กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--กรอ.
นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เรียกประชุมคณะผู้บริหารทุกหน่วยงานในสังกัด เพื่อกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ย่านราชประสงค์และพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง โดยเบื้องต้นแต่ละหน่วยงานในสังกัดได้เสนอแนวทางต่างๆ ในการเร่งช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งกำหนดพิจารณาสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ในย่านราชประสงค์และพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบ การเพิ่มศักยภาพการผลิต สนับสนุนให้มีการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โดยมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อฟื้นฟูกิจการให้แก่ผู้ประกอบการ รวมเป็นวงเงินประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท โดยเตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติงบประมาณดำเนินการอย่างเร่งด่วน
สำหรับมาตรการเยียวยาภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เสนอยืดระยะเวลายกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมรายปีตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน จำพวกที่ 2 และจำพวกที่ 3 ทุกขนาด เป็นไปตามกฎกระทรวงออกไปอีก 1 ปี (วันที่ 1 มิถุนายน 2552 - 31 พฤษภาคม 2553) ทั้งนี้ กรอ.ยังมีแผนที่จะเปิดช่องทางการรับเรื่องเดือดร้อนผ่าน “ศูนย์สารพันทันใจ” เร่งประสานงานกรมศุลกากรเพื่อขอยกเว้นค่าปรับกรณีการนำสินค้าออกจากโกดังล่าช้า และประสานงานไปยัง สสว.เพื่อหาพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ต่างๆ
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เสนอแนวทางแก้ปัญหาในระยะกลางและระยะยาว โดยร่วมกับ กสอ. และ สสว. มุ่งให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางการเยียวยาด้านโลจิสติกส์อุตสาหกรรม จัดคลินิกอุตสาหกรรมให้คำปรึกษาการจัดทำแผนธุรกิจ จัดโครงการแร่สร้างอาชีพ เสริมสร้างอาชีพแก่ประชาชนในท้องถิ่น และโครงการเหมืองแร่แก้ภัยแล้ง ปรับปรุงพื้นที่เหมืองแร่ที่เป็นบ่อมาพัฒนาเป็นแหล่งเก็บน้ำ แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้เสนอมาตรการระยะยาวผ่านโครงการพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยสำหรับผลิตภัณฑ์ของเล่น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2.โครงการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ประจำปี 2553 จัดอบรมสัมมนา เพื่อให้ผู้ผลิตชุมชนตระหนักถึงคุณภาพและมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้เสนอแนวทางการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการภาคการผลิต วงเงิน 100 ล้านบาท ซึ่งลูกค้ารายเดิมจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของมูลหนี้ที่เหลือลงร้อยละ 1 ต่อปี และกำหนดระยะเวลาการพักชำระหนี้ในช่วงวิกฤตการเมือง ส่วนลูกค้ารายใหม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงร้อยละ 1ต่อปี มีระยะเวลาปลอดหนี้นาน 3 ปี พร้อมเพิ่มวงเงินสินเชื่อรายย่อยรายละไม่เกิน 500,000 บาท รวมทั้งการจัดอบรมให้ความช่วยเหลือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและการหาช่องทางทำตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอเป็นหน่วยงานกลางในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ โดยได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเพิ่มเติมจำนวน 500 ล้านบาทโดยแบ่งเป็น จัดโครงการ SMEs Phoenix Fund วงเงิน 350 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงฟื้นฟูกิจการ SMEs เฉพาะดอกเบี้ยเพิ่มเติมร้อยละ 2 จากอัตราดอกเบี้ยพิเศษที่สถาบันการเงินกำหนดเป็นระยะเวลาไม่เกิน 2ปี และมาตรการอื่นๆอีกในวงเงิน 150 ล้านบาท ได้แก่ จัดคาราวานตลาดนัดสัญจร “SMEs ยิ้มสู้” จัดโครงการสร้างผู้ประกอบการใหม่สำหรับผู้ที่ถูกเลิกจ้าง Go SMEs เพื่อผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ในระบบแฟรนไชส์ ส่วน SMEs ในต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ สสว.จะช่วยเหลือผ่านกิจกรรม ภายใต้โครงการ SMEs ไทยเข้มแข็ง
สถาบันอาหาร ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหารวมวงเงิน 400 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือใน 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่1 มิถุนายน-กันยายน 2553 (4 เดือน) จัดกิจกรรมจำหน่ายสินค้าอาหารของผู้ประกอบการ งบประมาณ 100 ล้านบาท และช่วงที่2 ตุลาคม 2553- กันยายน 2554 (12เดือน) เพื่อจัดคลินิก อุตสาหกรรมเคลื่อนที่ มุ่งให้ความรู้ด้านวิชาชีพด้านอาหาร ให้คำปรึกษาด้านการผลิต การตลาด และเงินทุน พัฒนาสินค้าใหม่ ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์สู่มาตรฐานความปลอดภัย ภายใต้งบประมาณ 300 ล้านบาท
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (THTI) เสนอแนวทางการดำเนินงานโดยร่วมกับหน่วยงานพันมิตร ในการมุ่งพัฒนาผู้ประกอบการและออกแบบผลิตภัณฑ์ ค้นหาวัตถุดิบให้มีความหลากหลาย ยกระดับคุณภาพการฟอกย้อมให้เป็นที่ต้องการของตลาด และสร้างโอกาสทางตลาดให้กว้างมากขึ้น
ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Bank) ได้จัดเตรียมงบประมาณสำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา และมติคณะกรรมการบริหารโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยออกมาตรการให้ “สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ SMEs ย่านราชประสงค์และพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง” ในวงเงินรวม 5,000 ล้านบาท มีระยะเวลาโครงการสิ้นสุดวันคำขอรับสินเชื่อภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 โดยกำหนดให้สินเชื่อต่อรายวงเงินไม่เกิน 3,000,000 บาท มีระยะเวลากู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 6ปี ระยะเวลาการปลอดชำระคืนเงินต้น 2 ปี
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เสนอโครงการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองต่อผู้ประกอบการ ได้แก่ 1. มาตรการระยะสั้น ในการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง (Buckup Gencrator) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในเขตประกอบการค้าเสรีที่ต้องรับบริการจาก กนอ. กรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าประจำที่สำนักงานและกรณีไฟฟ้าถูกตัด ในงบประมาณ 3,000,000 บาท 2.มาตรการระยะยาว ติดตั้งอุปกรณ์เซิฟเวอร์สำรอง (Backup Servers) อยู่นอกสถานที่ที่ปลอดภัยและสามารถเปิดใช้งานได้ทันทีเมื่อเซิร์ฟเวอร์สำนักงานใหญ่ต้องปิดเครื่อง และโครงการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการเหตุการณ์ทางการเมืองต่อผู้ประกอบการจากปัญหาการขนส่งคน วัตถุดิบ และสินค้าในภาคอุตสาหกรรมตามระบบ Just in Time โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานข้อมูลขึ้นที่กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานในสังกัด เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมโรงงานอุตสาหกรรม
สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ได้เสนอโครงการพัฒนาพื้นที่และอาคารสำหรับการค้าเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุวินาศกรรม ดำเนินการติดต่อประสานงานกับวิศวกรและสถาปนิกผู้ออกแบบซึ่งจะช่วยเหลือผู้ประสบภัยในด้านการออกแบบการก่อสร้างอาคารกึ่งถาวรแบบถอดประกอบ (Knock Down) โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้ประสบภัยจากเหตุวินาศกรรมในกลุ่มร้านค้าที่ต้องการดำเนินธุรกิจในบริเวณที่ภาครัฐหรือเอกชนจัดไว้ให้ชั่วคราว
สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) เสนอ 2 มาตรการ ได้แก่ 1.ให้เงินกู้แก่ผู้ผลิตสินค้าที่ส่งจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่การชุมนุม ในวงเงิน 1,500 ล้านบาท เฉลี่ยรายละ 1 ล้านบาท จำนวน 1,500 ราย เนื่องจากเห็นว่ากลุ่มดังกล่าวจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากผู้จำหน่ายในพื้นที่ 2. ให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ว่างงานเนื่องจากการชุมนุมให้สามารถเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรม หรือ สามารถประกอบอาชีพด้วยตนเองได้ ผ่านการจัดอบรมฝึกวิชาชีพเฉลี่ยรายละ 5,000 บาท
สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ เตรียมจัดโครงการเตรียมความพร้อมบุคลากรเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาชีพและการจ้างงานด้านมาตรฐานระบบการจัดการของสากล สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้ให้ความช่วยเหลือแก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผ่านโครงการ Lean Productivity ในส่วนงานจักษุคลินิก งานห้องผ่าตัด ระบบงานจัดซื้อโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และให้คำปรึกษาด้าน การบริการที่มีคุณภาพ (Service Quality) แก่บริษัทกลุ่มค้าปลีกและบริการซึ่งเป็นลูกค้า
สถาบันไทย —เยอรมัน ได้กำหนดมาตรการให้แก่ผู้ประกอบการภายใต้ โครงการยกระดับขีดความสามารถอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ได้แก่ 1.ยืดระยะเวลาในการจ่ายสมทบค่าใช้จ่ายที่จะเรียกเก็บเพิ่ม ให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวออกไปถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 2. ชะลอการเรียกเก็บค่าบริการที่ผู้ประกอบการค้างชำระออกไปอีก 60 วัน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 026407929