กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ “ร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน พ.ศ. ...” และ “ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน พ.ศ. ...” ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิรูปการศึกษา!!
ซึ่งหากเป็นไปตาม พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชนแล้ว จะต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ที่เรียกว่า “สถาบันส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)” ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพเยาวชน
เบื้องต้น นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม.เห็นว่าการออกเป็น พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน จะต้องใช้ระยะเวลานาน จึงสมควรออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชนไปพลางๆ ก่อน เพื่อให้สามารถจัดตั้ง สสค.ได้
โดยระยะแรกนั้น สำนักงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณอุดหนุนทั่วไปวงเงิน 400 ล้านบาท ผ่านสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และให้คณะกรรมการ สสส.ทำหน้าที่ดูแลในเบื้องต้น
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของเรื่องนี้ สืบเนื่องจากการที่ ครม.มีมติเห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง พ.ศ. 2552 ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา
ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ประชุม และเห็นว่าน่าจะพัฒนาระบบการบริหารจัดการเสียใหม่ ในส่วนของการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมีองค์กรทำนองเดียวกับ สสส. แต่เป็น สสส.ด้านการศึกษา เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะด้านการปฏิรูปการเรียนรู้ของเยาวชนและสังคม โดยเสนอให้จัดตั้ง สสค. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิรูปการศึกษา ส่งเสริมภาคส่วนต่างๆ ให้มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น โดยใช้งบประมาณร้อยละ 0.5 ของงบประมาณรัฐด้านการศึกษา ผ่านระบบบริหารจัดการที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลสำคัญในเรื่อง “คุณภาพ” เยาวชน ในแง่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ต่ำ เพราะมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ตกหล่นออกจากระบบการศึกษา ปัญหาความเสื่อมถอยทางสังคม และการขาดทักษะการทำงานปัญหาเหล่านี้ได้ส่งผลต่อการลดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะคุณภาพของแรงงานที่อยู่ในระดับล่าง เมื่อเทียบกับนานาอารยประเทศ
ขณะที่คุณภาพของเด็กไทยยังมีปัญหาด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนค่อนข้างมาก อย่างคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ระดับชั้น ม.6 ในปี 2548-2551 ซึ่งทุกวิชาต่ำกว่าร้อยละ 50 ยกเว้นวิชาภาษาไทย และจากการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และทักษะการอ่าน โดยองค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) พบว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 46, 45 และ 41 ตามลำดับ จากทั้งหมด 58 ประเทศ
นอกจากนี้ IMD World Competitiveness Report ยังได้รายงานสถิติผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทยเมื่อปี 2551 ว่าอยู่ในอันดับที่ 37 จาก 56 ประเทศ โดยไทยมีอันดับต่ำกว่าแทบทุกประเทศในภูมิภาค
ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามขยายโอกาสทางการศึกษา แต่หากวิเคราะห์เจาะลึกลงไปแล้ว จะพบว่าในปี 2551 มีเยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 3-17 ปี หลุดออกจากระบบการศึกษามากกว่า 3 ล้านคน และมากขึ้นเรื่อยๆ ในระดับมัธยม ซึ่งเยาวชนเหล่านี้ มีแนวโน้มออกไปเป็นแรงงานด้อยคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม หลักการของการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ก็เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของเยาวชน รวมทั้ง ข้อจำกัดด้านงบประมาณ เพราะแม้รัฐจะจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาในแต่ละปีสูงสุดถึง 3 แสนล้านบาท ซึ่งมากเป็นอันดับหนึ่งเมื่อเทียบกับงบประมาณที่กระทรวงต่างๆ ได้รับแล้ว แต่งบประมาณที่ใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานมีเพียงร้อยละ 0.8 เท่านั้น
รัฐบาลจึงมองว่า สสค. น่าจะเป็นเครื่องมือ และกลไกการทำงานของรัฐ ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของงบประมาณ รวมถึง เป็นยุทธศาสตร์ที่จะระดมความร่วมมือ และทรัพยากรจากภาคส่วนต่างๆ เข้ามาพัฒนาระบบการเรียนรู้
ขณะที่ตัว “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรีเอง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคน โดยเฉพาะด้านการศึกษา เพราะมองว่าความสำเร็จของการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้ จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดึงภาคส่วนต่างๆ ของสังคม มาร่วมกันพัฒนา
นอกจากนี้ จากการศึกษากรณีศึกษาในต่างประเทศ ยังพบว่า ความก้าวหน้าของการพัฒนาการศึกษาในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกหลายๆ ประเทศ ที่ก้าวหน้ารวดเร็วกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน เป็นต้น ได้ปรับปรุงระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานคุณภาพ รวมทั้ง ฮ่องกง ที่ได้ชื่อว่ามีคุณภาพการศึกษาพื้นฐานที่ดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ก็ได้จัดตั้งหน่วยงาน Quality Education Fund (QEF) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยตรง โดยรัฐจัดสรรทุนประเดิมให้ถึง 5 พันล้านเหรียญฮ่องกง และใช้ดอกผลเพื่อให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาการจัดการศึกษาในโรงเรียนต่างๆ ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ฮ่องกงสามารถพัฒนาคุณภาพนักเรียนให้ขึ้นมาอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก
ส่วนกลุ่มประเทศประชาคมยุโรป ได้ออกกฎหมายมหาชน จัดตั้งองค์กรมหาชนที่เรียกว่า “Education, Audiovisuals and Culture Executive Agency (EACEA)” เมื่อปี 2549 มีหน้าที่สนับสนุนงบประมาณให้แก่โครงการนวัตกรรมด้านการศึกษา สื่อเพื่อการเรียนรู้วัฒนธรรม โดยจัดงบประมาณสนับสนุนโครงการต่างๆ ถึง 4 พันโครงการต่อปี ซึ่งใช้งบประมาณต่อปีมากกว่า 600 ล้านยูโร
ทั้งนี้ การจัดตั้ง สสค.นั้น ที่ผ่านมา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาและพัฒนาสังคม อาทิ ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ ศ.กนก วงษ์ตระหง่าน ศ.นพ.ประเวศ วะสี ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม์ ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ดร.ลีลาภรณ์ บัวสาย ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ เป็นต้น ต่างก็เห็นตรงกันถึงความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องจัดตั้ง สสส.เพื่อการศึกษา เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา โดยต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และออกเป็นพระราชบัญญัติ พร้อมทั้งให้หน่วยงานนี้มีรายได้เพื่อดำเนินการกิจการประมาณร้อยละ 0.5-1 ของงบประมาณด้านการศึกษา
สำหรับงบประมาณที่ สสค.จะใช้ดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์นั้น มีผู้เสนอว่า น่าจะมาจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของสินค้าสุราและยาสูบเพิ่ม โดยอาจจัดเก็บในรูปของเงินบำรุง ในอัตราร้อยละ 1 หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของงบประมาณด้านการศึกษา เพื่อกิจการสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน และออกเป็นพระราชบัญญัติ เพราะจะทำให้รัฐบาลสามารถจัดหางบประมาณได้จากรายได้ใหม่ โดยไม่กระทบกับงบประมาณรายจ่ายทั่วๆ ไป
ส่วนการบริหารจัดการนั้น โครงสร้างการบริหาร สสค. จะประกอบไปด้วย “คณะกรรมการนโยบาย” มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธานคนที่หนึ่ง ผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นรองประธานคนที่สอง ส่วนกรรมการ ได้แก่ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีตั้งอีก 8 คน ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้จัดการ สสค.เป็นกรรมการ และเลขานุการ
นอกจากนี้ ยังมี “คณะกรรมการประเมินผล” ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยการเสนอของกระทรวงการคลัง 7 คน ในจำนวนนี้รวมประธานกรรมการหนึ่งคน
โดย สสค. จะเป็นหน่วยงานขนาดเล็กที่ไม่ใช่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีความคล่องตัว มีระเบียบข้อบังคับสำหรับการบริหารกิจการที่กำหนดโดยคณะกรรมการบริหาร มีผู้จัดการคนหนึ่งเป็นหัวหน้า
ซึ่งขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันค่อนข้างกว้างขวางเกี่ยวกับการ “วางตัว” ผู้ที่จะมาเป็น “กรรมการนโยบาย” 8 คน ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี ที่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษา เพราะเกรงว่าหากได้ “หน้าเก่าๆ” คนที่มี “ความคิดแบบเดิมๆ” หรือคนที่ “ไม่มีที่ไป” มาเป็นกรรมการนโยบาย ก็อาจทำให้การขับเคลื่อน สสค.เพื่อไปสู่เป้าหมาย อาจมีปัญหา และอุปสรรคได้
ดังนั้น ในการคัดเลือกบุคคลที่จะมาเป็นกรรมการนโยบาย จึงจำเป็นที่ผู้ที่เกี่ยวข้อง จะต้องคัดสรรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง และพร้อมจะทุ่มเทแรงกายแรงใจ แทนที่จะเลือกพวกพร้อง
เพื่อผลักดันการปฏิรูปการศึกษาไทยในทศวรรษที่สอง ให้ก้าวไปสู่จุดหมายปลายทาง เพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และคุณภาพของเยาวชนไทยให้สูงขึ้น
เพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันกับนานาอารยประเทศในเวทีโลกได้!!
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย www.thaireform.in.th