กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลการอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มสถานะจากเครดิตเฉพาะของบริษัทในฐานะบริษัทลูกที่มีความสำคัญเชิง
กลยุทธ์ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดและยังเป็นผู้ให้การสนับสนุนทั้งในด้านการเงินและธุรกิจแก่บริษัท นอกจากนี้ อันดับเครดิตของบริษัทยังสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ รวมถึงแหล่งรายได้ที่กระจายตัวในธุรกิจที่ไม่ใช่นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ อาทิ ธุรกิจวาณิชธนกิจ ตลอดจนความยืดหยุ่นทางการเงินที่เพียงพอ และสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความไม่แน่นอนของตลาดหลักทรัพย์ไทย ตลอดจนความท้าทายในการดำเนินธุรกิจหลังจากการเปิดเสรีบางส่วนในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2553 และภาวะผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลกระทบต่อธุรกิจและฐานะการเงินของบริษัทในอนาคต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า บล. บัวหลวงจะสามารถรักษาสถานะการเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงเทพต่อไปได้ โดยบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางธุรกิจด้านนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ต่อไปท่ามกลางความไม่แน่นอนในตลาดทุนและภาวะการดำเนินธุรกิจหลังจากมีการบังคับใช้นโยบายค่าธรรมเนียมแบบขั้นบันไดในปี 2553 นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความสามารถของบริษัทในการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมที่นอกเหนือจากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ได้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจากธุรกิจวาณิชธนกิจโดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพ อีกทั้งยังสามารถคงนโยบายการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัทที่ระมัดระวังต่อไป
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บล. บัวหลวงก่อตั้งในปี 2544 หลังจาก บริษัทเงินทุน บัวหลวง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของธนาคารกรุงเทพได้ซื้อใบอนุญาตนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จาก บริษัทหลักทรัพย์ บีโอเอ จำกัด ต่อมาบริษัทได้ซื้อธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์บุคคลและธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคลจาก บริษัทหลักทรัพย์ เจ.พี. มอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด (เดิมชื่อ บริษัทหลักทรัพย์ เจ. เอฟ. ธนาคม จำกัด) ในระหว่างปี 2544-2545 บล. บัวหลวงมีสถานะเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงเทพซึ่งสามารถบรรลุแผนของธนาคารในการให้บริการธุรกิจหลักทรัพย์แบบครบวงจรภายใต้โครงสร้างธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ (Universal Banking) ซึ่งทำให้บริษัทได้ประโยชน์จากการใช้เครือข่าย ตราสินค้า ฐานข้อมูลลูกค้า และพันธมิตรต่างประเทศร่วมกับธนาคารกรุงเทพได้ รวมทั้งยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ โดยปัจจุบันธนาคารกรุงเทพถือหุ้นบริษัทในสัดส่วน 56.34% อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพก็ยังไม่เต็มที่เท่ากับการที่บริษัทมีฐานะเป็นบริษัทลูกเต็ม 100% ของธนาคาร
ปัจจุบัน บล. บัวหลวงดำเนินธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ วาณิชธนกิจ และจัดการกองทุนส่วนบุคคลเป็นหลัก โดยธุรกิจทั้ง 3 ประเภทสร้างรายได้ประมาณ 90% ของรายได้รวมต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์นั้นบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 3.66% ในปี 2545 ซึ่งเป็นปีเริ่มธุรกิจ และต่อมาทยอยลดลงเหลือ 3.29% ในปี 2548 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.54% ในปี 2549 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากนักลงทุนต่างประเทศผ่านบริษัทคู่ค้าต่างประเทศของบริษัท คือ Morgan Stanley Asia Ltd. (MSAL) ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 3.97% ในปี 2551 หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ปรับวิธีการคำนวณส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยยกเลิกการนำปริมาณซื้อขายในบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์มาคำนวณตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2552 ในขณะที่ในปี 2552 มีสัดส่วนของการซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์คิดเป็น 13% ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมด ส่งผลให้บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นเป็น 4.08% ในปี 2552 โดยอยู่ในลำดับที่ 8 จากบริษัทหลักทรัพย์ทั้ง 38 แห่งในปี 2550-2252 ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณซื้อขายในบัญชีของบริษัทมีไม่มาก ในปี 2549 บริษัทได้ลงนามในสัญญาการสนับสนุนด้านงานวิจัยกับ MSAL และหลังจากที่สัญญาดังกล่าวปรับเปลี่ยนไปเป็นสัญญาในลักษณะคู่ค้าในปี 2550 จึงมีผลให้ MSAL ไม่สามารถทำสัญญาลักษณะดังกล่าวกับบริษัทหลักทรัพย์อื่นในประเทศไทยได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีรายได้หลักจากลูกค้ารายย่อยซึ่งมีปริมาณซื้อขายประมาณ 60%-70% จากปริมาณการซื้อขายทั้งหมดของบริษัทตั้งแต่ปี 2549
ปัจจุบันบริษัทมีใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ค้าหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาการลงทุน จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาการลงทุน จัดการกองทุนส่วนบุคคล (รวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ตัวแทนสนันสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ตัวแทนซื้อขาย
สัญญาซื้อขายล่วงหน้า รวมถึงการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์โดยดำเนินการผ่านสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ และสาขาอีก 23 แห่ง บริษัทมีรายได้เฉลี่ยจากค่าธรรมเนียมประมาณ 14% ต่อรายได้ทั้งปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแหล่งรายได้ดังกล่าวจะเป็นเงินสำรองหลังจากนโยบายเปิดเสรีค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์มีการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2555
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บล. บัวหลวงยังเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ผ่านเครือข่ายของบริษัทแม่และผ่านความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บริหารของบริษัทกับลูกค้า โดยมีการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์มูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านบาทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งลูกค้าหลักประกอบด้วย บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (ปี 2547) บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (ปี 2548) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ฟิวเจอร์พาร์ค และ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) (ปี 2549) บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (ปี 2550) บริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (ปี 2551) รวมทั้ง บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ทีพาร์คโลจิสติคส์ (ปี 2552) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจจัดจำหน่ายหลักทรัพย์มีความอ่อนไหวต่อภาวะตลาดหลักทรัพย์ค่อนข้างมาก บริษัทจึงให้บริการด้านวาณิชธนกิจเพิ่มเติมโดยเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในด้านการควบรวมกิจการ และการปรับโครงสร้างธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อชดเชยในช่วงที่ธุรกิจจัดจำหน่ายหลักทรัพย์อยู่ในช่วงตกต่ำ
ณ เดือนธันวาคม 2552 บริษัทมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิในธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่ 4.8 พันล้านบาท (อยู่ในลำดับที่ 10) และในธุรกิจจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ 7.4 พันล้านบาท (อยู่ในลำดับที่ 13) โดยรายได้จากธุรกิจจัดการกองทุนทั้ง 2 ประเภทแม้ค่อนข้างคงที่ แต่ก็มีสัดส่วนเพียงประมาณ 2% ของรายได้รวมต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น บริษัทมีสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์โดยรวม โดย ณ เดือนธันวาคม 2552 จำนวน 71.0% ของสินทรัพย์รวมมูลค่า 2.8 พันล้านบาทของบริษัทประกอบด้วยเงินสดและลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ ในขณะที่ธุรกิจให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์นั้น หลังจากมีผลขาดทุนสูงถึง 78 ล้านบาทในปี 2551 บริษัทได้ทยอยลดขนาดธุรกิจลงจากยอดเงินให้กู้ 881 ล้านบาทในปี 2550 เหลือ 236 ล้านบาทในปี 2551 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 266 ล้านบาทในปี 2552 ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงนโยบายการให้สินเชื่อที่เข้มงวดต่อไปเพื่อหลีกเลี่ยงการขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
บริษัทยังมีการลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนในสัดส่วนไม่มากนักที่ระดับ 12% ของสินทรัพย์รวมเฉลี่ยในปี 2548-2552 ซึ่งการลงทุนหลักคือพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากบริษัทมีสัดส่วนการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านบัญชีของบริษัทไม่มาก ดังนั้น เมื่อเทียบกับขนาดการลงทุนและการปล่อยสินเชื่อในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าบริษัทจะยังคงมีเงินทุนที่เพียงพอรองรับการขาดทุนที่อาจเกิดจากความเสี่ยงในอนาคต นอกจากนี้ บริษัทยังมีสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินที่แข็งแกร่งเนื่องจากมีวงเงินที่ได้รับจากบริษัทแม่คงเหลือจำนวน 3.5 พันล้านบาท และ ณ เดือนธันวาคม 2552 ยังมีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิในสัดส่วน 98.71% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ 7% ด้วย
แม้ธุรกิจหลักทรัพย์จะมีความผันผวน แต่ บล. บัวหลวงก็สามารถรักษาระดับกำไรสุทธิที่มีเสถียรภาพในช่วงปี 2547-2552 โดยมีผลกำไรสุทธิต่อปีในระดับ 100-200 ล้านบาท บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยที่ระดับ 16%-18% ในช่วงปี 2548-2550 ก่อนจะลดลงมาที่ระดับ 9.7% ในปี 2551 เนื่องจากภาวะวิกฤติในตลาดหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 16% ในปี 2552 ทริสเรทติ้งกล่าว — จบ
บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) (BLS)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ( ทริสเรทติ้ง )
อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 เลขที่ 191 ถนนสีลม บางรัก กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ 0 2231 3011 ต่อ 500 โทรสาร 0 2231 3012