจะเป็นกลไกเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ นำมาปรับปรุงกรอบนโยบายและกฎหมายในระดับประเทศและระหว่างประเทศ และได้กำหนดประเด็นด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่ต้องให้ความสำคัญในระดับท้องถิ่น ประเทศ ภูมิภาค แบ่งเป็น 6 เรื่อง ซึ่งในแต่ละเรื่องมีคณะทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 20 ท่าน แบ่งเป็นคณะทำงาน ดังนี้
1. คณะทำงานวิชาการด้านคุณภาพอากาศ มีสาธารณรัฐเกาหลีและประเทศไทยเป็นประธานคณะร่วม
2. คณะทำงานวิชาการด้านน้ำสะอาด สุขอนามัยและสุขาภิบาล มีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประธานคณะ
3. คณะทำงานวิชาการด้านขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย มีประเทศญี่ปุ่นเป็นประธานคณะ
4. คณะทำงานวิชาการด้านสารเคมีเป็นพิษและสารอันตราย มีประเทศไทยเป็นประธานคณะ
5. คณะทำงานวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดลงของชั้นโอโซน และการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ มีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นประธานคณะ
6. คณะทำงานวิชาการด้านการวางแผน การเตรียมการและการรองรับอุบัติภัย มีสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เป็นประธานคณะ
ในอีก 3 ปีข้างหน้าหรือปี 2010 ที่ประชุมได้กำหนดให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 2 เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการปฏิบัติตามปฏิญญาฉบับนี้ต่อไป โดยจะจัดขึ้นในสาธารณรัฐเกาหลี
หมายเหตุ : การประชุมรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 1 8-9 สิงหาคม 2550 ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี ถนนวิทยุ กรุงเทพมหานคร
จัดโดย 5 หน่วยงานร่วมเป็นเจ้าภาพ ได้แก่ รัฐบาลไทยประกอบด้วย 1. กระทรวงสาธารณสุข 2. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3. สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ 4.โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค 5. องค์การอนามัยโลก สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสำนักงานภูมิภาคแปซิฟิคตะวันตก
ผู้เข้าประชุมประกอบด้วย รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงสิ่งแวดล้อมและกระทรวงสาธารณสุข จากประเทศต่างๆ 14 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศมาเลเซีย ประเทศมองโกเลีย สหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐเกาหลี และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พร้อมทั้งมีผู้สังเกตการณ์จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ เอสแคป และธนาคารโลก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท นาราซีซเท็ม จำกัด
โทร. 0 2722 7311-3, 0877 111 748, 0 2590 4025
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ