บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ - ยังไม่เขียว โตชิบา ซัมซุง และเดลล์ โดนตัดคะแนนใน “คู่มือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว” ของกรีนพีซฉบับล่าสุด

ข่าวทั่วไป Thursday May 27, 2010 15:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--กรีนพีซ คู่มือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว ฉบับที่ 15 ของกรีนพีซ (1) ตัดคะแนน ซัมซุง โตชิบา และเดลล์ เพราะกลับลำไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเวลาที่ได้ตั้งไว้ว่าจะเลิกใช้สารพิษอันตรายในผลิตภัณฑ์ของตน ซึ่งตรงข้ามกับบริษัทคู่แข่งอย่าง แอปเปิล และ เอชพี ซึ่งกำลังก้าวหน้าในการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้มากขึ้น (2) คู่มือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว ฉบับล่าสุดนี้เปิดตัว ณ กรุงโตเกียว ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2553 โดยบางบริษัทที่เคยอยู่แถวหน้าในการจัดอันดับของกรีนพีซครั้งก่อนๆ ถูกเลื่อนอันดับลง เช่น โตชิบาหล่นจากอันดับที่ 3 มาเป็นที่ 14 และซัมซุงหล่นจากอันดับที่ 7 มาอยู่ที่อันดับ 13 เนื่องจากโดนหักคะแนนเพราะไม่สามารถปฎิบัติตามคำสัญญาที่จะเลิกใช้สารพีวีซี (PVC) และสารทนไฟโบรมีน (BFRs) (3) ในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของการผลิตผลิตภัณฑ์ของตนได้ อิซา ครูซซาซิสกา ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษของกรีนพีซสากล กล่าวว่า “บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่เหล่านี้ จะอ้างว่าตนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้ หากยังไม่สามารถทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้ ว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนปลอดจากสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ บริษัทที่ยังใช้สารพีวีซี (PVC) และสารทนไฟโบรมีน (BFRs) ในผลิตภัณฑ์ของตนอยู่ ควรต้องเริ่มทำตามบริษัทคู่แข่งอื่นๆ ที่กำลังนำหน้าในการเลิกใช้สารพิษ เช่นแอปเปิล เดลล์ และบริษัทสัญชาติอินเดียอย่าง เอชซีแอลเทคโนโลยีส์ (HCL Technologies) และ ไวโปร (Wipro)” ในแง่ดี การจัดอันดับในครั้งนี้ได้แสดงถึงการมีภาวะความเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมภายในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพราะมีบริษัทจำนวนหนึ่งรวมตัวกันเป็นพันธมิตรและใช้อิทธิพลของกลุ่มตนในการเรียกร้องกฏหมายบังคับเลิกใช้สารเคมีเป็นพิษเหล่านี้ในอนาคต ซึ่งนับเป็นก้าวหนึ่งที่ยิ่งไปกว่าการที่บริษัทเหล่านี้ลงมือเลิกใช้สารพิษเอง “นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นว่าบริษัทจำนวนหนึ่งตระหนักถึงความจำอย่างเร่งด่วนที่จะต้องมีกฎหมายซึ่งเอื้อต่อการกำจัดสารพิษออกจากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างสิ้นเชิงในระยะยาว และกำลังผลักดันให้เกิดกฏหมายเหล่านั้น” อิซากล่าวเสริม (4) ในคู่มือฯ ฉบับนี้บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับสูงขึ้นได้แก่พานาโซนิค เลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับที่ 6 จากเดิมอันดับที่ 10 คู่กับโซนีอีริคสันซึ่งได้อันดับ 6 ในครั้งนี้เช่นกันจากเดิมอยู่ที่อันดับ 7 ทั้งนี้ เอชพีเลือนขึ้นมาเป็นอันดับ 8 จาก 11 และชาร์ปเลื่อนขึ้นเป็นอันดับที่ 9 จาก 13 ส่วนบริษัทที่ถูกจัดอันดับต่ำลงได้แก่ แอลจีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหล่นจากเดิมอันดับ 6 มาอยู่ที่อันดับ 12 เพราะโดนตัดคะแนนการรายงานเรื่องประสิทธิภาพการใช้พลังงานของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ชัดเจน ทั้งนี้กรีนพีซไม่ให้คะแนนข้อมูลที่รายงานตามมาตรฐาน Energy Star ของแอลจีอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งได้มาในระยะหลังนี้ ด้วยสาเหตุว่าแอลจีถูกตักเตือนจากหน่วยงานกำกับดูแลถึงสองครั้งว่าบิดเบือนการใช้มาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานของผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพื่อประโยชน์ของบริษัท (5) “บริษัทผู้ผลิตบางรายช่วยให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ก้าวไปสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยการให้คำมั่นสัญญาว่าจะเลิกใช้สารพิษในผลิตภัณฑ์ภายในระยะเวลาที่กำหนดและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ณ ขณะนี้ บริษัทต่างๆ ควรต้องทำให้การปฏิบัติเหล่านี้เป็นจริงทั่วโลก โดยรักษาคำสัญญาที่ได้ให้ไว้ และผลิตผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารพีวีซี (PVC) และสารทนไฟโบรมีน (BFRs) ออกมาวางจำหน่ายตรงตามระยะเวลาที่กำหนด” อิซา ครูซซาซิสกา กล่าวสรุป หมายเหตุ (1) “คู่มือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว” ฉบับที่ 15 ของกรีนพีซสามารถดาวน์โหลดได้จาก http://www.greenpeace.org/rankingguide (2) ในขณะที่โตชิบา เดลล์ เลอโนโว แอลจีอิเล็กทรอนิกส์ และซัมซุงไม่สามารถปฏิบัติตามที่สัญญาไว้ว่าจะเลิกใช้สารพีวีซี (PVC) และสารทนไฟโบรมีน (BFRs) ในผลิตภัณฑ์ของตน บริษัทคู่แข่งอย่างเอชพี และแอปเปิลเดินหน้าผลิตผลิตภัณฑ์ซึ่งไร้สารพิษเหล่านี้ออกมาวางจำหน่าย แสดงให้เห็นว่าการไม่ใช้สารพิษเหล่านี้ในผลิตภัณฑ์นั้นเป็นไปได้ และยังเป็นไปได้ในราคาที่แข่งขันกันได้อีกด้วย (3) สารพีวีซี (PVC) และสารทนไฟโบรมีน (BFRs) มีความเป็นพิษสูงและเมื่อถูกเผาจะปล่อยไดออกซิน (dioxin) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ทั้งนี้ คลื่นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังถาโถมเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนาและถูกนำไปกำจัดโดยการเผาทิ้งในที่เปิด ทำให้คนงานที่ทำงานกับขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นเป็นผู้แบกรับผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเขาอย่างมีนัยสำคัญ การไม่ใช้สารพิษเหล่านี้ในผลิตภัณฑ์ที่กลายเป็นขยะในที่สุดจะช่วยลดความเสี่ยงที่คนงานและผู้บริโภคต้องได้รับสารพิษ และยังช่วยให้ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้นอีกด้วย (4) กรีนพีซเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ร่วมกับกลุ่มบริษัทซึ่งเป็นแนวหน้าอย่าง โซนีอิริคสัน เอชพี และเอเซอร์ ในการผลักดันสหภาพยุโรป ให้ระงับการใช้สารพีวีซี (PVC) และสารทนไฟโบรมีน (BFRs) ในระเบียบว่าด้วยการจำกัดการใช้สารอันตรายบางชนิดในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ RoHS Directive (Directive on the Restriction of the use of Hazardous Substances) ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุง [http://www.rohs.gov.uk/] (5) http://www.treehugger.com/files/2010/03/lg-under-the-gun-for-cheatingon-energy-efficiency-testing.php ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร 081-658-9432 วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร 089-487-0678

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ